'องค์กรชุมชน ตวอ. ตั้ง 20 ศูนย์ต้นแบบ-ฟื้นฟูฯท้องถิ่นหลังน้ำท่วม
ชาวบ้านภาคตะวันออก รวมพลังทำแผนฟื้นฟูพื้นฟูชุมชนหลังน้ำลด ไม่มัวรอรับแจกถุงยังชีพ แต่เร่งสร้างแนวคิดพึ่งตนเอง-เน้นแก้ปัญหาจริงครบวงจร สร้าง 20 ศูนย์ต้นแบบ
เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออก ทั้งสภาองค์กรชุมชน สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ คณะประสานงานองค์กรชุมชน และองค์กรภาคีอื่นๆ จับมือเร่งทำแผนฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ที่เกิดจากน้ำท่วมตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยการฟื้นฟูพื้นที่ในครั้งนี้ไม่ได้มีแค่การแจกถุงยังชีพ แต่ขบวนองค์กรชุมชนยังเร่งสร้างแนวคิดให้เกิดการแก้ไขปัญหาออกเป็นสามระดับ คือ
1. ระยะเร่งด่วน - จะเป็นการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยพิบัติ รวมถึงการเยียวยาอย่างเร่งด่วน เช่น การจัดอาหารปรุงสุกให้กับผู้เดือดร้อน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น ทั้งอาหาร ยารักษาโรค รวมถึงปัจจัยอื่นๆ
2.ระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด - โดยให้ความช่วยเหลือในเรื่องการวิเคราะห์ สังเคราะห์ รวมถึงสรุปปัญหาและความต้องการ มาเป็นแผนที่ทำมือ หรือผังตำบล การวางแผนการฟื้นฟูที่อยู่อาศัย กระบวนการผลิตหลังน้ำลด รวมถึงแผนการดำเนินชีวิตในสภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในตำบล ซึ่งในภาคตะวันออกหลายๆพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ กำลังดำเนินการฟื้นฟูอยู่
3.แผนแก้ไขปัญหาระยะยาว - โดยสนับสนุนในเรื่องการวางแผนการสร้างทุนในชุมชน / หมู่บ้าน หรือตำบล โดยตัวชุมชนหรือหมู่บ้านเอง โดยต่อยอดจากแผนที่ทำมือ หรือผังตำบล ผนวกกับแนวคิดและความต้องการในการพัฒนาพื้นที่ของคนในตำบลโดยใช้ทุนที่มีใน ชุมชน เช่น ทรัพยากร เมล็ดพันธุ์ คน ทุนทรัพย์ และอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยในการต่อยอดในการแก้ไขปัญหา และเน้นให้คนในตำบลรู้จักสร้างทุนเพื่อรับมือกับปัญหาภัยพิบัติที่จะเกิด ขึ้นในปีต่อๆไป
ทั้งนี้กระบวนการทำแผนฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติของเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออกในครั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าชาวบ้านเจ้าของปัญหาจะรู้ความเดือดร้อน ความต้องการของตนเองดีที่สุด รวมทั้งรู้ว่าควรจะแก้ไขอย่างไร แต่ที่ผ่านมารัฐเป็นผู้ให้จนชาวบ้านเสพติดการช่วยเหลือ หากรัฐหันมาสนับสนุนให้ชาวบ้านช่วยตัวเองตามศักยภาพ แล้วหนุนเสริมส่วนทิ่เกินกำลัง การแก้ปัญหาจึงจะยั่งยืน เพราะแนวคิดและวิธีการนี้ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องเป็นฝ่ายรอให้หน่วยงานมาช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะให้และแบ่งปันกันเองในหมู่บ้านและชุมชนรอบข้าง
แต่ที่ผ่านมารัฐ หรือ หน่วยงานเป็นผู้ให้ จนทำให้เขา "เสพติด" การยื่นมือมาช่วยเหลือ บาง ครั้ง รัฐไม่จำเป็นต้องหาปลาแล้วป้อนเข้าปากพวกเขามากนักก็ได้ แค่สอนให้พวกเขารู้ว่าจะหาปลาอย่างไร แล้วยื่นเครื่องมือให้เขาใช้ในการหาปลา มันจะยั่งยืนกว่า และทำให้ชุมชนแกร่งกล้า ด้วยสองมือ สองขาของตัวเอง
โดยในปัจจุบันภาคตะวันออกได้สร้างศูนย์ฟื้นฟูและสร้างแนวคิดนี้ไปแล้วกว่า 20 ศูนย์ โดยทุกศูนย์เป็นลักษณะการฟื้นฟู และเร่งให้ชาวบ้านสร้างทุนของตนเอง แต่อย่างไรก็ตามขบวนองค์กรชุมชนภาคตะวันออกก็ยังคงมุ่งเน้นในเรื่องการแก้ไขปัญหาโดยให้เจ้าของปัญหาเป็นผู้คิด วางแผน และดำเนินการรวมถึงติดตามด้วยตัวเอง เช่น ในพื้นที่ ต.ชุมพล อ.องครักษ์ จ.นครนายก มีปัญหาร่วมกันคือไฟทาง ซึ่งชาวบ้านต้องการเร่งด่วน จึงวางแผนร่วมและเกิดแนวทางรวมถึงกองทุนในการแก้ไขปัญหานี้ มีการแบ่งบทบาทกันรับผิดชอบ มีการทำงานเป็นกระบวนการและเชื่อมโยงกับหมู่บ้านรอบๆ
ส่วน ต.ดอนฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ต.ท่าเรือ อ.ปากพลี จ.นครนายก และ ต.บางยาง จ.ปราจีนบุรี มีการสร้างกองทุนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติระดับตำบล ซึ่งสานกันเป็นเครือข่ายแก้ไขปัญหาร่วมกันภายในตำบล .