ขบวนผู้หญิงปฏิรูป ชี้ประเด็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ปรากฏในร่างรธน.
เสียงผู้หญิงต่อร่างรธน.เบื้องต้น แสดงความผิดหวังที่ข้อเสนอถูกเมิน ไม่ถูกบรรจุไว้ ยิ่งประเด็นสัดส่วนทางการเมือง เขียนไว้ในวรรค 3 มาตรา 85 ก็ใช้คำว่า คำนึงถึง ยันเป็นคำที่เบามาก
เมื่อเร็วๆ นี้ ขบวนผู้หญิงปฎิรูปประเทศไทย (We Move) ร่วมกับสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทยและโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีระดับชาติ “รัฐธรรมนูญ : การปฏิรูประเทศและการมีส่วนร่วมของประชาชน “ เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับ ฉบับ พ.ศ.2540 และ 2550 และมาตรฐานสากล และเพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศและสาธารณะ ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ 213-246 อาคารรัฐสภา 2
ผู้แทนเครือข่ายเข้าร่วมเวที นางสาวธนพร วิจันทร์ เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมาธิการ ข้อเสนอที่เครือข่ายแรงงาน เสนอไปสู่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ถูกบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญฉบับร่างเบื้องต้นนี้ ในขณะที่สิทธิที่มีอยู่เดิมถูกตัดทิ้งไปด้วย รวมไปถึงการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิค่าจ้าง พันธกรณี อนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับแรงงาน ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับร่างเบื้องต้น
การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ไม่ได้เกิดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เข้าร่วมเป็นกรรมการร่าง เนื่องจากปัญหาแรงงานซับซ้อน ควรต้องมีตัวแทนเข้าร่วม เพื่อมาสื่อสารกับเครือข่ายแรงงานด้วย
ในขณะที่ข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานไม่ถูกบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญแต่เหมือนว่าร่างรธน. จะเอื้อให้ทุนข้ามชาติมากกว่าการดูแลแรงงาน ซึ่งการเอื้อให้กับทุน อุตสาหกรรมนั้นจะโยงไปถึงการจัดการดูแล สิ่งแวดล้อมด้วย ที่จริงรัฐธรรมนูญ ควรจะเขียนกันไว้สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้ว เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต แต่ไม่เกิดขึ้นในร่างรธน.ฉบับนี้
สำหรับการผลักดันข้อเสนอของเครือข่าย แรงงานต่อร่างรธน.ภายในกรอบ 15 วันนั้น นางสาวธนพร กล่าวว่า เป็นเวลาที่น้อยมาก เพราะ รธน.เป็นเรื่องยาก ที่จะอธิบายให้พี่น้องเครือข่ายได้เข้าใจ เครือข่ายแรงงานเอง คงจะเข้าร่วมกับ เครือข่ายภาคประชาชนในประเด็นอื่นๆ เพื่อ ผลักดันพร้อมกันเพื่อให้เกิดพลัง และเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในวงกว้าง กรรมาธิการ ควรจะใช้สื่อโทรทัศน์ อธิบายเนื้อหา ประเด็นหลักให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ และอาจจะขยายเวลาในการ รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อปรับร่างต่อไป เพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้มากที่สุด
ขณะที่นางปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประเด็นที่ เครือข่ายผู้หญิงต่อสู้มานานและพยายามเสนอ คือ ประเด็นสัดส่วนทางการเมือง ซึ่งเขียนไว้ในวรรค 3 มาตรา 85 ที่ใช้คำว่า คำนึงถึง เป็นคำที่เบามาก รธน.ควรจะกำหนดเรื่องนี้ให้ชัดเจน
"เครือข่ายผู้หญิงทั่วประเทศ ได้ศึกษาปัญหาและเสนอต่อคณะกรรมการร่างรธน.และติดตามตลอดมาตลอด เราจึงคาดหวังไว้สูง นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 30 เดิมในรธน. ฉบับ 2550 เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ ในร่างกรธ. เขียนไว้ใน มาตรา 27 ใช้คำทีไม่กำหนดชัดเจนเช่นกัน ส่วนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ปรากฏในร่างรธน. ฉบับนี้"
สำหรับประเด็นความหลากหลายระหว่างเพศ นางปาตีเมาะ กล่าวว่า ควรชี้ให้ชัดในรธน.หากไม่ชัดเจน การปฏิบัติในทางกฏหมายจะส่งผลกระในวงกว้าง ไม่ใช่กระทบแค่ผู้หญิง
" ร่างรธน.ฉบับนี้ เน้นบทบาทของรัฐ หน้าทีของรัฐ ประชาชนอยู่ตรงไหน ประชาชนมีสิทธิตรงไหนในการตรวจสอบ ทั้งที่รธน.เป็นกฏหมายหลักในการขับเคลื่อนประเทศ หากไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ประชาชนจะตรวจสอบรัฐได้อย่างไร"นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ กล่าว และว่า ที่ผ่านมาเหมือน กรธ.ทำงานแบบหลบซ่อน ไม่เคยเปิดเผยเนื้อหาให้ประชาชนรับรู้ รัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดอนาคตของประชาชนในชาติ แต่ประชาชนอยู่ตรงไหนในร่างรัฐธรรมนูญ
ในส่วนการดำเนินงานต่อไปนั้น นางปาตีเมาะ กล่าวว่า กรธ.ควรสร้างความเข้าใจกับสังคมวงกว้าง ในรายละเอียดของร่างรธน. และควรจะขยายกลุ่มเพื่อรับฟังความเห็นครอบคลุมประชาชนอย่างทั่วถึง เพราะกรธ.ให้เวลาเพียง 15 วัน ผ่านมากรธ. ใช้เวลาร่าง รธน.นาน แต่รับฟังประชาชนในเวลาน้อยมาก ดังนั้นถ้าไม่รับฟังจากประชาชนอย่างทั่วถึง รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญของ ประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญของรัฐมากกว่า
ภาพประกอบจาก:https://drive.google.com/file/d/0B2_TyXWh9m98RFpleWVjdURIQUk/view?pref=2&pli=1