การค้าที่เป็นธรรม หรือแฟร์เทรด มายืนอยู่ในกระแสหลัก เรียบร้อยแล้ว
"การพัฒนาไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทางเลือกอีกแล้ว แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิด" - สฤณี อาชวานันทกุล บริษัท ป่าสาละ จำกัด
"เวลาเราตัดสินใจซื้อสินค้าอะไรสักอย่าง ร้อยทั้งร้อยเราคาดหวังความคุ้มค่าของสินค้านั้น แต่ลึกลงไปกว่าความคุ้มค่าของราคา เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นสินค้าแต่ล่ะชิ้นนั้นมีเรื่องราวซ่อนอยู่ ซื้อสินค้าอย่างไรถึงจะแฟร์สำหรับเรา ก่อนซื้อสินค้าครั้งต่อไป อะไรที่เราต้องแคร์"
คำโปรยกระตุกต่อมจิตสำนึก เชื้อเชิญร่วมงานเสวนา "อย่ามา Care ถ้าเธอไม่ Fair" ประเทศไทย ทำไมต้องแฟร์เทรด ? จัดขึ้น ณ รูทการเด้น ทองหล่อ Root Garden At Thong Lor โดย องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ(สกส.) และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน
ในเวทีการเสวนา สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวถึงแฟร์เทรดในมุมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า แฟร์เทรดไม่ได้เป็นแค่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนในสังคมต่างเป็นผู้รับผิดชอบ
ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจต่อไปว่า ทำไมเราถึงต้องแคร์ และทำไมไทยต้องมีแฟร์เทรด เรามาเริ่มกับที่มาที่ไปของคำว่า Fair Trade กันก่อน
แฟร์เทรด หรือการค้าที่เป็นธรรม ที่กลายมาเป็นตัวสำคัญในบริบทโลก จุดเริ่มต้นของสิ่งนี้ "สฤณี" เล่าว่า เริ่มมาจากการที่คนมองเห็นว่าทำไมสินค้าที่มาจากซีกโลกใต้ จากเอเชีย ทำไมเขาซื้อของจากเราแต่ผู้ผลิตต้นน้ำถึงยังจนอยู่ แต่หากพูดถึงแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมจริงๆ ก็มีมานานมากเเล้ว คำว่าแฟร์เทรด น่าจะเริ่มใช้ครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยใช้กับสินค้าประเภท หัตถกรรมก่อน ซึ่งเป็นความพยายามของกลุ่มคนในประเทศโลกที่หนึ่ง พยายามจะสร้างความสัมพันธ์ โดยตรงกับผู้ผลิต เพื่อจะช่วยเหลือในคนผลิตเหล่านั้นสามารถขายของได้ในราคาที่เป็นธรรมมากกว่าเดิม และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาที่ว่า ทำไมคนเหล่านี้ทำงานหนักแทบตาย ผลิตอะไรออกมาก็ยังจนเท่าเดิม
ต่อมาก็เริ่มมีการขยายไปสู่สินค้าตัวต่อไป ซึ่งสินค้าที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในแง่ของแฟร์เทรด คือ เรื่องของกาแฟ และชา จากนั้นเริ่มมีองค์กร ที่ทำเรื่องแฟร์เทรด และมีการออกหลักการมาตรฐานต่างๆ ที่จะมากำหนดว่า สินค้ารูปแบบไหนจะเป็นสินค้าตามหลักการของแฟร์เทรด
แฟร์เทรดไม่ใช่แค่เรื่องราคาที่เป็นธรรม
ในเมื่อจุดตั้งต้นคือเรื่องของการทำให้ผู้ผลิตรายย่อยที่ยากจน มีชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นกลไกต่างๆ จะเริ่มต้นตรงนี้เป็นหลัก ก็จะมีการกำหนดอย่างเช่น ราคาที่เป็นธรรม คือ การกำหนดราคาของแฟร์เทรดจะต้องไม่ใช่การกำหนดราคาแต่ฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นการกำหนดจากทั้งสองฝ่าย
ก่อนหน้านั้นจำเป็นที่ทั้งสองต้องเจอกันเพื่อให้รับรู้ทั้งรูปแบบการผลิตต่างๆ และถึงจะกำหนดราคา ซึ่งตัวราคาก็จะไม่ใช่แค่ว่า พออยู่พอกิน แต่ต้องสร้างให้ชีวิตของผู้ผลิตรายนั้นดีขึ้นด้วย
"แฟร์เทรดไม่พูดแค่เรื่องของการทำธุรกรรมที่เป็นธรรมเท่านั้น เพราะผู้ผลิต เกษตรกรเหล่านี้จะติดอยู่ในกับดักความยากจนอย่างหนึ่งคือ สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่เสื่อมลง เช่น กับดักของเกษตรกรอุตสาหกรรม คือ การใช้สารเคมี ยิ่งใช้สุขภาพของเขาก็จะไม่ดี และสิ่งแวดล้อมก็ไม่ดี และเมื่อเป็นแบบนี้ คำว่าแฟร์เทรด หรือการค้าที่เป็นธรรมจึงไม่ใช่เรื่องเงิน ไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างด้านธุรกิจอย่างเดียว แต่ความเป็นธรรมต้องดูเรื่องราคา เรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อสิ่งแวดล้อมไม่ยั่งยืนเขาก็จะยิ่งแย่ ดังนั้นในแง่นี้เราจะเริ่มเห็นความเชื่อมโยงในเรื่องการทำแฟร์เทรด ความยุติธรรมในเรื่องการค้าจึงไม่ได้ดูแค่เรื่องราคา ต้องไปดูวิธีการ สภาพแวดล้อม กระบวนการทำงาน"
ทำไมผู้บริโภคต้องแคร์เรื่องพวกนี้
เมื่อผู้ผลิตที่เป็นต้นน้ำ ผลิตอาหารโดยไม่ได้ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม อย่าง ใส่ยาฆ่าแมลง ใส่สารเคมี เร่งโน้นนี่ นอกจากผลกระทบจะเกิดกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ผลิตเองเเล้ว ความไม่ปลอดภัยเหล่านี้จะตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคด้วย กลายเป็นว่า สินค้าที่ผลิตอย่างไม่ยุติธรรมในต้นน้ำ เมื่อมาถึง ปลายน้ำคือผู้บริโภคก็ไม่ยุติธรรมกับเราด้วย เพราะเราอาจจะได้บริโภคในสิ่งที่มีสารพิษสะสม หรือบริโภคในสิ่งที่ทำให้คนต้นน้ำเดือดร้อน
ก่อนยกกรณีการใช้แรงงานทาส เป็นต้น
เธอเห็นว่า ทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้หลายๆ ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรปถึงปฏิเสธที่จะรับสินค้าที่ขาดความยุติธรรมเหล่านี้เข้ามา ดังนั้นคำว่า แฟร์เทรด จึงต้องแฟร์ ต้องยุติธรรมตั้งแต่ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และรวมไปถึงในเรื่องของสิ่งเเวดล้อมด้วย
"อีกอย่างหากคุณไม่แฟร์ในมติใดมติหนึ่งในสามอย่างข้างต้น โดยนัยยะแล้วสินค้าตัวนั้นก็จะไม่แฟร์กับอีกสองมติที่เหลือไปโดยปริยาย เพราะทุกอย่างสัมพันธ์กัน"
แฟร์เทรดกระแสใหม่ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
"สฤณี" ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะโครงสร้าง ลักษณะธุรกิจต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดผลเสียจนตอนนี้เริ่มเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น ทั้งด้านชีวิต สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านั้นจึงก่อให้เกิด สิ่งหนึ่งที่แฟร์เทรดเข้าสู่กระแสหลักได้ในแง่เราจะสามารถวัดจากอะไรได้บ้าง
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทขนาดใหญ่ในต่างประเทศ อย่างเนสท์เล่ อย่างคราฟ เทสโก ซึ่งบริษัทผู้ค้ารายใหญ่ๆ เริ่มที่จะหาซื้อสินค้าแฟร์เทรดเข้ามาให้บริหารมากขึ้น หลายคนอาจมองว่าการกระทำเหล่านี้อาจเป็นแค่การสร้างภาพ การทำ CSR
"แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าที่เกิดกระบวนการแบบนี้ขึ้น มาจากกระแสของผู้บริโภคนั้นเอง"
ดังนั้นสิ่งนี้จึงสะท้อนว่า แฟร์เทรดได้มายืนอยู่ในกระแสหลักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากการทำวิจัยที่ผ่านก็พบว่า ความต้องการในสินค้าแฟร์เทรดของกลุ่มผู้บริโภคนั้น อาจไม่ได้เริ่มจากความรู้สึกว่าต้องการยุติธรรม เพราะอย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ เรื่องเหล่านี้คือนามธรรม ลำพังเราเดินดูกาแฟ ดูข้าว เราจะรู้ได้ไงว่า ผู้ผลิตได้เงินเป็นธรรมหรือไม่ ดังนั้นความสนใจของผู้บริโภคจึงมักจะเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวมากๆ อย่างเรื่องของสุขภาพ เริ่มรู้ว่าสินค้าที่เราทานนั้นจะส่งผลเสียต่อตัวเอง จากนั้นก็เริ่มขยายมาสู่การใส่ใจในเรื่องอื่น
แต่ทำไมราคาสินค้าอินทรีย์ ออกแกนิค หรือแฟร์เทรดถึงสูง
จากการศึกษางานวิจัย ในเรื่องแฟร์เทรด ก็พอจะสรุปได้ว่า คนในทุกประเทศทั่วโลก มีปัจจัยหลักก่อนที่จะเลือกบริโภคคือเรื่องของราคา ตามมาด้วยเรื่องคุณภาพ และค่อยมาเป็นเรื่องของความสะดวก
ในเรื่องของราคา เธอบอกว่า อาจจะมีหลายปัจจัยที่เขาจะนำมาพิจารณา เช่น ความเคยชิน ความเคยชินที่เคยซื้อ ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมซื้อผักในราคาเท่านี้ แต่พอจะซื้อผักออกแกนิคทำไมราคาถึงแพงกว่ามาก ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นจุดสำคัญ เป็นปราการสำคัญ
"เราจะไปบอกผู้บริโภคไม่ให้คิดอย่างนั้นก็ไม่ได้ จะไปบังคับไม่ได้ ซึ่งแบบนี้ผู้บริโภคก็จะเลือกไม่ซื้อไปเลย ต้องค่อยเป็นค่อยไป"
ขณะเดียวกันก็ลองถอยออกมาดูว่า ทำไมราคาโดยเปรียบเทียบของสินค้าแฟร์เทรดกับไม่แฟร์เทรด ถึงถูกกว่า ซึ่งจริงๆ เราต้องเข้าใจก่อนว่า การผลิตแบบอุตสาหกรรมกับการผลิตแบบรายย่อยต่างกัน
การผลิตแบบอุตสาหกรรมที่ทำครั้งละมากๆ ราคาต่อหน่วยจึงต่ำ และยังมีในเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ต้นทุนภายนอก การที่ต้นทุนในการผลิตถูกแต่ต้นทุนทางสังคมแพง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ สิ่งเเวดล้อม ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ได้จ่าย
"ทุกวันนี้ที่สังคมเราเป็นแบบนี้ เพราะการผลิตสินค้าที่ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนภายนอกเหล่านี้นั้นเอง"
ฉะนั้นเราจะต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่า เรายินดีที่จะมีสินค้าราคาถูกแต่แลกมาด้วยความเสียหายราคาแพง ทั้งเรื่องสิ่งเเวดล้อม หรือแม้กระทั่งในเรื่องของสุขภาพที่สุดท้ายเราต้องไม่จ่ายเงินกับการรักษาพยาบาลจากการบริโภคของเหล่านั้น
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ผู้บริหารป่าสาละ อธิบายว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของผู้ประกอบการ ไม่ใช่เรื่องของผู้บริโภคทีเดียวที่ต้องลุกขึ้นมาในมีการจัดการเรื่องโครงการสร้าง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของนักปฏิรูปทั้งหลายในประเทศของเรา รวมไปถึงนักวิชาการควรมีบทบาท เพราะว่า เราเห็นชัดๆ แล้วว่า โครงสร้าง ในเรื่องตลาดกับปัจจัยการผลิต มีความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น ความไม่เป็นธรรมมีอยู่ทั้งในระดับกฎหมาย ระดับนโยบาย ดังนั้น สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของความไม่เป็นธรรม
อย่างการประชุมโลกร้อนที่ปารีสเมื่อปลายปี ก็จะมีผลดีคือ จากเมื่อก่อนคนที่ทำงานเรื่องพลังงานทางเลือก ที่เผชิญกับแรงกดดันแบบเดียวกัน ที่ว่าทำไมถึงแพง ทำไมพลังงานทางเลือกแพงกว่าน้ำมันเติมน้ำมันดีกว่า แต่หากย้อนดูให้กว้างเราจะเห็นว่า น้ำมันที่ถูกนั้น เผาออกเป็นคาร์บอน แล้วการที่โลกร้อนก็เป็นเพราะคาร์บอนนั้นเอง
แต่ตอนนั้นเราไม่เห็น เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องของโลก แต่วันนี้พอเริ่มมีการพูดคุยอย่างจริงจัง ว่า โลกกำลังจะร้อนขึ้น เริ่มที่จะมีการเพิ่มต้นทุนในผู้ผลิตเชื้อเพลิงจากฟอซซิล แน่นอนตัวพลังงานหมุนเวียนจึงได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะฉะนั้นแค่มองเรื่องราคาอย่างเดียวไม่พอ ต้องถอยมามองให้กว้างกว่านั้น และจะเห็นอะไรมากมายซ่อนอยู่ในราคาที่เราเสียไป
ประเทศไทย ทำไมต้องแฟร์เทรด
หากมองจากทั้งหมดที่กล่าวมา เราพอจะมีคำตอบแล้วว่า ทำไมคนไทยต้องหันมาใส่ใจการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น และในขณะเดียวกันเราพอจะเริ่มเห็นเเล้วว่า ยุคนี้เป็นยุคที่น่าตื่นเต้นของแฟร์เทรด เพราะนอกจากจะมีผู้เล่นเพิ่มมากขึ้น อย่างกรณีต่างประเทศที่มีการแข่งขันกันสูง การจะรู้ได้ว่า ผู้เล่นคนไหนคือตัวจริง ตัวปลอม (ซึ่งแนวโน้มจะมีตัวปลอมออกมาเยอะขึ้น) จึงต้องมีคำถามตามว่า เราจะสร้างมาตฐานอย่างไรอย่างน้อยมาตรฐานเหล่านั้นจะได้จัดให้เกิดความชัดเจนว่า สิ่งใดคือความแท้ ไหนคือความเทียม
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรฐานเป็น Product เป็นสินค้าอย่างหนึ่ง ลำพังการตรามาตรฐานไม่ได้แปลว่า ทุกอย่างจะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างกรณีที่เคยศึกษาสินค้าประมงที่ถูกแบน ไม่ใช่ว่าสินค้าไม่มีมาตรฐาน เขามีตรารับรองเยอะแยะมากมาย แต่ช่องว่างระหว่างตราเหล่านั้นเองที่ทำให้เกิดเรื่องราว และบางครั้ง ตรามาตรฐานอาจทำที่กระบวนการปลายน้ำ กลางน้ำ ดังนั้นความพยายามพลักดันในเกิดตรามาตรฐานแฟร์เทรด คงเป็นจุดเริ่มต้นเพราะปัญหาหลักของเมืองไทยคือ การรับรองตราแฟร์เทรดที่ยังมาราคาที่สูงมาก ทำให้เกษตรรายย่อย ผู้ประกอบที่ไม่มีเงินทุนมากมายแต่ประกอบธุรกิจตามหลักการของแฟร์เทรดครบถ้วน ก็ไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งเป็นแค่ปัญหาเรื่องเงินที่จะให้องค์กรต่างชาติเข้ามา
วันนี้เพื่อเป็นการสร้างให้ไทยเกิดกระบวนการการค้าที่เป็นธรรม ลดความเลื่อมล้ำในสังคมลง เธอมองว่า เราจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างให้เกิดองค์กร เกิดมาตรฐานจากภายในประเทศที่ทัดเทียมสากล และในขณะเดียวกันเกษตรกร ผู้ผลิตรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วย จากนั้นก็ต้องมีการพัฒนาต่อไป ในส่วนของการบริโภคในประเทศ
"สิ่งที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นคือการสร้างการตื่นรู้ขึ้นมาก และในส่วนของต่างประเทศองค์กรแฟร์เทรดต่างๆ เริ่มปรับตัวเพื่อแข่งขันในเชิงของธุรกิจมากขึ้น เพราะอย่างที่บอกตัวผู้เล่นในสนามนี้เพิ่มมากขึ้น ที่ปะปนทั้งจริงบ้าง จริงครึ่งเดียวบ้าง แรงปะทะเหล่านี้คือสิ่งที่วงการแฟร์เทรดต่างประเทศประสบอยู่"
ขอบคุณภาพประกอบจาก เพจ Oxfam in Thailand