อัยการนราธิวาส : ความเป็นธรรมในมุมที่ไม่ถูกมอง
ต้องยอมรับว่าบางทีเสียงวิจารณ์หรือความรู้สึกในแง่ลบของบางเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นเพราะผู้วิจารณ์ยังติดอยู่กับข้อมูลเก่าๆ หรือภาพลักษณ์เก่าๆ ทั้งที่บางเรื่องได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่มักไม่ค่อยมีคนพูดถึง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของหน่วยงานภาครัฐหรือส่วนราชการ
หลายหน่วยเป็นเช่นนั้น แม้แต่ทหาร ขณะที่บางหน่วยงานก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเงียบๆ เพราะบทบาทอาจจะไม่โดดเด่นฉูดฉาดหรือถูกสร้างภาพให้เป็น "พระเอก" อย่างเช่นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมหน่วยหนึ่งที่มีเสียงดังค่อนข้างน้อยในบริบทปัญหาชายแดนใต้ นั่นก็คือ "อัยการ"
อาจเป็นวัฒนธรรมของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมด้วยที่มักไม่ค่อยให้ข่าว เนื่องจากติดยึดกับข้อกฎหมายที่ห้ามเปิดเผยข้อเท็จจริงในสำนวน และนั่นก็อาจนำมาสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่อง "ความไม่เป็นธรรม" ที่พูดกันเสียงดังฟังชัดอยู่บ่อยครั้งผ่านสื่อหรือเวทีสัมมนาต่างๆ
ตัวเลขที่มักหยิบยกมาอ้างกันก็คือ "คดียกฟ้องเยอะ" แปลว่ากระบวนการยุติธรรมไม่อาจให้ความเป็นธรรมได้ ซึ่งโดยนัยหมายถึงกระบวนการยุติธรรมชั้นก่อนฟ้อง แต่ในทางทฤษฎีก็อาจมองอีกมุมหนึ่งได้ว่ากระบวนการยุติธรรมยังทำงาน ถ้าส่งสำนวนอะไรไปแล้วศาลลงโทษหมดสิน่ากลัว
และหากมองให้ลึกลงไปกว่านั้นถึงสถิติการฟ้องและคำพิพากษา นั่นก็ไม่ได้เป็นมาตรวัดทั้งหมดว่ามีความเป็นธรรมอยู่เท่าไหร่ เพราะในขั้นตอนของ "อัยการ" ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่าง "พนักงานสอบสวน" กับ "ศาล" ก็มีช่องทางการให้ความเป็นธรรมได้ด้วยเช่นกัน
ด้านหนึ่งคือสั่งไม่ฟ้องคดี หากเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดได้
อีกด้านหนึ่งคือให้ประกันตัว หรืออนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
แต่กระนั้น หากดูสถิติเฉพาะคดีที่ยื่นฟ้อง ก็ไม่ได้ย่ำแย่ถึงขนาดศาลยกฟ้องกว่าครึ่งหรือเกือบทั้งหมดตามที่ถูกวิจารณ์กันบ่อยๆ
โสภณ ทิพย์บำรุง อัยการจังหวัดนราธิวาส เปิดใจกับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงมุมมองความเป็นธรรมและการอำนวยความยุติธรรมในบริบทปัญหาชายแดนใต้ในมิติที่อาจไม่ค่อยมีใครมองเห็น
อัยการโสภณ อธิบายว่า จากสถิติการสั่งฟ้องของอัยการจังหวัดนราธิวาสและคำพิพากษาของศาลที่เขาเก็บรวบรวมทำเป็นข้อมูลเอาไว้ ชัดเจนว่าตัวเลขไม่ได้ย่ำแย่ขนาดที่พูดกัน กล่าวคือ
ปี 2547 สั่งฟ้อง 3 คดี ศาลพิพากษาลงโทษ 1 คดี ยกฟ้อง 1 คดี
ปี 2548 สั่งฟ้อง 14 คดี ศาลพิพากษาลงโทษ 7 คดี ยกฟ้อง 7 คดี
ปี 2549 สั่งฟ้อง 19 คดี ศาลพิพากษาลงโทษ 13 คดี ยกฟ้อง 6 คดี
ปี 2550 สั่งฟ้อง 20 คดี ศาลพิพากษาลงโทษ 18 คดี
ปี 2551 สั่งฟ้อง 138 คดี ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว 31 คดี ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
ปี 2552 สั่งฟ้อง 43 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณา 21 คดี ศาลพิพากษาลงโทษแล้ว 3 คดี ยกฟ้อง 19 คดี
“รวมๆ แล้วคดีที่ศาลลงโทษน่าจะเกินครึ่ง ที่สำคัญคือเราออกคำสั่งไม่ฟ้องเยอะ ซึ่งเท่ากับเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหา" อัยการจังหวัดนราธิวาส กล่าว
อัยการโสภณ บอกต่อว่า การพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคดีก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อัยการดูเลยไปกว่าเรื่องมีมูลหรือไม่มีมูล เพราะอัยการสูงสุดไม่มีนโยบายให้ฟ้องผู้ต้องหาไว้ก่อน
"ฉะนั้นคดีที่ส่งมาที่เรา จึงมีสถิติสั่งไม่ฟ้องเยอะ อย่างปี 2550 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนมา 73 เรื่อง สั่งไม่ฟ้อง 20 เรื่อง สั่งฟ้อง 52 เรื่อง ปี 2553 ส่งสำนวนมา 46 เรื่อง สั่งไม่ฟ้อง 22 เรื่อง" เขายกตัวอย่าง
นัยยะจากการยกตัวอย่างของอัยการโสภณก็คือ การอำนวยความยุติธรรมนั้นไม่ใช่ดูแค่ศาลพิพากษายกฟ้องหรือลงโทษ แต่อัยการก็มีส่วนในการอำนวยความยุติธรรมด้วย และสังคมควรรับรู้ว่าการพิจารณาสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องของอัยการก็เป็นการอำนวยความยุติธรรมรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน เพราะหากพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง อัยการก็สั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาก็เป็นอิสระ
"อัยการเราไม่ได้ใช้ดุลยพินิจแค่ว่าคดีมีมูลหรือไม่ หรือพยานหลักฐานพอฟ้องหรือไม่ แต่ดูลึกไปถึงพยานหลักฐานในสำนวนว่าพอพิสูจน์ความผิดได้หรือไม่" เขาย้ำ
อัยการโสภณ กล่าวอีกว่า คดีแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น คดีที่ส่งตัวผู้ต้องหามาพร้อมสำนวน (รู้ตัวผู้กระทำผิดและจับกุมได้) เรียกว่า คดี ส.1, คดีที่มิได้ส่งตัวผู้ต้องหามาพร้อมสำนวน (รู้ตัวผู้ต้องหาแต่จับกุมยังไม่ได้) เรียกว่า คดี ส.2 หรือคดีไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด เรียกว่าคดี ส.3 คดีประเภทหลังนี้พนักงานสอบสวนอาจส่งสำนวนมาพร้อมความเห็นควรงดการสอบสวน เพราะไม่มีช่องทางรู้ตัวผู้ต้องหาได้เลย แต่ไม่ได้หมายความว่าหยุดทำงาน และปิดคดี เพราะถ้าต่อมารู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือรู้ข้อเท็จจริงที่โยงมาจากคดีอื่น ก็สามารถหยิบมาสอบสวนต่อได้ทันที
การให้ความเป็นธรรมในอีกบริบทหนึ่งที่พูดถึงกันมาก ก็คือการให้ประกันตัวผู้ต้องหา หรือที่เรียกภาษากฎหมายว่า "ปล่อยชั่วคราว" ซึ่งกระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้ถูกวิจารณ์อย่างหนักตลอดมาว่ากักขังผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเอาไว้กว่า 500 คนโดยไม่ให้ประกัน ประเด็นนี้ อัยการโสภณ บอกว่า ขั้นตอนอื่นไม่ทราบ แต่สำหรับในชั้นอัยการ โดยเฉพาะ จ.นราธิวาสที่เขารับผิดชอบ มีนโยบายชัดเจนคือ "ให้ประกันเป็นหลัก ไม่ให้ประกันเป็นข้อยกเว้น"
"ผมปฏิบัติตามกฎหมายที่ระบุไว้ชัดว่าถ้าผู้ต้องหาไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือข่มขู่พยาน ก็จะสั่งถอนประกันทันที แต่ถ้าไม่มีพฤติการณ์ดังกล่าว ก็ต้องให้ประกัน ที่ผ่านมาผมเคยสั่งถอนประกันมาแล้ว เพราะผู้เสียหายร้องว่าถูกข่มขู่ และได้ไต่สวนแล้วพบว่ามีมูลความจริง"
อัยการโสภณ ย้ำด้วยว่า การอนุญาตให้ประกันหรือไม่ให้ประกัน ไม่เคยคำนึงถึงความเป็นพุทธหรือมุสลิม โดยเฉพาะในกรณีของเขาพยายามให้ประกันทั้งหมด แต่ในชั้นศาลต้องขึ้นกับดุลยพินิจของศาลด้วย
ต้องยอมรับว่า จ.นราธิวาส มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย ทำให้มีคดีที่น่าสนใจซึ่งสังคมเฝ้าจับตาอยู่หลายคดี และหนึ่งในนั้นก็คือ "คดีไอร์ปาแย" หรือคดีคนร้ายบุกใช้อาวุธสงครามกราดยิงชาวบ้านถึงในมัสยิดอัลฟุรกอน ที่บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 คน บาดเจ็บอีก 12 คน เหตุเกิดเมื่อค่ำวันที่ 8 มิ.ย.2552
ปัจจุบันคดีนี้ยื่นฟ้องไปเรียบร้อยแล้วโดยอัยการจังหวัดนราธิวาส จำเลยมี 1 คน คือ นายสุทธิรักษ์ หรือ "จุ๋ม" คงสุวรรณ ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 17 พ.ค.2555
"คดีไอร์ปาแยนี้กองปราบสั่งไม่ฟ้อง อัยการจึงสั่งสอบสวนเพิ่ม 11 ประเด็น เนื่องจากคดีนี้มีความสำคัญ ประชาชนให้ความสนใจ และส่งให้อธิบดีอัยการเขตร่วมพิจารณา สรุปคือสั่งฟ้อง 2 ข้อหา ได้แก่ข้อหาฆ่าและพยายามฆ่า สั่งไม่ฟ้องเฉพาะข้อหามีและพาอาวุธปืนไม่มีทะเบียน เพราะคดีนี้ตำรวจไม่ได้ยึดอาวุธปืนของกลาง จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหา"
อัยการโสภณ บอกว่า นโยบายของอัยการสูงสุดชัดเจน คือกรณีคดีสำคัญ ถ้าอัยการจังหวัดมีคำสั่งไม่ฟ้องบางข้อหา ต้องเสนอให้อธิบดีอัยการเขตพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดความรอบคอบที่สุด ซึ่งก็เห็นได้อย่างชัดเจนในคดีไอร์ปาแย แต่กลับมีข่าวลือในพื้นที่ว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี
"ปัญหาภาคใต้บานปลายเพราะเราพูดความจริงกันไม่หมด หรือพูดความจริงแค่ครึ่งเดียว ผมเชื่อว่าถ้าเราพูดความจริงทั้งหมด จะทำความเข้าใจกับชาวบ้านได้ แต่ถ้ายังโกหกกันอยู่ อีก 10 ปีก็แก้ไม่ได้"
เขายังยกตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 อย่างคดีตากใบ (สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการใช้อาวุธในขณะนั้น และเสียชีวิตระหว่างการขนย้ายผู้ถูกจับกุมไปสอบปากคำรวม 85 ราย) ซึ่งอัยการโสภณมองว่า มีคดีเกิดขึ้นหลายคดี และมีความจริงหลายมิติ แต่บางฝ่ายกลับหยิบยกเพียงบางมุมมาพูดเท่านั้น
"ตอนที่เกิดเหตุการณ์ตากใบ ผมเป็นอัยการอยู่ที่ จ.ปัตตานี ได้ไปร่วมชันสูตรพลิกศพด้วยตัวเองที่ค่ายบ่อทอง (ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี) เพราะเป็นการตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ต้องมีอัยการและเจ้าหน้าที่นิติเวชร่วมชันสูตรด้วย ผมก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่"
"เหตุการณ์ตากใบมีคดีไต่สวนการตาย ฟังว่าเป็นการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน และยังมีคดีแพ่งที่มีการตกลงเรื่องค่าเสียหาย และยังมีคดีอาญาที่ยื่นฟ้องแล้วถอนฟ้อง คือคดีล้อมโรงพักตากใบ ในยุคที่ท่าน พชร ยุติธรรมดำรง เป็นอัยการสูงสุด ในรัฐบาลท่าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ท่านให้นโยบายให้อัยการพิจารณา หากดำเนินคดีต่อไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน หรือรังแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อไป ก็ควรถอนฟ้อง ฉะนั้นคดีมีหลายคดี ที่เราให้ความเป็นธรรมแล้วก็มี จึงควรพูดความจริงให้ครบด้วย"
อัยการโสภณ บอกทิ้งท้ายด้วยว่า ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หากกระบวนการยุติธรรมเข้มแข็งก็จะเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาได้
"ด้วยเหตุนี้อัยการสูงสุดจึงมีนโยบายชัดเจนว่า ผู้ที่จะทำหน้าที่อัยการจังหวัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเคยเป็นอัยการจังหวัดอื่นมาก่อน อย่างผมก็เคยอยู่ตรัง เพราะท่านเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมถ้าไม่เข้มแข็ง ถ้าอัยการไม่เข้มแข็ง และออกคำสั่งโดยรับแรงกดดันไม่ได้ จะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน"
นี่คือความเป็นธรรมในมิติของอัยการ...ความเป็นธรรมที่บางฝ่ายอาจไม่เคยพูดถึงหรือเหลียวมอง!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเว็บไซต์เครือเนชั่น