ทำคดีรวดเร็วขึ้น สภาฯ เตรียมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ค้ามนุษย์ ศุกร์นี้
สมาชิกสนช. เชื่อร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ ช่วยให้การพิจารณาคดีค้ามนุษย์รวดเร็วขึ้น เพราะเปลี่ยนจากกล่าวหาเป็นการไต่สวน ยันไทยได้พยายามแก้ไขเต็มที่แล้ว
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ…จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระรับหลักการในวันศุกร์ที่ 29 มกราคมนี้ โดยสภาต้องเร่งพิจารณากฎหมายนี้ เพราะรัฐบาลต้องการปลดล็อคการพิจารณา TIP Report (Trafficking in Persons Report) ซึ่งสหรัฐฯ จะประเมินไทยในครั้งต่อไปในช่วงเวลา 1 มีนาคม 2558- 31 มีนาคม 2559 และจะรายงานในเดือนกรกฎาคม (เทียบเคียงจากปีก่อน) ที่ลดอันดับไทยเหลือ Tier3
"กฎหมายการค้ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งในการประเมิน สภาจึงต้องเร่งทำงานทั้งที่ไม่แน่ใจว่าผลสุดท้ายจะช่วยได้หรือไม่"
นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า ร่างพ.ร.บ.นี้จะช่วยให้การพิจารณาคดีค้ามนุษย์รวดเร็วขึ้น เพราะเปลี่ยนจากกล่าวหาเป็นการไต่สวน โดยให้ผู้พิพากษาเป็นผู้แสวงหาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไม่จำกัดเฉพาะข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่คู่กรณียื่นหรือเสนอต่อศาลเท่านั้น เหมือนคดีปกครอง และร่างพ.ร.บ.นี้กำหนดให้มีการพิจารณาเพียง 2 ชั้นศาลเท่านั้นคือศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ ส่วนชั้นฎีกานั้นจะเป็นการอนุญาตโดยองค์คณะผู้พิพากษา ไม่ใช่สิทธิในการยื่นฎีกาเหมือนในอดีต และขณะนี้คดีแพ่งทั้งหมดและคดีในศาลชำนัญพิเศษอื่นๆก็มีการแก้ไขกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว
"การสืบพยาน การไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดีที่ไม่อาจนำพยานมาเบิกความในศาล อาจใช้วิธีประชุมทางจอภาพจากสถานที่อื่นทั้งในประเทศหรือต่างประเทศได้" นพ.เจตน์ กล่าวและว่า ศาลมีอำนาจในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวแต่จะต้องคำนึงถึงความผิดว่ามีลักษณะเป็นเครือข่ายหรือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติหรือเป็นผู้มีอิทธิพลหรือเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ โดยจะต้องกำหนดมาตรการป้องกันเช่นใช้อุปกรณ์อีเล็คโทรนิกส์ติดตามตัว(EM)เพื่อจำกัดการเดินทางและกำหนดตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
รวมถึงมีการกำหนดค่าสินไหมทดแทนผู้เสียหายตามกฎหมาย โดยผู้พิพากษาอาจสั่งให้จำเลยจ่ายเพิ่ม และในกรณีมีการกระทำการุณกรรม หน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำร้ายร่างกายหรือกดขี่ข่มเหงอย่างร้ายแรง ศาลอาจสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นได้ตามที่เห็นสมควร
ในการดำเนินคดีนี้ นพ.เจตน์ กล่าวด้วยว่า มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และไม่มีการกำหนดเวลาในการพ้นโทษตามคำพิพากษาในกรณีที่หลบหนีหลังคำพิพากษา (ป.อาญา ม.98)
"ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ในกรณีจำเลยป่วยหรือมีเหตุจำเป็นอื่น หรือจำเลยเป็นนิติบุคคลแต่ยังจับตัวผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลไม่ได้ หรือจำเลยมาปรากฎตัวต่อศาลแล้วแต่ได้หลบหนีไป หรือจำเลยขัดขวางการพิจารณาหรือออกจากห้องพิจารณาไปโดยไม่ได้รับอนุญาต"
ส่วนจะช่วยปลดTier3หรือไม่นั้น นพ.เจตน์ กล่าวว่า ก็ไม่ทราบ แต่ถือว่าไทยได้พยายามแก้ไขเต็มที่แล้ว ถ้ายังคงอันดับเดิมก็ถือว่าเป็นเรื่องทางการเมืองแล้ว ต้องปล่อยให้สังคมโลกเป็นผู้พิจารณาและประณามแทนเรา
ภาพประกอบ:http://www.chula.ac.th/calendar/index.php/calendar/view/387-20150515?refer_date=1431622800