นักวิจัยนโยบายสื่อ ชี้ กสทช. เสี่ยงทำผิดกม.ยกคลื่น98.5Mhz ให้เอกชน
นักวิจัย NBTC Policy Watch ชี้ กสทช. เสี่ยงผิดกฎหมายและหลักพันธกิจ กรณีดำเนินกิจการ วิทยุ 1 ปณ. แนะจะปฏิรูปคลื่นความถี่ได้ ต้องเร่งนำคลื่นในมือรัฐกลับมาจัดสรรโดยเร็วที่สุด พร้อมยื่นเสนอ 7 ข้อต่อ กสทช.
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) จัดแถลงรายงานหัวข้อ "กสทช. กับการดำเนินการกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. : บทวิเคราะห์ความถูกต้องในแง่กฎหมายและความสอดคล้องกับพันธกิจของ กสทช.” โดยจัดขึ้น ณ ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์
โดย อ.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยประจำโครงการ NBTC Policy Watch กล่าวถึงการดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ของ กสทช.นั้นมีปัญหาในแง่ของกฎหมายและความสอดคล้องกับพันธกิจของกสทช. ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐจำนวนหนึ่งที่ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายถือครองคลื่นอยู่ รวมไปถึงกองทัพที่เป็นผู้ถือครองรายใหญ่กว่า 200 คลื่นทั่วประเทศ โดยมองว่า กองทัพไม่มีความจำเป็นที่จะครอบครองในอัตราที่มากขนาดนั้น
นักวิจัยประจำโครงการ NBTC Policy Watch กล่าวว่า หาก กสทช.มีความมุ่งมั่นในการปฏิรูปคลื่นความที่จริง ต้องเรียกคืนคลื่นทั้งหมดมาจัดสรรใหม่ ให้มีการประมูลในระบบใบอนุญาต อย่างเป็นธรรม และเพื่อให้คลื่นความถี่อันเป็นทรัพยกรของประชาชนถูกใช้อย่างเต็มที่
อ.วรพจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่สำนักงาน กสทช. นำคลื่นความถี่ 98.5Mhz (กรุงเทพฯ) ไปให้เอกชนรายใหม่อย่างบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค มัลติมีเดีย จำกัด ใช้ในรูปแบบแบ่งเวลาเพื่อดำเนินรายการร้อยละ 40 และ รับจ้างผลิตอีกร้อยละ 60 โดยอ้างหลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ พ.ศ.2556 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะประกาศฉบับนี้ไม่ได้มุ่งใช้กับหน่วยงานรัฐที่มีสิทธิใช้คลื่นต่อชั่วคราวในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ใบอนุญาต แต่เป็นการมุ่งใช้กับผู้รับใบอนุญาตใหม่ตามระบบใบอนุญาตเท่านั้น
"ในแง่ของวัตถุประสงค์ของการแบ่งเวลาคือการให้โอกาสกับผู้ผลิตรายเล็กเป็นหลัก ซึ่งไม่มีเงินที่จะไปประมูลคลื่นความถี่ หรือมีสถานีของตัวเอง ได้มีโอกาสใช้ช่วงเวลาเหล่านั้นในการจัดการ ไม่ใช่ให้หน่วยงานนำมาเพื่อใช้อ้างให้เอกชนรายเดียวเข้ามาจัดการเนื้อหาในผังทั้งหมด สิ่งนี้ถือว่าทำผิดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน"
ในส่วนกรณีการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 ที่ระบุให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาในการให้หน่วยงานรัฐคืนคลื่นความถี่ภายใน 2 ปี อ.วรพจน์ กล่าวว่า ทาง กสทช. ยังไม่ได้จัดทำแผนคลื่นวิทยุสำหรับกิจการกระจายเสียง ซึ่งล่วงมา 4 ปี ทำไมยังทำไม่ได้ การไม่มีตรงนี้จะเป็นการทำผิดตามกฎหมายหรือไม่ เพราะผลลัพธ์ที่ชัดเจนคือทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่ล่าช้าออกไป และต่อให้มีการเรียกคืนคลื่นความถี่ในตอนนี้ ก็ไม่สามารถจัดสรรได้ เพราะยังขาดแผนดังกล่าว
ทั้งนี้ การที่ กสทช.ขาดแผน นอกจากจะส่งผลต่อความล่าช้าในการจัดสรรแล้ว ยังส่งผลเสียหายตามมา เช่น กรณี 1 ปณ. ที่ยังไม่มีการแสดงความจำนงในการคืนคลื่น ทำให้หน่วยงานรัฐอื่น ใช้อ้างในการถือครอบครองคลื่นความถี่ต่อไป และการที่ 1 ปณ. ที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนเป็นสาธารณะ หน่วยงานรัฐก็จะเอาไปเป็นแบบอย่างข้ออ้าง รวมกรณี 98.5 หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่มีคลื่นในครอบครอง อาจเอาไปเป็นแบบอย่างในการแบ่งให้เอกชนได้เช่นเดียวกัน และดูแนวโน้มที่เมื่อถึงระยะเวลาสูงสุดในการคืนคลื่น ที่กำหนดไว้ 5 ปี คิดว่าน่าจะไม่มีหน่วยงานใดยื่นจำนงแน่นอน
ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรมและก่อให้เกิดการปฏิรุปคลื่นความถี่อย่างแท้จริง อ.วรพจน์ จึงยื่นขอเสนอเชิงนโยบาย ต่อ กสทช. มีดังนี้
1. แสดงเจตจำนงในกการคืนคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ทั้งหมดทันที
2. ดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. ในรูปแบบการบริการสาธารณะ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ของ กสทช.
3. เร่งจัดทำแผนความถี่วิทยุกระจายเสียงเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดสรรคลื่นใหม่
4. เรียกคลื่นความถี่ที่หน่วยงานรัฐให้เอชนใช้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับมาจัดสรรใหม่ทันที
5. เร่งพิจารณาความจำเป็นและกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ.ให้เร็วที่สุด
6. หากไม่สามารถกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ก่อนระยะเวลาสูงสุดคือ 5 ปี ทาง กสทช. ต้องออกมาเปิดเผยถึงงบประมาณที่สูญเสียไปทั้งหมดในกระบวนการพิจารณาความจำเป็นและความชอบด้วยกฎหมาย
7. เปิดเผยเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค มัลติมีเดีย จำกัด ได้รับแบ่งเวลาและรับจ้างผลิตรายการและตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการทำสัญญาดังกล่าว รวมถึงต้องเปิดเผยคำชี้แจงว่า เหตุใดถึงไม่แบ่งเวลาให้กับหน่วยงานที่แสดงความจำนงก่อนหน้า