ไม่ใช่ติดคุกแล้วจบ! ‘สุภา’ยันคนโกงต้องชดใช้ ถ้าไม่มียึดทรัพย์ให้หมด
‘สุภา’ ยันคนโกงต้องชดใช้ค่าเสียหาย ไม่ใช่ติดคุกแล้วจบ ป.ป.ช. พยายามล่าคืน หากไม่ได้ต้องยึดทรัพย์ให้หมด ชี้เป็นการนำหลักเศรษฐศาสตร์รวมกับนิติศาสตร์ ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับสังคม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดอบรมหลักสูตรนิติเศรษฐศาสตร์ระยะสั้น รุ่นที่ 2 มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวบรรยายในหัวข้อ ‘มุมมองทางนิติเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินและการตรวจสอบติดตามโครงการ’
น.ส.สุภา กล่าวตอนหนึ่งว่า ต้องดูว่าทุกอย่างของเราอยู่บนพื้นฐานความคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตหรือส่วนบุคคล ในเรื่องการทำงานก็เช่นกัน ต้องมองว่าขณะนี้คดีเร่งด่วนหมดอายุความหรือไม่ และเร่งทำให้เสร็จ จะดูว่าขาดอายุความเมื่อไหร่ ไม่คุ้ม ชี้ให้เห็นมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ แต่ตัวกฎหมายต้องมองการเปลี่ยนพฤติกรรม คนไม่ดีหรือคนดีจึงดูที่บทลงโทษ เมื่อทำผิดต้องถูกลงโทษให้สาสม แต่ของเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่มองการเปลี่ยนพฤติกรรม จะดูเรื่องผลกระทบต่อบุคคลเป็นสำคัญ
“เช่น กรณีทุจริตคลองด่าน การลงโทษติดคุกในแง่ของเราคิดว่าไม่คุ้ม เงินลงทุนไปเพื่อให้ได้ดินมาก่อสร้างมาเสียประโยชน์ ใช้งานไม่ได้ ต้นทุนตรงนี้เกิดจากรัฐบาลในอดีตใช้จ่ายเงินบำบัดน้ำเสีย แต่ทำให้น้ำในคลองเสีย คนเสียสุขภาพ นักเศรษฐศาสตร์มองตรงนั้นเป็นบทลงโทษมากกว่า แต่กฎหมายมองความยุติธรรม เมื่อได้รับความยุติธรรมก็จบ แต่ของเรามองสมดุลหรือไม่ เราเสียผลประโยชน์จากคลอง ไม่ใช่ติดคุกก็จบ” น.ส.สุภา กล่าว
น.ส.สุภา กล่าวอีกว่า ส่วนการตรวจสอบทรัพย์สินต้องมีเรื่องเศรษฐศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย หากคนไหนถูกชี้มูลว่าทุจริตต้องขอเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินทุกราย โดยอาจมีการแก้ไขกฎหมาย เพราะบางคนหลบหนีบทลงโทษไป แต่ทรัพย์สินยังอยู่ ทั้งนี้ในการแก้กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับที่สาม ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากอายุความยังอยู่แม้คุณจะหนีไป ยังไงก็ต้องถูกลงโทษแน่
“ในทางเศรษฐศาสตร์ การทำผิดทุจริตไม่ใช่เพียงลงโทษด้วยการติดคุก แต่คุณต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ต้องดูโอกาสของธุรกิจนั้นเสียหายหรือไม่ ต้องนึกถึงคนไทยทั้งประเทศ คนทุจริตไม่ใช่ทุจริตเพราะอยากติดคุก แต่ทุจริตเพราะอยากได้ทรัพย์ ดังนั้นต้องใช้หลักนี้คือ เมื่อทุจริตต้องคืนทรัพย์มา เราก็พยายามจะหาทรัพย์สินที่โกงไปกลับคืนมาให้ได้ แต่หากหาไม่ได้ต้องเอาทรัพย์สินที่มีมาชดใช้ ไม่ใช่แค่ติดคุกแล้วจบ เพราะในมุมเราไม่เพียงพอสำหรับคนที่เสียภาษี ดังนั้นเห็นได้ว่าหลักเศรษฐศาสตร์กับหลักนิติศาสตร์เป็นคนละมุม แต่เมื่อมาตีความและทำให้บาลานซ์กันจะเกิดความเป็นธรรมแก่สังคมมาก ๆ” น.ส.สุภา กล่าว