เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ค้านประกาศคุ้มครองสิ่งเเวดล้อม เอื้อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
เครือข่ายปกป้องอันดามัน บุกกระทรวงทรัพย์ฯ ค้านประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ฉบับใหม่ หลังพบเอื้อต่อการเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 เวลาประมาณ 10.00 น. บริเวณหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน นำโดยนายประสิทธิชัย หนูนวล อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืน คัดค้าน การประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ฉบับใหม่ หลังพบว่าเอื้อให้ กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยรายละเอียดในแถลงการณ์มีดังนี้
1. พื้นที่ปากแม่น้ำกระบี่มีความสำคัญยิ่งทั้งในระดับประเทศและระดับโลกโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2543 เห็นชอบให้พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติในลำดับที่ 4ของประเทศเป็นลำดับที่ 1100 ของโลก มีเนื้อที่ประมาณ 133,120ไร่ ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของอนุสัญญา และมีผลบังคับใช้ตามพันธกรณีอันเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศคือประเทศภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3พฤศจิกายน 2552ให้ความเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการปกป้องคุ้มครองและรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ มิให้ผู้ใด หน่วยงานใด เข้าไปบุกรุก ทำลาย ทำให้เสียประโยชน์หรือกระทบต่อความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ
2. พื้นที่ปากแม่นำ้กระบี่ได้รับความสำคัญโดยการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่15มีนาคม พ.ศ. 2550 เมื่อประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องดำเนินการกำหนดมาตรการเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่กลับละเลยการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและปล่อยให้มีการแก้ไขข้อความเปิดทางให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว การตัดสินใจให้มีการเปลี่ยนแปลงสาระของกฎหมายพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่โดยการยินยอมให้มีการสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นการกระทำซึ่งถือเป็นการละเมิดเจตนารมณ์อย่างร้ายแรงที่มีต่ออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติและกฎหมายคุ้มครองพื้นที่สิ่งแวดล้อม เพราะกิจการที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการขนส่งถ่านหินได้รับการพิสูจน์ในทางวิชาการและปฏิบัติจากจากทั่วโลกว่าเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์อย่างยิ่ง
3. เขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ประกาศเมื่อ 17 มีนาคม 2550มีระยะเวลาการบังคับใช้ 5 ปีและสิ้นสุดลงเมื่อปี 2555 หลังจากนั้นมากระบวนการประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการปฏิบัติเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง๕ปี เป็นช่วงเวลาที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพยายามทำงานมวลชนและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม/การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EIA/EHIA เพื่อนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่ต้องคำนึงถึงพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและเมื่อปรากฎร่างพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะประกาศใช้กลับปรากฎข้อความเปิดทางให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ มีข้อสังเกตว่าทั้งช่วงเวลาที่ไม่ประกาศและเนื้อหาการประกาศใหม่กลับสอดคล้องต้องกันเพื่อเอื้อให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น คำถามคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังคิดอะไรอยู่?
4. หากรัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ทำหน้าที่ในการรักษาสิ่งแวดล้อมก็ขอให้พิจารณาตัวเองไปทำหน้าที่ในกระทรวงอื่น เพราะประเทศนี้ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือเฟือให้พวกคุณทำลายได้อีกต่อไป เจตนาอันส่อไปในทางทำลายสิ่งแวดล้อมนี้เราไม่สามารถรับได้และเราจะปกป้องพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจำนวนแสนกว่าไร่อย่างถึงที่สุด
5. เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจึงขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้โดยเร็วที่สุดและปราศจากข้อความที่เปิดโอกาสให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมอันตรายดำเนินการได้ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยทางผู้แทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจะรอคำตอบที่กระทรวงฯจนกว่าท่านรัฐมนตรีจะนำข้อเรียกร้องไปปฏิบัติ ทั้งนี้ข้อเรียกร้องดังกล่าวกระทรวงไม่ควรให้ประชาชนมาเรียกร้องเพราะเป็นหน้าที่โดยตรงที่ต้องกระทำ และตอนนี้เรามาเรียกร้องขอให้ปฏิบัติหน้าที่หากยังไม่กระทำแสดงว่าส่อเจตนาไปในทางไม่สุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
6. ทำไมความถูกต้องชอบธรรม ต้องแลกมาด้วยการต่อรอง เรียกร้อง ประท้วง ตลอดมา
ทั้งนี้เมื่อเวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาเจรจากับเครือข่ายฯ โดยมีการพูดคุยกับทางแกนนำเครือข่ายฯว่า ยังไม่เคยเห็นร่างนี้ อีกอย่าง สผ.เพิ่งส่งเอกสารร่างมาเมื่อวาน ส่วนร่างที่มีการแก้ไขให้สร้างโรงไฟฟ้าได้นั้น กระทรวงพลังงานเป็นคนต้องการแก้
ด้านแกนนำเครือข่าย เผยว่า ร่างประกาศที่มีการแก้ไขนี้ออกมาตั้งแต่เดือนตุลา 2558 และ ทางเครือข่ายพยายามที่จะขอเข้าพบ รัฐมนตรีเพื่อคุย แต่โดนเลื่อนนัดมาถึงวันนี้
"พวกเราจึงต้องมาที่นี่ และก็ได้รู้ความจริงว่า ทั้ง สผ. และ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรง ยังนิ่งเฉยต่อหน้าที่ตัวเองในการปกป้องทรัพยากรของแผ่นดิน”
และเมื่อเวลา 14.20 น. ทางพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้เรียกตัวแทนเครือข่ายฯ เข้าพบพูดคุยในประเด็นดังกล่าว
ต่อมา หลังจากการพูดคุย ทางผู้ประสานงานครือข่ายฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางรัฐมนตรียอมรับว่าตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเพิ่งมารับตำแหน่ง แต่อย่างไรก็ตามจะรับปากจะดำเนินการให้เร็วที่สุดและจะรีบพูดคุยกับทาง กฟผ. และ กระทรวงพลังงาน เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ โดยนัดหมายทางเครือข่ายฯ เป็นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 นี้
ล่าสุดทางเครือข่ายฯประกาศหยุดการดำเนินกิจกรรม บริเวณด้านหน้ากระทรวงทรัพยฯ โดยจะกลับไปรอผลการดำเนินงานและจะมาติดตามในวันเวลาที่กำหนดอีกครั้ง
ภาพประกอบ:เพจหยุดถ่านหินกระบี่