กรณีตุ๊กตาลูกเทพ "ถ้าหยุดได้ก็หยุด":รศ.จุมพล พูดถึงสื่อไทย กับสังคมกำลังขาดหลักยึด
"สื่อมวลชน มีสิทธิ์ใช้วิจารณญาณได้ ก็อ้างกันแต่กระแส ผมมักจะบอกลูกน้อง บอกลูกศิษย์ผมเสมอว่า ไม่ต้องเอากระแสเป็นตัวตั้ง ถ้าเป็นกระแสที่พากันลงเหวคุณจะเอากระแสนั้นมาพูดทำไม แค่สะท้อนว่ามีอะไรเกิดขึ้นแล้วไม่จำเป็นว่าต้องรายงานข่าวต่อก็ได้ คุณก็ควรจบตรงนั้น”
กระแสฮิต “ตุ๊กตาลูกเทพ” ถูกสื่อมวลชนไทย ทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ และสังคมออนไลน์ โหมกระพรือช่วยกันตีข่าวมาหลายวันติดต่อกัน เสมือนหนึ่งเป็นวาระชาติ ขนาดสื่อต่างประเทศยังแสดงความแปลกประหลาดใจกับกระแสฮิตที่เกิดขึ้นในบ้านเราชนิดกู่ไม่กลับแบบนี้
ในมุมมองนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน รศ.จุมพล รอดคำดี อดีตคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม วันนี้ได้สะท้อนภาวะสังคมที่ค่อนข้างป่วย ไม่มีหลักยึด ก็เลยหาอะไรที่ทำให้ตัวเองสบายใจ
“สิ่งที่สำคัญที่สุดผมมองว่าเป็นลักษณะของสังคมที่ไม่มีหลักยึด ไม่มีแนวทางชีวิต เรามักขาดเรื่องการยึดหลักที่ถูกต้อง ความจริงแล้วเรามีศาสนา ขนมธรรมเนียม ประเพณีที่ดี แต่เราไม่ค่อยยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือก็จะไปหาอะไรที่ไขว่คว้าได้ ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่ขาด แต่หากทุกคนยึดมั่นในหลักศาสนาของตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิด
ขณะนี้เราเริ่มแสวงหาในสิ่งที่เราเองยังไม่รู้ว่า ตัวตนเราต้องการอะไร สิ่งใดที่ทำให้รู้สึกสบายใจก็จะทำ อะไรที่ไม่เคยเห็นก็เห็น ไม่เคยเกิดก็เกิด ไม่ควรจะทำก็ทำ มักจะพบเห็นได้บ่อยขึ้นในสังคมปัจจุบัน”
จากความขาดนี้เอง นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน บอกว่า จึงทำให้เกิดกระแสของประชาชนขึ้น คนไหนที่ใช้วิจารณญาณรู้เท่าทันสื่อ เขาก็จะไม่เชื่อง่ายๆ ส่วนประเภทคนที่ขาดหลักยึดการดำเนินชีวิต อะไรที่ทำให้ตัวเองสบายใจขึ้นก็จะกลายเป็นเหตุผลให้เขาคว้าไว้ พูดง่ายๆว่าอาจถูกหลอกได้อย่างง่าย
“ยิ่งสื่อช่วยนำเสนอข่าวแบบนี้จะยิ่งกลายเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ลูกเทพเป็นที่ต้องการของสังคมหรือเปล่า”รศ.จุมพล ตั้งคำถาม พร้อมกับฝากถึงการทำงานของสื่อมวลชนว่า ไม่ควรโหมข่าว ไม่ควรกระพือข่าว เรารู้อยู่แล้วว่าข่าวพวกนี้ไม่ได้ช่วยทำให้สังคมดีขึ้น นักข่าวควรจะใช้วิจารณญาณจากตัวเองได้ว่า “ควรลดข่าวประเภทนี้ให้มันเล็กลงไป อย่าไปขยายมัน ถ้าหยุดได้ก็หยุดไปทำข่าวอย่างอื่นที่มันมีสาระมีเรื่องราว ทั้งนี้เราควรที่จะหยุดทำเองได้ไม่จำเป็นต้องบอก หากกระแสมันมาแล้วเราก็ต้องพากันไปทำ ผมคิดว่าสื่อมวลชนกำลังเข้าใจอะไรผิดอยู่ ชอบบอกกระแสกันอยู่เรื่อย ผมมองว่าไม่จำเป็น คุณจะไปใช้วิธีที่เอากระแสเป็นตัวตั้งอย่างเดียวไม่ได้ ควรเลือกในสิ่งที่ถูกต้องที่มันเป็นประโยชน์ต่อสังคมจะดีกว่า”
ส่วนการที่สื่อต่างประเทศสำนักใหญ่ๆ พากันนำเรื่องราวเหล่านี้ไปเล่าต่อ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มองว่าสังคมนี้เป็นสังคมที่ขาดหลักการแนวปฏิบัติในการดำรงชีวิตที่ดี ต้องการผู้ที่จะต้องทำให้สังคมนี้เดินไปอย่างถูกทิศถูกทางและมีเหตุมีผลมากขึ้น เราไม่ควรที่จะอิงกระแสมากเกินไป
“คุณก็เป็นสื่อคุณเลือกใช้วิจารณญาณได้ ตลอดเวลาที่ผมสอนหนังสือผมไม่เคยให้เด็กวิ่งตามกระแส ถ้ากระแสมันไปไม่ถูกทาง หรือกระแสนั้นมันไปทำให้สังคมลงเหวผมก็เลือกที่จะหยุด
ผมว่าสื่อมวลชนก็มีสิทธิ์ใช้วิจารณญาณได้ ก็อ้างกันแต่กระแส ผมมักจะบอกลูกน้องบอกลูกศิษย์ผมเสมอว่า ไม่ต้องเอากระแสเป็นตัวตั้ง ถ้าเป็นกระแสที่พากันลงเหวคุณจะเอากระแสนั้นมาพูดทำไม แค่สะท้อนว่ามีอะไรเกิดขึ้นแล้วไม่จำเป็นว่าต้องรายงานข่าวต่อก็ได้ คุณก็ควรจบตรงนั้น” รศ.จุมพล กล่าว
ขณะที่ นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความถึงกระแสดังกล่าวในเฟชบุคส่วนตัวด้วยเช่นกัน โดยมองการทำงานของกองทัพสื่อพากันแห่มาเล่นกระแส ลูกเทพ.เป็นข่าวใหญ่โต หลังจากงานศพของดารา นั้น เพราะข่าวกระแสแบบนี้ทำกันง่ายมาก รู้ว่าเป็นข่าวชาวบ้านที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมไม่ยาก หรือเรียกว่า ดราม่า
อีกทั้ง วิธีทำงานก็ไม่ยาก ตามไปถ่าย ตามไปสัมภาษณ์ด้วยคำถามพื้นๆ ไม่ต้องมานั่งวิเคราะห์ แกะรอย ตั้งคำถามแบบข่าวสืบสวน ซึ่งยากกว่ามากบรรณาธิการข่าวก็ไม่ใส่ใจในการหาประเด็นข่าวคมๆ ทำข่าวตื้นๆ บ้านๆที่คนทั่วไปสนใจก็พอ ไม่ต้องไปดิ้นรนทำข่าวเจาะลึกให้เคร่งเครียด ให้คนอ่านได้รู้อะไรอย่างลึกซึ้ง อาทิ ข่าวคอร์รัปชั่น เบื้องหลังเช่าที่ดิน 99 ปี เบื้องหลังร่างรธน.ฯลฯ ข่าวตามหน้าสื่อจึงเต็มไปด้วยข่าวแบบที่เห็นและเป็นอยู่ ด้วยข้ออ้างว่าสื่อต้องแข่งขันกันนำเสนอข่าว
สุดท้ายมีอีกความเห็นที่น่าสนใจ ของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นายมกุฏ อรฤดี ผู้ที่อยู่ในแวดวงของหนังสือพยายามเปิดโลกการอ่านให้เด็กและเยาวชน เป็นทั้งนักเขียน คนทำหนังสือ อาจารย์สอนหนังสือ โพสต์เฟชบุคส่วนตัว หลังมีคนชวนคุยเรื่องลูกเทพ พร้อมกับตอบไปว่า
"กล่าวถึงหนึ่งครั้งก็สูญเวลาชีวิตไปมาก"