นักวิชาการแนะปฏิรูปตำรวจต้องแก้กันตั้งแต่ระดับสน.
ยกเครื่องปฏิรูปตำรวจเพื่อ ปชช. นักวิชาการแนะแก้ไขอำนวยความยุติธรรมระดับสถานีตำรวจ ภายใต้ กม.เดียวกัน ไม่ว่ารวยหรือจน ด้าน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ระบุไม่หวงภารกิจ พร้อมให้ผู้อื่นปฏิบัติแทน แต่ประชาชนต้องได้ประโยชน์
วันที่ 28 มกราคม 2559 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสาขานวัตกรรมการสื่อสารทางการเมือง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสาขารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดราชดำเนินเสวนา เรื่อง การปฏิรูปตำรวจเพื่อประชาชน ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ กล่าวว่า ตำรวจมีปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็น การไม่บังคับกฎหมายเต็มที่ การละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือตามไม่ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีกระบวนการปฏิรูปมาโดยตลอด และบุคลากรในองค์กรตระหนักดี หากไม่ปรับจะอยู่กันไม่ได้
นอกจากการปฏิรูปตำรวจเพื่อประชาชน โดยเฉพาะสถานีตำรวจ ให้มีรูปแบบการบริการหลากหลายที่สามารถคลายความทุกข์ให้ชาวบ้านได้ ยังต้องสร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่บุคลากร มีค่าตอบแทนเพียงพอ บำรุงเกียรติยศ และมีการจัดสรรงบประมาณตรงแต่ละสถานีตำรวจ
“ภารกิจใดที่คิดว่าตำรวจปฏิบัติแล้วไม่มีประสิทธิภาพ อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติแทน ตำรวจยินดี ไม่จำเป็นต้องกอดไว้ แต่เมื่อมอบภารกิจให้แล้ว ประชาชนต้องได้รับประโยชน์”
ส่วนข้อสมมติฐานการที่มีผู้สมัครสอบข้าราชการตำรวจโกงข้อสอบ เพื่อหวังเข้าไปคอร์รัปชัน พล.ต.ท.ปิยะ ระบุว่า ไม่เฉพาะข้าราชการตำรวจที่มีผู้สมัครสอบจำนวนมาก แต่ยังมีหน่วยงานราชการอื่นด้วย ยกตัวอย่าง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งล้วนมีการทุจริตการสอบทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับจะเป็นข่าวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เหตุผล คือ ทุกคนต้องการความมั่นคงในชีวิตมากกว่า
ด้าน ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ประชาชนไม่สนใจว่าใครจะมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเท่ากับทราบว่า ใครเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจ ใครเป็นสารวัตรป้องกันและปราบปราม หรือใครเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวน ฉะนั้นสิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้สถานีตำรวจเป็นสถานีบริการประชาชน
“การปฏิรูปที่ต้องการ อยากให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของประเทศ ‘เอ๊ะ!’ ขึ้นมาบ้างว่า เอ๊ะ เหตุใดงานจราจรแก้ไขได้หรือไม่ เอ๊ะงานป้องกันและปราบปรามแก้ไขได้หรือไม่” นักวิชาการ กล่าว และว่า แล้วนายกรัฐมนตรีจะมาปฏิบัติเรื่องเล็ก ๆ ได้อย่างไร เพราะคิดเช่นนี้ปัญหาประชาชนจึงไม่ได้รับการแก้ไข
ร.ต.อ.ดร.วิเชียร กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปตำรวจจึงต้องแก้ไขระดับสถานี แต่ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับงานธุรการ เพราะนั่นเป็นงานบริการของบุคลากรกันเอง ทั้งนี้ จุดง่ายที่สุด คือ พนักงานสอบสวน ให้มีการอำนวยความยุติธรรมระดับสถานีตำรวจ ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะร่ำรวยหรือยากจน จึงอยากให้ประชาชนก้าวไปสู่จุดนี้ หากรัฐบาลปฏิบัติได้ จะได้ 100 คะแนนเต็ม .