นักวิชาการ หวั่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ลดทอนสิทธิคนไทย
นักวิชาการ ติงร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับล่าสุด ลดทอนบทบาทสิทธิคนไทย ส่วนกรณีรัฐใช้ ม.44 ยกเลิกผังเมือง โดยไม่คำนึงบรรทัดฐานของสังคม หวั่นต่อไปนี้ใครจะสร้างอะไรตรงไหนก็ได้ ไม่ต้องใส่ใจพื้นที่รอบข้าง
วันที่ 29 มกราคม 2559 ในเวทีเสวนา"สารคดี Talk#5 โครงการพัฒนาอันดามันกับชาติพันธุ์ชาวเล”ณ ห้องประชุมจั๊คส์ อัมโยต์ ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 โดยเฉพาะในหมวดสิทธิของชุมชนว่า การต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชน ในอดีตในรัฐธรรมนูญเดิมประชาชนมีสิทธิในการต่อสู้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี แต่ตอนเห็นร่างฉบับล่าสุดนี้ ที่โดนย้ายไปอยู่ในหมวด หน้าที่ของรัฐ ซึ่งนั่นจะทำให้สิทธิในการต่อสู้ของประชาชนยากขึ้น เพราะหากมีปัญหาอะไร ประชาชนไม่สามารถไปฟ้องร้องเพื่อคุ้มครองตัวเองได้ หรือเมื่อประชาชนอยากต่อสู้ในเรื่องสิทธิก็อาจจะมีกระบวนการอื่นๆ ที่ท้ายที่สุด รัฐอาจจะอ้างไปได้ว่า แต่ละเรื่องนั้นๆ ได้การดำเนินการไปแล้ว และยิ่งกระบวนการตรวจสอบแทบจะหวังไม่ได้เลย
ดร.เดชรัต กล่าวอีกว่า หากเราได้ธรรมนูญแบบนี้ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นแค่ร่างนั้น สิทธิที่เราเคยมี ในเรื่องที่จะต้องให้มีการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งเเวดล้อม สุขภาพ ทรัพยากร ก็จะหมดไป สิทธิที่คนไทยจะได้มีส่วนร่วมในการดูเเล ตัดสินใจจะไม่มีอีกต่อไปแล้ว
"สิทธิตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ไห้สิทธินี้ เรามีสิทธิที่จะฟ้องร้องที่จะให้มีการคุ้มครองสิทธิของเราได้ แต่ตอนนี้ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ต้องหวังต่อไปในกระบวนการทำประชามติว่าคนไทยจะตระหนักในสิทธิที่เขาได้เสียไป"
นอกจากนี้ ดร.เดชรัต กล่าวถึงการใช้คำสั่ง ม. 44 ยกเลิกผังเมืองว่า เรื่องยกเลิกผังเมืองนั้น รัฐจะมาอ้างว่ามีอำนาจตาม ม.44 อย่างเดียวไม่ได้ เพราะเรื่องเเบบนี้ สิ่งที่ต้องใช้คือนำเอาบรรทัดฐานของสังคมเข้ามาผนวกด้วย การมีกฎเรื่องผังเมืองถือเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่ง ว่าการที่จะก่อสร้างการจะใช้ประโยชน์จากที่ดิน ที่อาจจะมีความขัดแย้งกัน เช่น หากมีบ่อขยะมาตั้งใกล้พื้นที่ชุมชน มีโรงกำจัดขยะมาตั้งใกล้บ้าน มีโรงไฟฟ้าไปตั้งอยู่กลางเมือง เป็นต้น การมีกฎหมายตรงนี้เพื่อรักษาและจัดระเบียบ เพื่อให้เกิดการจัดสรรที่มีประสิทธิภาพ แต่การที่รัฐออกกฎยกเลิกผังเมืองนั้น เท่ากับใครจะสร้างอะไรตรงไหนก็ได้ โดยไม่ต้องใส่ใจพื้นที่รอบข้าง
"เวลาที่เราพูดถึงข้อกฎหมาย หลายครั้งจะรู้สึกว่า คุยยาก ผมคิดว่าจะทำอะไรเราควรมาคุยกันที่บรรทัดฐาน พื้นฐานของความเป็นจริงในสังคมก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะกำหนดออกกฎต่างๆ ออกมา" ดร.เดชรัตกล่าว และว่า ในส่วนกรณีแนวคิดที่จะให้เช่าที่ดิน 99 ปี อยากตั้งคำถามคนประชาชนคนไทยไว้ว่า เราจะตัดสินใจให้เอกชน ในกลุ่มทุนมาเช่า 99 ปีนั้น ซึ่งมากกว่า 1 ชั่วอายุคน เราอยากให้ให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือไม่