อย่าสวมหมวกหลายใบ
วันก่อนผมนั่งดูทีวี เห็นสกู๊ปข่าวตำรวจจับกุมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่แถวตลาดไท จ.ปทุมธานี แล้วรู้สึกตื่นเต้นไปกับภาพที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ยินจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจแบบละเอียดยิบทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มวางแผน ขับรถไป วางกำลังกันอย่างไร เรียกตรวจกันแบบไหน กระทั่งจับผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งกดลงกับพื้นถนน แล้วเอาปืนจ่อหัว!
ผมเห็นแล้วตกใจ เพราะไม่มีการทำภาพเบลอกันเลย (ขนาดในภาพยนตร์ที่มีดาราสูบบุหรี่ยังต้องทำภาพเบลอ) คำถามก็คือหากชายวัย 30 ต้นๆ ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยคนนั้นไม่ใช่ผู้ค้ายาเสพติดตัวจริงล่ะจะทำอย่างไร ทั้งตัวเขา ครอบครัว ลูกเต้าจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน มิพักต้องพูดถึง "สิทธิผู้ต้องหา" เพราะเขายังไม่ได้ถูกตัดสินว่าผิดจริง ซึ่งสกู๊ปข่าวชิ้นนั้นดูจะไม่ได้คำนึงถึงเอาเสียเลย
อีกวันหนึ่งผมนั่งดูทีวีช่องเดิม มีข่าวรายการเดิมตามติดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไปตรวจค้นบ้าน "ชนกลุ่มน้อย" ทางภาคเหนือเพื่อกดดันผู้ค้ายาเสพติด สิ่งที่ผมได้ชมก็เหมือนเดิม คือรายการทีวีช่องนั้นมีภาพตั้งแต่ขั้นตอนก่อนจับกุม น่าจะเรียกว่าได้ภาพ "ก่อนเกิดเหตุ" ก็คงได้ แล้วก็เกาะติดภารกิจของตำรวจไปแทบจะทุกฝีก้าว
ตำรวจเข้าไปค้นบ้านต้องสงสัย นักข่าวกับช่างภาพของโทรทัศน์ช่องนั้นก็เข้าไปด้วย ตำรวจยืนคุยกับหญิงสาวซึ่งเป็นญาติเจ้าของบ้านที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด (แต่ไหวตัวหลบหนีไปก่อนแล้ว) ก็เห็นหน้าเธอชัดแจ๋วทางจอโทรทัศน์ ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเธอร่วมขบวนการยาเสพติด
สิทธิของเธออยู่ตรงไหน? แล้วหน้าที่ของสื่อมวลชนคืออะไร แค่รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นทุกขั้นตอน ทำตัวผสมโรงเป็นตำรวจไปด้วย หรือควรตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่กันแน่?
ระยะหลังมีรายการข่าวประเภทนี้เยอะขึ้น ทำให้นักข่าวในฐานะ "สื่อสารมวลชน" จากรายการเหล่านี้ดูเหมือนไม่ใช่ "สื่อสารมวลชน" แต่ร่วมขบวนไปตามจับคนร้ายกับเขาด้วยประหนึ่งว่าเป็นทีมงานของตำรวจเสียมากกว่า
ผมทราบดีว่าการทำแบบนี้ได้จะต้องมีเส้นสายหรือสายสัมพันธ์อันดีกับนายตำรวจระดับสูงที่เป็นผู้บังคับบัญชา แต่การที่ "นักข่าว" ไปสวมหมวกอีกใบ คือทำหน้าที่คล้ายๆ เป็น "ทีมพีอาร์" (ประชาสัมพันธ์) ของตำรวจ ชาวบ้านก็คงตั้งคำถามว่าแล้วสิทธิของเขาล่ะจะมีใครช่วยดูแล ทั้งๆ ที่นักข่าวน่าจะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนประชาชนมากกว่าการมุ่งวิ่งไล่เก็บภาพโดยไม่ระมัดระวังเรื่องสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้อง (บางรายยังร่วมทำร้ายผู้ต้องหาด้วย เห็นบ่อยๆ ในคดีข่มขืน)
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นทางกฎหมายว่า เหตุใดนักข่าวกับช่างภาพถึงเข้าไปในเคหะสถาน (บ้าน/ที่อยู่อาศัย) ของคนอื่นได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ต้องหาหรือมีหมายค้นหรือไม่ก็ตาม เพราะ "หมายค้น" อนุญาตเฉพาะ "เจ้าพนักงาน" ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเท่านั้น หาใช่อนุญาตให้ใครก็ได้เข้าไปเดินเพ่นพ่านในบ้านของคนอื่น
ผู้รู้ด้านกฎหมายและจรรยาบรรณสื่อท่านหนึ่งบอกกับผมว่า กรณีแบบนี้เจ้าของเคหะสถานสามารถฟ้องสื่อในข้อหา "บุกรุก" ได้ด้วยซ้ำ แต่ก็คงไม่มีใครกล้าฟ้องหรือกล้าค้าความกับสื่อ เพราะสื่อมีอิทธิพลมากมายเสียขนาดนั้น
ตลอดมาจึงไม่ค่อยมีใครสนใจพฤติกรรมการ "สวมหมวกหลายใบ" ของนักข่าวเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องอันตรายและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางมาก โดยเฉพาะในแง่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ปัญหาที่พูดถึงนี้หากยังเห็นภาพไม่ชัด ผมอยากลองสมมติกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าถ้าหากนักข่าวหรือองค์กรที่อ้างตัวว่าเป็น "สื่อสารมวลชน" มีพฤติกรรม "สวมหมวกหลายใบ" แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
เช่น จู่ๆ นักข่าวหรือองค์กรข่าวเข้าไปรับทำโครงการของรัฐ โดยใช้งบประมาณของรัฐ ชาวบ้านร้านตลาดก็คงอึดอัดหรือไม่ก็ว้าเหว่ว่า ใครจะทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้พวกเขา เพราะนักข่าวไปเป็นพวกเดียวกับรัฐเสียแล้ว
หรือหากอยู่มาวันหนึ่งมีองค์กรข่าวอ้างตัวเป็นองค์กรทางวิชาการ (หรือองค์กรทางวิชาการอ้างตัวเป็นองค์กรข่าวก็ได้) ผลักดัน "โมเดลดับไฟใต้" ขึ้นมา แล้ววันดีคืนดีก็จัดเวทีโฆษณาโมเดลของตัวเอง แล้วก็รายงานข่าวเองในลักษณะ "ประชาสัมพันธ์" ผลงานของตัวเอง โดยไม่มีการตั้งคำถาม ไม่มีการตรวจสอบ แล้วประชาชนจะมีหลักประกันอะไรในการ "รับสาร" ที่องค์กรลักษณะนี้สื่อออกมา
หนักกว่านั้น ถ้ามีการแบ่งคนในองค์กรเข้าไปร่วมเป็นผู้กำหนดนโยบายเสียเอง ร่วมขบวนเป็นผู้อนุมัติงบเอง อยู่ในสภาหรือกรรมาธิการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเอง และยังตั้งทีมรับงาน รับเงินเอง จัดเวทีเอง เปิดแถลงผลงานความคืบหน้าของตัวเอง โดยมีสื่อของตัวเองคอยเป็นกระบอกเสียงให้ คล้ายๆ เป็นทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน สำนักงบประมาณ และกรมประชาสัมพันธ์ในเวลาเดียวกัน ผมว่าคงยุ่งพิลึก เพราะไม่มีใครช่วยถ่วงดุลการใช้อำนาจเหล่านั้นแทนประชาชน
โดยเฉพาะในมิติของปัญหาภาคใต้ที่มีความลึกล้ำ ซับซ้อน อ่อนไหว และเชื่อมโยงกับหลายฝ่าย ซึ่งควรจักต้องมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเข้มข้น หากองค์กรใดองค์กรหนึ่งพยายามสวมหมวกหลายๆ ใบดังที่ยกตัวอย่างมานี้ แถมยังมีคนในองค์กรเสนอตัวเป็น "คนกลางเปิดเจรจา" ระหว่างคู่ขัดแย้งเสียด้วย โดยที่ใครๆ ก็รู้ว่าองค์กรที่ว่านี้มี "โมเดลแก้ปัญหา" รออยู่ในกระเป๋าแล้ว (ซึ่งผิดหลักการการเป็น "คนกลาง" ที่ต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทั้งสองฝ่าย หรือมีคำตอบสำเร็จรูปรอล่วงหน้า) ก็น่าคิดว่าสถานการณ์ในภาคใต้จะเป็นอย่างไร ชะตาชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดจะต้องถูกชี้เป็นชี้ตายด้วยองค์กรชนิดนี้หรือ?
แล้วถ้าองค์กรที่ว่านี้ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือหวังผลทางการเมืองเฉพาะหมู่พวกตนล่ะ ใครจะหาญกล้าตรวจสอบพวกเขา?
ที่ผมยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสมมตินะครับ ไม่ใช่เรื่องจริง เพื่อหวังจะฉายให้เห็นสภาพปัญหาของการ "สวมหมวกหลายๆ ใบ" ว่ามันอันตรายและจะมีปัญหาตามมามากมาย ไม่อย่างนั้นในรัฐธรรมนูญคงไม่เขียนห้ามเอาไว้ในหมวดที่ว่าด้วย "การขัดกันแห่งผลประโยชน์" หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "ผลประโยชน์ทับซ้อน" หรอกครับ
ที่เขาห้ามนักการเมืองถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน ห้าม ส.ส.ไปจุ้นจ้านใช้งบประมาณเสียเอง เพราะตัวเองต้องทำหน้าที่ตรวจสอบในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ (เหมือนกับที่กำลังมีข่าวฝ่ายค้านยื่นถอดถอน ส.ส.รัฐบาลที่ไปยุ่มย่ามกับงบประมาณแก้ปัญหาน้ำท่วมกันอยู่ในขณะนี้) ก็เป็นการห้ามด้วยเหตุผลคล้ายๆ กันนี่เอง
และก็เช่นกัน แต่ละอาชีพย่อมต้องมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของตน คอยกำกับตรวจสอบการกระทำของคนในวิชาชีพนั้นๆ...
ด้วยเหตุนี้ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ จึงอย่าไปสนับสนุนพฤติกรรมการ "สวมหมวกหลายๆ ใบ" แต่ควรกระตุ้นให้แต่ละฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตัวเองไป เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดน่าจะดีกว่า...คุณว่าจริงมั้ย?
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ http://www.sinkaonline.com/thaiselling_Postview.php?key=313048