‘อังคณา’ ชี้สภาวะสื่อถูกจำกัดเสรีภาพ สิทธิชุมชนยิ่งถูกละเมิดมากขึ้น
อังคณา นีละไพจิตร ชี้ สภาวะสื่อถูกจำกัดเสรีภาพ ส่งผลสิทธิชุมชนถูกละเมิดมากขึ้น วอนสื่ออย่าลดบทบาทการทำหน้าที่ แนะเรียนรู้ความเสียหาย พัฒนาการทำงาน และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อลดการละเมิดซ้ำ
ภายใต้สถานการณ์การทำงานของสื่อในยุครัฐประหารกับบทบาทการนำเสนอข่าวด้านสิทธิมนุษยชนที่ดูเหมือนจะมีข้อจำกัด การเรียกร้องสิทธิ หรือชุมนุมคัดค้านโครงการของรัฐเป็นเรื่องยาก
นางอังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงบทบาทการทำหน้าที่สื่อในด้านสิทธิมนุษยชนว่า สื่อคือกระบอกเสียงของคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียง โดยเฉพาะในกลุ่มที่เหยื่อไม่ได้เป็นที่รู้จักของสังคมพวกเขาเหล่านั้นก็แทบจะไม่มีโอกาสในการเรียกร้องสิทธิ ดังนั้นการหยิบยกเรื่องราวของเหยื่อที่ได้รับการละเมิดในด้านสิทธิมนุษยชนมานำเสนอจนได้รับความสนใจจึงถือเป็นบทบาทสำคัญของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
“มีหลายครั้งที่ประชาชนหลายคนถูกคุกคาม เมื่อปรากฏเป็นข่าวก็ได้รับความสนใจจากสังคมและทำให้ปัญหาถูกคลี่คลายลง ดังนั้นจึงอยากจะให้กำลังใจสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ภายในยุคที่เสรีภาพถูกจำกัด สิทธิชุมชนถูกละเมิดมากขึ้น อย่าลดบทบาทการทำหน้าที่ของตัวเอง อย่าเซ็นเซอร์ตัวเอง เนื่องจากสื่อมีรัฐธรรมนูญมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ และจงเชื่อมั่นในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ทำงานในวิถีทางที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมได้”
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า ด้วยสภาวการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ก็ทราบดีเห็นสื่อโดนดุในการทำหน้าที่หลายครั้ง หรือบางครั้งสื่อไม่อยากกล่าวถึงสถานการณ์ในหลายเรื่อง เข้าใจได้ว่าสื่อทำงานไม่ได้ง่ายในช่วงสถานการณ์แบบนี้ แต่ก็ยังอยากให้เกิดการผลักดันเรื่องดีๆหลายๆเรื่อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่รู้จักของสังคม
หากถามว่าสื่อในบ้านเราให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากน้อยเพียงใดนั้น กรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า สื่อในไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ดังนั้นในการถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่แค่การดูเรื่องกฎหมายหรือการคุ้มครอง เพราะการละเมิดสิทธิมีรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือสื่อต้องพัฒนาตัวเองให้เท่าทัน รู้จักอาศัยเครื่องมือเข้ามาช่วย เพราะเมื่อใดก็ตามที่สื่อไม่เข้าใจปัญหาและไม่รู้เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สื่ออาจจะกลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิได้ นอกจากนี้การที่รู้ว่ามีคนถูกละเมิดสิทธิและไม่เข้าไปช่วยก็ถือว่าเป็นการละเมิดซ้ำ ถือเป็นรูปแบบการซ้ำเติม ดังนั้นสื่อต้องเรียนรู้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นด้วย ไม่ใช่เหยื่อถูกคุกคามแล้วเอากล้องไปจ่อเพื่อให้ได้ภาพมาเท่านั้น สื่อต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น
ขอบคุณภาพจากmcot.net