กสทช.เสี่ยงทำผิด กม.? ยกคลื่นวิทยุ 1 ปณ.ให้เอกชนบริหาร
หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) จัดแถลงรายงานในหัวข้อ “กสทช. กับการดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ.: บทวิเคราะห์ความถูกต้องในแง่กฎหมายและความสอดคล้องกับ พันธกิจของ กสทช.” ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยประจำโครงการฯ มีความเห็นดังนี้
การดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. นอกจากจะมีปัญหาในแง่ของกฎหมายและความสอดคล้องกับพันธกิจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นความล่าช้าในการปฏิรูปคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงในภาพรวม
แม้สำนักงาน กสทช. จะได้รับโอนกิจการสถานี 1 ปณ. มาตามบทบัญญัติในมาตรา 89 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แต่เนื่องจากไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายให้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและมีผลประโยชน์ทับซ้อนในฐานะองค์กรกำกับดูแล รวมถึงพันธกิจหลักของ กสทช. คือการนำคลื่นความถี่ในมือของหน่วยงานรัฐกลับมาจัดสรรใหม่อย่างเป็นธรรมและเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง
ดังนั้น สำนักงานกสทช. จึงควรแสดงเจตจำนงในการคืนคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุ 1 ปณ. ทั้งหมดทันที โดยระหว่างรอเตรียมความพร้อมในการจัดสรรคลื่นใหม่ สำนักงานฯ ควรดำเนินกิจการสถานีวิทยุ 1 ปณ. ในรูปของการบริการสาธารณะตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่และพันธกิจของ กสทช. และพัฒนาเพื่อเป็นต้นแบบให้กับการประกอบกิจการกระจายเสียงประเภทบริการสาธารณะ
ในประเด็นเรื่องการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายในสัญญาของสถานีวิทยุ 1 ปณ. นั้น เนื่องจากสัญญาอนุญาตให้เอกชนร่วมจัดรายการกับสถานีวิทยุ 1 ปณ. ทำขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2553 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 บังคับใช้แล้ว โดยมาตรา 80 ในกฎหมายห้ามมิให้มีการพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หรืออนุญาตให้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงเพิ่มเติม จึงถือเป็นการอนุญาตให้เอกชนใช้คลื่นความถี่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กสทช. จึงไม่ควรอนุญาตให้สำนักงานฯ ใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุ 1 ปณ. อีกต่อไป
นอกจากนั้น เมื่อตรวจสอบผลการพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุ 1 ปณ. พบว่า กสทช. ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่ชัดในการคืนคลื่นดังกล่าว ซึ่งสะท้อนความล้มเหลวในการทำตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 ที่ระบุให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้หน่วยงานรัฐคืนคลื่นความถี่ภายใน 2 ปี
ความล่าช้าในการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่เท่ากับเป็นการประวิงเวลาในการคืนคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงที่อยู่ในมือของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจให้ยืดออกไปสูงสุด คือ 5 ปีหลังจากแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่บังคับใช้ในเดือนเมษายน 2555 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง กสทช. ก็ต้องตอบคำถามว่า ทรัพยากรที่ใช้ไปสำหรับกระบวนการพิจารณาความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่นั้นถูกใช้ไปโดยไร้ความหมายหรือไม่ เพราะสุดท้ายคลื่นทั้งหมดที่ถือโดยหน่วยงานรัฐก็จะต้องคืนกลับมาภายใต้กรอบระยะเวลาสูงสุดอยู่ดี
ส่วนกรณีที่สำนักงาน กสทช. นำคลื่นความถี่ 98.5 MHz (กรุงเทพฯ) ไปให้เอกชนรายใหม่อย่างบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค มัลติมีเดีย จำกัด ใช้ในรูปการแบ่งเวลาเพื่อดำเนินรายการร้อยละ 40 และรับจ้างผลิตรายการอีกร้อยละ 60 โดยอ้างหลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ พ.ศ. 2556 นั้น การอ้างประกาศแบ่งเวลาฯ นอกจากจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะประกาศฉบับนี้มิได้มุ่งใช้กับหน่วยงานรัฐที่มีสิทธิใช้คลื่นต่อชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใบอนุญาต (มุ่งใช้กับผู้รับใบอนุญาตใหม่ตามระบบใบอนุญาต) ยังถือเป็นการอ้างประกาศฯ แบบผิดวัตถุประสงค์ เพราะประกาศแบ่งเวลานั้นถูกออกแบบมาเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับผู้ผลิตเนื้อหารายเล็กที่ไม่ได้เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ มิใช่ให้หน่วยงานนำมาใช้อ้างให้เอกชนรายเดียวเข้ามาจัดการเนื้อหาในผังทั้งหมด อีกทั้งหากสำนักงาน กสทช. ต้องทำสัญญาให้เอกชนเข้ามาจัดการเนื้อหาเกือบทั้งหมด ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จำเป็นในการถือครองคลื่นอีกต่อไป
การบริหารจัดการสถานีวิทยุ 1 ปณ. ของสำนักงาน กสทช. ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นปัญหาในภาพใหญ่ที่ส่งผลต่ออนาคตการปฏิรูปคลื่นความถี่ อาทิ หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่ถือครองคลื่นอยู่และไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมาย อาจอ้างกรณีของ 1 ปณ. เป็นตัวอย่างในการถือครองคลื่นต่อ หรืออาจอ้างกรณี นิวส์ เน็ตเวิร์คฯ ทำสัญญาให้เอกชนเข้ามาใช้คลื่นความถี่ได้เหมือนกัน รวมถึงตั้งคำถามกับ กสทช. ว่า ความไม่จริงจังของ กสทช. ในการจัดการกับคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง
เป็นเพราะกองทัพที่มีอำนาจทางการเมืองอยู่ขณะนี้ถือครองคลื่นรายใหญ่รวม 201 คลื่นทั่วประเทศ (AM 112 คลื่นและ FM 89 คลื่น) หรือไม่?
ดังนั้น การเรียกคืนคลื่นวิทยุมาจัดสรรใหม่จึงเป็นงานที่จะพิสูจน์ความมุ่งมั่นในการปฏิรูปสื่อของ กสทช. ชุดนี้อย่างแท้จริง