ดัชนีชี้วัดคอร์รัปชันไทยปี 58 อันดับ 3 อาเซียน อยู่ที่ 76จาก168 ปท.ทั่วโลก
องค์กรเพื่อความโปร่งใส เผยแพร่ผลจัดอันดับดัชนีชี้วัดคอร์รัปชันปี 58 ไทยคว้าที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้ 38 จาก 100 คะแนน อยู่ที่ 76จาก168 ปท.ทั่วโลก ระดับเดียวตูนิเซีย-แซมเบีย ส่วนเดนมาร์กเบอร์หนึ่งโลก รักษาแชมป์อันดับหนึ่งสองปีซ้อน
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2559 ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (TransparencyThailand) เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี 2558ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียนในการจัดอันดับประจำปี 2558 นี้
องคก์รเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(Transparency International) ได้จัดอันดับประเทศทั้งหมด168 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า ประเทศเดนมาร์กได้คะแนนสูงสุด 91 คะแนน สามารถรักษาแชมป์เป็นอันดับหนึ่งได้สองปีซ้อน
ขณะที่ประเทศที่ได้คะแนนลดลงจากเดิมอย่างมากกว่าปีที่แล้วได้แก่บราซิล กัวเตมาลา และเลโซโธ
เมื่อเปรียบเทียบอันดับเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยมีคะแนนเป็นอันดับที่สาม รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนประเทศบรูไนไม่ได้อยู่ในการจัดอันดับครั้งนี้
ดร. จุรีกล่าวว่า “การจัดอันดับคอร์รัปชันเป็นวิธีการกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจปัญหาทุจริตคอร์รัปชันว่าเป็นปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลก ไม่ใช่เป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาหรือเป็นปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น โดยประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมานั้นจะเห็นได้ว่า มีความตื่นตัวต่อการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างมาก ทุกภาคส่วนได้ริเริ่ม ผลักดัน และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดยเฉพาะด้านการปลูกจิตสำนึกและการป้องกัน ไม่ว่า จะเป็นการขับเคลื่อนให้ใช้หลักสูตร “โตไปไม่โกง” ในโรงเรียนทั่ว ประเทศการสร้าง “สำนึกไทย ไม่โกง”แก่ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ การออกพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยให้การดำเนินงานของภาคธุรกิจเอกชนเมื่อต้องขออนุมัติหรือใบอนุญาตจากภาครัฐมีความรวดเร็วและเที่ยงธรรม รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทาง อิเลกทรอนิกส์ต่างๆ หรือแม้แต่ในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ก็มีกลไกพิเศษหลายอย่างที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะ
สิ่งสำคัญที่จะทำ ให้การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้ผลอย่างยั่งยืนนั้นคนในสังคมต้องมีค่านิยมที่ถูกต้อง ซึ่งควรปลูกฝังและสร้างการรับรู้ค่านิยมที่ถูกต้องตั้งแต่วัยเด็กผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีสื่อก็ต้องช่วยกระตุ้นและตอกย้าให้คนในสังคมรับรู้ซึมซับอย่างสม่ำเสมอ”