ประธาน กรธ. ขานรับขบวนผู้หญิงปฏิรูปฯ บรรจุสิทธิสตรีในรธน.59
ประธาน กรธ.ขานรับขบวนผู้เหญิงปฏิรูปประเทศ บรรจุสิทธิสตรีในรธน.59 ชี้ปฏิรูป 3 เรื่อง การศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย และแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น
ขบวนผู้หญิงปฎิรูปประเทศไทย (We Move) ร่วมกับสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทยและโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีระดับชาติ “รัฐธรรมนูญ : การปฏิรูประเทศและการมีส่วนร่วมของประชาชน “ เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับ ฉบับ พ.ศ.2540 และ 2550 และมาตรฐานสากล และเพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นของที่ประชุมคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศและสาธารณะ วันเสาร์ที่ 30 และวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม 2559 ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ 213-216 อาคารรัฐสภา 2
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปาฐกถานำเรื่อง “รัฐธรรมนูญ : ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศและการมีส่วนร่วมของประชาชน“ กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยยอมรับที่ยังไม่มีเรื่อง Gender Budget ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่จะนำไปเพิ่มเติมในฉบับแก้ไข เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในแง่ที่เป็นความจำเป็นของผู้หญิง ต้องไม่ตั้งตามเหตุแห่งเพศที่กำหนดตามจำนวนประชากรหญิงและชายเป็นเกณฑ์ เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญถือว่าชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มุ่งเน้นการแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ 3 เรื่องคือ ขาดวินัย การบังคับใช้กฎหมายและปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น
"ประการแรกคนไทยขาดวินัย ที่ประชาชนชอบเรียกร้องสิทธิ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อคนอื่น ประการที่สองคือการบังคับใช้กฎหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐขาดความเข้มงวดปล่อยประละเลย และนำไปสู่ปัญหา ประการที่สามที่ก่อให้เกิดการทุจริตภายในประเทศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดการปฏิรูปการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญที่ต้องการผลผลิตคือเด็กไทยเป็นคนดี มีวินัย มีใจรักชาติและมีทักษะมีความชำนาญตามความถนัดมากกว่าการการศึกษาภาคบังคับ และวางหลักการในรัฐธรรมนูญให้องค์กรอิสระบูรณาการทำงานในการตรวจสอบและรายงานผลที่ตรวจพบการทุจริตต่อรัฐบาล"
นายมีชัย กล่าวอีกว่า ในรัฐธรรมนูญได้สร้างมาตรฐานจริยธรรม ห้ามผู้ได้รับคำพิพากษาต้องโทษในเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ค้ายาเสพติด ไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ทั้งนี้ ในเวทีขบวนผู้หญิง ได้เรียกร้อง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีสาระสำคัญในประเด็นสิทธิเสรีภาพ สัดส่วนผู้หญิงและการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่น้อยหว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550“
ด้านคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ นายกสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย กล่าวถึงข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มี 8 ประด็น
ข้อ 1 ในเรื่องต้องกำหนดเงื่อนไขของบุคคลที่จะมาเป็นผู้แทนราษฎร ที่ต้องมีความรู้ความสามารถ และมีความเสียสละ
ข้อ 2 กลไกที่สร้างขึ้นต้องมีหลักประกันให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่มีอุดมการณ์ในการสร้างบ้านเมือง
ข้อ 3 ต้องมีองค์กรกลางในการดูแลแต่งตั้งข้าราชการ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญชุด ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้กำหนดไว้ ในระดับหนึ่ง
ข้อ 4 ต้องมีกลไกเสริมสร้างความเท่าเทียมของหญิงชาย
ข้อ 5 บทบาทของรัฐต้องคุ้มครองพัฒนาเด็กและเยาวชนต้องให้รวมถึงครอบครัวที่มีคุณภาพความเสมอภาค
ข้อ 6 การกำหนดบทบาทสตรีและกลุ่มอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ ให้มีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมาย
ข้อ 7 องค์กรอิสระนอกจากมีองค์กรเป็นอดีตข้าราชการแล้วต้องรวมถึงภาคเอกชน ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม
และข้อ 8 เสนอให้มีคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผล ต้องมีระบบในการประเมินผลองค์กรอิสระทั้งหลาย