ข้อเท็จจริงเรื่อง"ไอเอสเข้าไทย"
สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวที่เปิดประเด็นจากเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา คือ ข่าวบุคคลต้องสงสัยที่อาจเชื่อมโยงกับ “กลุ่มรัฐอิสลาม” หรือ “ไอเอส” เข้าไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปพบปะกับผู้นำศาสนา และมีการบริจาคเงินเพื่อแลกกับการให้ช่วยสอนนักเรียนในเรื่อง “รัฐอิสลาม”
ข่าวนี้เมื่อเผยแพร่สู่สาธารณะและมีการนำไปสอบถามจากคนในรัฐบาล ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง ปรากฏว่ามีการนำไปรายงานต่อจนเกิดความสับสน จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้
1.ข่าวเกี่ยวกับบุคคลต้องสงสัยที่อาจเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส เข้าไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น วันแรกทั้งนายกรัฐมนตรี และแม่ทัพภาคที่ 4 ออกมายอมรับว่ามีข่าวจริง ถัดจากนั้นในวันรุ่งขึ้น ทุกหน่วยพากันออกมาให้ความเห็นใหม่ ยืนยันว่าไม่มีบุคคลต้องสงสัยเข้าไปในพื้นที่ชายแดนใต้
2.มีการรายงานข่าวจากสื่อบางแขนงโดยอ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรีว่า มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส และเกี่ยวพันกับเหตุโจมตีที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 ม.ค.59 ได้ที่จังหวัดนราธิวาส
ข่าวนี้ผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยทั้งในพื้นที่และในส่วนกลาง ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และต้นตอข่าวก็ไม่มีอยู่จริง มีเพียงข้อเท็จจริงตามข้อ 1 เท่านั้น ไม่มีเรื่องการจับกุมผู้ต้องสัยโยงไอเอส หรือเกี่ยวพันกับเหตุโจมตีที่จาการ์ตาแต่อย่างใด
สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ ข่าวแรก “มีมูล” ส่วนข่าวที่ 2 นั้น “มั่ว”
อย่างไรก็ดี การที่ต่อมาในภายหลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาปฏิเสธว่าข่าวแรกก็ไม่มีมูลนั้น พอเข้าใจได้ว่าเป็นแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังมั่นคงปลอดภัย ปลอดจากภัยคุกคามของกลุ่มรัฐอิสลาม
การให้ความเชื่อมั่นเช่นนี้ จะว่าไปก็ไม่ผิด ด้วยเหตุผลไม่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวตื่นตระหนก แต่นั่นต้องหมายความว่ามาตรการที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอยู่ ต้องรองรับปัญหาได้จริง เพราะหากวันใดเกิดเหตุขึ้นมา ทั้งๆ ที่เพิ่งนั่งยัน นอนยันว่าไม่มี ถึงวันนั้นความเชื่อมั่นจะยิ่งตกวูบ
เรื่องไอเอสเข้าไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างวิเคราะห์กันไป ฝ่ายที่เชื่อว่าจริงก็มีเหตุผลสนับสนุนความเป็นไปได้ ส่วนฝ่ายที่เชื่อว่าไม่จริง ก็มีเหตุผลมาอธิบายรองรับ
อย่างนักวิชาการบางท่านที่เชี่ยวชาญปัญหาปลายด้ามขวาน ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่กลุ่มไอเอสจะเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีอุดมการณ์ต่างกัน
การวิเคราะห์ของนักวิชาการท่านนั้น ฟังดูแล้วก็ไม่ผิด เพราะปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาเฉพาะของ “ชาติพันธุ์มลายูมุสลิม” กับ “รัฐไทย” เพียงแต่ขอยืมวิธีการต่อสู้แบบ “ก่อการร้ายในเมือง” มาใช้
แต่ท่านอาจลืมนึกไปว่า สิ่งที่ท่านประเมินคือขบวนการก่อเหตุรุนแรง “กระแสหลัก” ที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ปลดแอกชาติพันธุ์มลายูในนามรัฐปาตานีเท่านั้น ยังไม่รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่อาจแอบแฝงเรื่องผลประโยชน์ เช่น กลุ่มค้ามนุษย์ ซึ่งเชื่อมกับบางชาติพันธุ์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้กระแสหลัก แต่ใช้พื้นที่ชายแดนใต้เป็นทางผ่านและแหล่งพักพิง
อาทิเช่น กลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญา และอุยกูร์!
มีข้อมูลการข่าวบางส่วนจากอินโดนีเซียที่แลกเปลี่ยนกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้พื้นที่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางผ่านในการอพยพ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส ในลักษณะประสานความช่วยเหลือในแง่ของการฝึกการสู้รบ
ขณะที่การประกาศสวามิภักดิ์กับกลุ่มไอเอสจากกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงบางกลุ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเหตุผลเคลือบแฝงในเรื่อง “ทุนสนับสนุน”
เพราะไอเอสมีเงินทุนมหาศาลจากการค้าน้ำมันในดินแดนตะวันออกกลางบางส่วนที่เข้าไปยึดครอง และยังมีท่อน้ำเลี้ยงจากเงินบริจาคโดยผู้ที่สนับสนุนแนวทางและอุดมการณ์ของไอเอสจากทั่วโลกด้วย
ฉะนั้นการจะปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงแบบ “ปิดประตูตาย” ว่าไม่มีทางที่ไอเอสจะเข้าไปเชื่อมกับกลุ่มบางกลุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือไม่เข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอน จึงอาจเป็นการ “ด่วนสรุป” เกินไปหน่อย
ที่สำคัญการแพร่อุดมการณ์ของไอเอส ใช้ “โซเชียลมีเดีย” เป็นพาหะ จนทำให้เกิดผู้ก่อการรายแนวใหม่ที่เรียกว่า “โลน วูลฟ์” หรือแปลเป็นไทยว่า “หมาป่าเดียวดายออกล่าเหยื่อ” รวมทั้ง “Bedroom Terrorist” หรือ ผู้ที่รับอุดมการณ์ก่อการร้ายจากในห้องนอน ซึ่งหมายถึงพวกที่กันตัวเองออกจากสังคม แล้วรับอุดมการณ์ความรุนแรงผ่านทางโซเชียลมีเดีย จากนั้นก็เรียนรู้วิธีการก่อเหตุเพื่อระบายความอัดอั้นคับแค้นด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีใครสั่ง และไม่ต้องมีขบวนการใดๆ รองรับ
ถามว่าเราจะรับมือผู้ก่อการร้ายประเภท “โลน วูลฟ์” ได้อย่างไร?
แวดวงความมั่นคงเรียกภัยคุกคามประเภทนี้ว่า Unknown Threat หรือ ภัยคุกคามในแบบที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ เพราะกระทำโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่คาดไม่ถึงมาก่อน และไม่มีข้อมูลการข่าวให้ติดตาม
กรณีตัวอย่างที่เกิดกับไทย แม้ไม่ตรงกับ “โลน วูล์ฟ” มากนัก แต่ก็เรียกได้ว่าเป็น Unknown Threat นั่นก็คือ เหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อ 17 ส.ค.58 เพราะทันทีที่เกิดเสียงตูมสนั่นหน้าศาลท้าวมหาพรหม หน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วยพากันหน้ามืด เพราะแทบไม่มีการแจ้งเตือนมาก่อนเลย
ฉะนั้นการช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยคุกคามแบบ Unknown Threat จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ใช่การให้ความมั่นใจแบบผิดๆ ว่าประเทศเราเป็นสยามเมืองยิ้ม เป็นมิตรกับทุกประเทศ จึงไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
แต่สถานการณ์ในบ้านเรา ณ ขณะนี้ อยากให้ คสช.และรัฐบาลไปดูตามจุดตรวจเช็คผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน บนดิน จะได้เห็นด้วยตาว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่นำพา ไม่ร่วมมือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋า เป้ หรือสัมภาระ บางรายเดินผ่านไปเฉยๆ บางรายแสดงท่าทีรำคาญ ซ้ำร้ายอีกหลายรายโวยวายด่าทอ
ขณะที่พนักงานของรถไฟฟ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมาย จึงทำได้แค่ขอความร่วมมือ
ทั้งๆ ที่ความตระหนักรู้และความเสียสละของประชาชนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ยอมลดความสะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ ต่างหาก คือมาตรการเฝ้าระวังการก่อการร้าย หรือภัยที่มองไม่เห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ถามว่าวันนี้คนไทยตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ และภัยใกล้ตัวที่กำลังคืบคลานเข้ามาแล้วหรือยัง?
การพยายามปิดกั้นข่าวสารและการรับรู้โดยอ้างเหตุผลทางความมั่นคงและภาพลักษณ์ประเทศต่างหากที่เป็นเรื่องตลกร้ายในสังคมบ้านเรา!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์ International Business Times จากเรื่อง ISIS Clothing For Sale As Indonesian Retailers Cash In On Iraq CrisisISIS Clothing For Sale As Indonesian Retailers Cash In On Iraq Crisis
หมายเหตุ : บทความเนื้อหาใกล้เคียงกันนี้ ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 25 ม.ค.59 ด้วย