ผ่าทางตัน กับทางรอดของเคเบิลท้องถิ่น
ในปี 2556 กสทช. พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ เคยบอกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เมื่อครั้งไปสวัสดีปีใหม่ปี 2556 เอาไว้ว่า ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถประกอบกิจการเคเบิลทีวีต่อไปได้ เพราะจากนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวงการโทรทัศน์ครั้งใหญ่ ทั้งเทคโนโลยี่ กฎระเบียบ และพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่ไม่มีใครเชื่อ เพราะเคเบิลท้องถิ่นประกอบกิจการมามากว่า 30 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาหลายครั้ง แม้ถูกตราหน้าว่าเป็น "เคเบิลเถื่อน" หรือถูกตราหน้าว่าเป็น "เคเบิลละเมิดลิขสิทธิ์" หรือถูกรังแกจากเคเบิลรายใหญ่ระดับชาติหลายครั้ง แต่ก็ยังสามารถเอาตัวรอดมาได้ และเติบโตเข้มแข็งขึ้นมาทุกวัน ในวันนี้เคเบิลท้องถิ่น มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สมาคมเคเบิลฯ มีความเข้มแข็งแล้ว ใครจะมารังแกเคเบิลท้องถิ่นได้ แล้วเคเบิลท้องถิ่นจะประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ ได้อย่างไร
หมอดูแม่น ๆ
หลังจากวันนั้นในปี 2556 มาถึงวันนี้ในปี 2559 ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นส่วนใหญ่ กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากมาก จนหาทางออกไม่ได้ บางรายตัดสินใจปิดกิจการไปแล้ว บางรายกำลังเตรียมปิดกิจการ บางรายพร้อมขายกิจการ บางรายเริ่มขาดทุนทั้ง ๆ ที่เคยได้กำไร และได้แบ่งเงินปันผลติดต่อกันมาหลายปี ทั้งนี้เพราะกิจการเคเบิลท้องถิ่น ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ตามที่ กสทช. พันเอก ดร. นที ได้เคยพูดเอาไว้โดยผู้ประกอบกิจการรายขนาดเล็กได้รับผลกระทบมากที่สุด รายขนาดกลางได้รับผลกระทบรองลงมา ส่วนรายขนาดใหญ่ ที่สามารถปรับตัวได้ ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ขึ้นอยู่ว่า ใครจะสามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่ากัน
หมอดูเป็นผู้เขียนบทเอง
คำทำนายของ พันเอก ดร. นที ได้เกิดผลขึ้นจริง ๆ ไม่ใช่เพราะท่านทำนายแม่น แต่เพราะท่านรู้อยู่เต็มอกตั้งแต่ต้นปี 2556 ว่าต่อจากนี้ไปท่านเอง ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะเป็นผู้วางแผนออกกฎ ออกกติกาต่าง ๆ ออกมา ท่านจึงทราบล่วงหน้าว่า ใครจะได้รับผลกระทบมาก ใครจะได้รับผลกระทบน้อย สำหรับเคเบิลท้องถิ่น ท่านมองว่าเป็นผู้เล่นรายเล็ก จากกฎที่จะออกมาจะต้องถูกกำจัดออกไป ไม่รู้จะช่วยอะไรได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเสรีแบบเผด็จการ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" ผู้เล่นรายเล็กจะต้องถูกกำจัดออกไปตามธรรมชาติ จะเหลือแต่ผู้เล่นรายใหญ่เท่านั้น เพราะผู้เล่นรายใหญ่สามารถมีอิทธิพล เข้ามามีส่วนสำคัญในการออกกฎกติกาต่าง ๆ ใน กสท. ได้ ผ่านรูปแบบต่าง ๆ ตามธรรมเนียมแบบไทย ๆ ซึ่งผู้เล่นรายเล็กไม่สามารถทำได้ ท่านทำได้ดีที่สุดคือ การเตือนให้ทราบเป็นนัย ๆ ก่อนที่ท่านจะลงมือเชือดด้วยความจำเป็น
เหตุผลสู้ยกมือไม่ได้
การออกกฎหมายต่างใน กสท. จะถือการยกมือ 3 ใน 5 ของ กสทช. 5 คนในคณะกรรมการ กสท. ประกอบด้วย พันเอก. ดร. นที(ประธาน) พลโท พีรพงศ์ พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ ดร. ธวัชชัย และคุณสุภิญญา เป็นสำคัญ มติหลายครั้งที่ออกมาในนาม กสท. เกิดจากการยกมือสนับสนุนเพียง 3 คน และอีก 2 คนไม่เห็นด้วย และส่วนใหญ่มักจะมีการสงวนความเห็น ในสิ่งที่มีบางท่านไม่เห็นด้วยทุกครั้ง แต่คนภายนอกไม่ทราบ เพราะข้อมูลบางอย่างไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา ไม่ว่ามติจะชนะกันที่ 3:2 ,4:1 หรือ 5:0 มตินั้นก็จะถูกนำมาออกเป็นกฎหมายในนาม กสท. ทั้งคณะ เพื่อเอามาบังคับใช้กับผู้เกี่ยวข้อง ดังนั้นหากใครสามารถคุมเสียงใน กสท. ได้ 3 เสียง จะสามารถออกกฎหมายใด ๆ เพื่อให้ฝ่ายตนเองได้เปรียบ ก็จะสามารถทำได้ หรือจะออกกฎกติกา กลับไปกลับมา เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวให้ เดี๋ยวไม่ให้ จะสามารถทำได้ทั้งสิ้น ดังนั้น กติกาที่ กสท. ออกมาบังคับใช้หลายอย่าง จึงไม่ใช่ความต้องการของ กสทช. ทุกคน แต่เมื่อกติกาถูกนำออกมาใช้ กสทช. ทุกคนจึงถูกด่าอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ใครเป็นคนของใครใน กสท.
หากจะให้เดาเอาว่า ในคณะกรรมการ กสท. 5 คนหลายครั้งที่ไม่สามารถออกมติเป็นเอกฉันท์ 5:0 ได้ มักจะชนะกันที่ 3:2 โดยแบ่งออกเป็นการจับคู่ของ พันเอก ดร. นที กับ พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ 2 คน ดร. ธวัชชัย กับ คุณสุภิญญา 2 คน และคนสุดท้ายที่จะเป็นผู้ตัดสินคือ พลโทพีรพงศ์ คงพอจะเดาออกนะครับว่า ใครเป็นคนของใคร โดยดูจากมติที่ออกมาว่าใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากมติดังกล่าว มติหลายมติที่ออกมาแล้วมาทำร้ายเคเบิลท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้เล่นรายเล็ก เป็นม้านอกสายตา ไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ ให้กับใครได้ ไม่สามารถ Lobby ใครได้ จะมีมือบริสุทธิ์ของใคร ที่จะออกมาช่วยเหลือ เพื่อปกป้องสิทธิของเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กบ้าง หากต้องการรู้ว่าเป็นใคร จะดูได้จากการสงวนความเห็นที่ให้ได้เป็นรายลักษณ์อักษร ของการไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว
กำลังภายในสำคัญกว่าเหตุผล
ในการออกกฎหมายต่าง ๆ ของ กสท. การอธิบายทำความให้เข้าใจ บางครั้งก็ไม่พอ เพราะแม้จะเข้าใจ และรู้อยู่เต็มอก แต่ก็ยกมือให้ไม่ได้ เพราะมีบุญคุณที่ต้องทดแทน หลายครั้งการจะชนะมติมีการใช้กำลังภายในเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย งานนั้นจึงจะสำเร็จ สำหรับเคเบิลท้องถิ่นรายเล็ก จะไปมีกำลังภายในอะไร ที่จะไปจับมือ กสทช. ให้ช่วยยกมือสนับสนุนให้ออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับเคเบิลรายเล็กเพื่อให้เป็นผลเสียกับเคเบิลรายใหญ่ได้ หลายครั้งการใช้กฎหมู่ หรือการกดดันจากสื่อมวลชน ก็อาจพอเป็นประโยชน์หรือพอเป็นกำลังใจช่วย กสทช. 2 คนที่ช่วยยกมือสนับสนุนให้ด้วยความบริสุทธิ์ได้ แม้จะต้องแพ้มติ 3:2 ก็ตาม
3 ปีกับกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรายใหญ่
ดังนั้นคงพอเข้าใจนะครับว่า 3 ปีที่ผ่านมา กฎหมายต่าง ๆ ที่ กสท. ออกมา ทำไมจึงมักเป็นกฎหมายที่รายใหญ่มีเงินมาก มีอิทธิพลสูง ได้รับประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ เช่น ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีคสามารถซื้อลิขสิทธิ์ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวได้ การแจกคูปอง 690 บาทให้ใช้ได้เฉพาะกับทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินเท่านั้น การจัดเรียงช่อง 1-36 ช่องแรกจะต้องจัดเรียงให้เหมือนทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินในทุกโครงข่าย ช่องฟรีทีวีเดิม เช่น 3,5,7,MCOT ที่มีรายรับรวมกันมากกว่า 60,000 ล้านบาท/ปี ถูกตีความว่าไม่ต้องจ่าย 2% ให้ กสทช. ทั้งหมดเพราะมีสัมปทานเดิม และคนดูช่องฟรีทีวีนั้น ๆ จะดูจากระบบสัมปทานเดิมมากกว่าการดูจากการให้บริการคู่ขนานผ่านดาวเทียมและเคเบิล ตามกฎ Must Carry (คิดได้อย่างไร) ดังนั้นช่องฟรีทีวีเหล่านั้น แทนที่จะต้องเสีย 2% เต็ม เมื่อมีการอ้างว่าคนดูจากระบบสัมปทานเดิมมากกว่าจึงได้รับการลดหย่อนให้เสียจริง ๆ น้อยมาก เมื่อเงินส่วนนี้เก็บไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย กสทช. จึงต้องมารีดเลือดจากปู ที่มีรายได้ปีละไม่ถึง 50 ล้านบาท/ปี ให้จ่าย 2% เต็ม เพื่อจะได้มีเงินพอที่จะเอาไปจ่ายเป็นเงินเดือนให้ กสทช. ถ้าเป็นเช่นนี้ ทำไมไม่ออกกฎให้ช่องฟรีทีวีเหล่านี้ ให้ลดโฆษณาลงเหลือ 6 นาทีต่อชั่วโมงเหมือนช่องดาวเทียมและเคเบิล (อะไรที่รายใหญ่ได้ก็ให้เขาเต็ม ๆ อะไรที่รายใหญ่ต้องเสียก็หาทางลดหย่อนให้ในทุกช่องทาง) ขอบ่นดัง ๆ จริงไม่จริงไปคิดกันเอาเองนะครับ
เคเบิลท้องถิ่นไม่เคยได้รับประโยชน์จากกฎหมายที่ กสท. ออกมา
ส่วนเคเบิลท้องถิ่น ไม่เคยมีกฎหมายใด ๆ ที่ออกมาจาก กสท. แล้วเคเบิลท้องถิ่นได้รับประโยชน์เลยแม้แต่เรื่องเดียว จะมีแต่ผลเสีย เช่น เคเบิลท้องถิ่นที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี ต้องจ่าย 2% ของรายรับให้ กสทช. เท่ากับรายใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท/ปี ทั้ง ๆ ที่กฎหมายเปิดช่องให้เก็บได้ไม่เกิน 2% โดยกำหนดให้ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและขนาดของผู้ประกอบกิจการ แต่ท่านไม่สนใจจะใช้เจตนารมย์ข้อนี้เพื่อลดหย่อนให้ผู้เล่นรายเล็ก โดยอธิบายว่า จะเอามาเพื่อดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สำหรับการขอลดอย่อนขอผ่อนผันการเรียงช่อง 1 - 36 ก็ไม่ให้ ขอให้ออกกฎห้ามซื้อลิขสิทธิ์ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวก็ไม่ได้ การออกกฎผู้มืออำนาจเหนือตลาดก็เป็นเพียงกฎหมายเสือกระดาษ เพราะ กสท. มองว่าประเทศไทยไม่มีผู้มีอำนาจเหนือตลาด ขอรับการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเคเบิลท้องถิ่นจากระบบ Analog ไปสู่ระบบ Digital ก็ไม่สนใจ และ ที่น่าเจ็บใจคือ ดันไปออกกติกาให้เคเบิลท้องถิ่นต้องเอาทรัพย์สินของตนเอง ไปสนับสนุนกิจการของผู้เล่นรายใหญ่ด้วยการยึดพื้นที่หน้าร้าน 1 - 36 ไปให้ทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน โดยไม่จ่ายค่าใช้สถานที่อีกต่างหาก ทั้ง ๆ ที่ช่องทีวีดิจิตอลที่ไปเผยแพร่ในโครงข่ายทีวีดิจิตอลต้องจ่ายเงินค่า MUX ให้เจ้าของโครงข่ายภาคพื้นดิน 4 รายคือ ThaiPBS , ช่อง 5 , MCOT และ NBT เวลาไปออกในระบบจานดาวเทียม กสทช. ก็ช่วยออกค่าเช่า Transponder ที่ทำหน้าที่เป็น MUX ของดาวเทียมไทยคมให้ แต่พอมาออกในเคเบิลท้องถิ่น จะเอาฟรี ๆ ทั้ง ๆ ที่เคเบิลท้องถิ่นต้องลงทุนห้องส่งและโครงข่ายที่ทำหน้าที่เป็น MUX ของเคเบิลท้องถิ่นด้วยตนเอง เพื่อให้ได้ช่องมาเผยแพร่ให้สมาชิกรับชม 60 ช่อง กสทช. ออกกฎหมายมาบังคับเอาไปใช้ฟรี ๆ 36 ช่อง เหลือให้เคเบิลท้องถิ่นเอาไปทำมาหากินเอง 24 ช่อง จะขอสลับช่อง จะขอไม่ออกบางช่องก็ไม่ได้ จะปรับ จะยึดใบอนุญาตท่าเดียว ผลที่ออกมาคือ เคเบิลท้องถิ่นจึงต้องเจ๊งกันถ้วนหน้า
เคเบิลท้องถิ่นปิดกิจการแล้ว 50 ราย
เมื่อต้นปี 2558 มีผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นประมาณ 350 ราย เมื่อถึงสิ้นปี 2558 สามารถแบ่งสถานะการประกอบกิจการออกมาได้เป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้
1) ปิดกิจการไปแล้ว 50 ราย
2) อยู่ในอาการโคม่า 100 ราย
3) พร้อมขายกิจการ 100 ราย
4) พร้อมจะสู้ต่อไป. 100 ราย
ในจำนวน 300 รายที่เหลืออยู่ มี 200 รายที่กำลังลำบากมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการระบบ Analog ที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับสถานะการณ์ได้ จะมีเพียงประมาณ 100 รายที่มีการปรับตัวโดยการทำระบบ Analog ควบคู่ไปกับระบบ Digital เพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านจากระบบ Analog ไปสู่ระบบ Digital ด้วยตนเอง (โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จาก กสทช.)
รูปแบบการลดลงของเคเบิลท้องถิ่น
หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่ทำอะไร ในสิ้นปี 2559 น่าจะเหลือผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นที่ประกอบกิจการจริงประมาณ 200 ราย และในสิ้นปี 2560 น่าจะเหลือ 100 ราย การลดลงของผู้ประกอบกิจการเช่นนี้ สามารถมองได้ 2 รูปแบบคือ
รูปแบบที่ 1
ผู้ประกอบกิจเคเบิลท้องถิ่นมีจำนวนลดลง เพราะปิดกิจการ หรือยุติการให้บริการ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันในทางธุรกิจต่อไปได้ หรือไม่สามารถจะปรับตัวให้ทันกับกฎหมายต่าง ๆ ของ กสทช. ได้ หากเป็นเช่นนี้จะเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก เพราะการลดลงของจำนวนผู้ประกอบกิจการเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า เคเบิลท้องถิ่นรายนั้นแพ้ภัย กสทช. จึงไม่สามารถให้บริการเคเบิลทีวีกับสมาชิกให้คุ้มค่ากับค่าบริการรายเดือนที่สมาชิกเสียไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง จนไม่สามารถแข่งขันในตลาดต่อไปได้ (โทษตัวเอง) ทำให้สมาชิกของเคเบิลท้องถิ่นรายนั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนไปรับบริการโทรทัศน์จากระบบอื่น หรือโครงข่ายอื่นที่ดีกว่า จนทำให้ฐานสมาชิกโดยรวมของเคเบิลท้องถิ่นลดลงไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายเคเบิลท้องถิ่นที่ไม่มีประสิทธิภาพก็จะไม่มีในประเทศไทยอีกต่อไป
รูปแบบที่ 2
จำนวนผู้ประกอบกิจการลดลง เพราะมีการแบ่งปันทรัพยากรกัน หรือมีการควบรวมกิจการกัน หรือ มีการจับมือกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อลดต้นทุนการผลิต จะถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะแม้จำนวนสถานีส่งสัญญาณจะลดลง แต่จำนวนผู้ให้บริการยังเท่าเดิม แต่ขนาดของกิจการที่เหลืออยู่จะใหญ่ขึ้น มีความทันสมัยขึ้น และมีฐานสมาชิกเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าเคเบิลท้องถิ่นมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น (เปลี่ยนวิกฤต กสทช. ให้เป็นโอกาส) ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในเกาหลีและไต้หวันมาแล้ว จากเดิมที่เคยมีผู้ประกอบกิจการมากกว่า 600 รายทั่วประเทศ ในปัจจุบันเหลือต่ำกว่า 100 ราย และมีการนำบริษัทเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว แต่ประเทศไทยจะทำเช่นนั้นได้หรือไม่ และจะต้องทำอย่างไร
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยหมดปัญญาช่วย
ทุกคนจึงต้องวิเคราะห์ดูว่า การลดลงของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นรูปแบบที่ 1 หรือรูปแบบที่ 2 แต่หากดูตาม "โหงวเฮ้ง" ของผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นในปัจจุบันส่วนใหญ่น่าจะลดลงในรูปแบบที่ 1 มากกว่ารูปแบบที่ 2 เพราะไม่มีใครมองเห็นทางออก แม้แต่สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยก็หมดปัญญา หาทางออกให้สมาชิกไม่ได้ ทำได้เพียงแต่ช่วยส่งพวงหรีด และไปช่วยเป็นประธานงานเผาศพเคเบิลท้องถิ่นที่ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเท่านั้น ค่าพวงหรีดและค่าเดินทางที่ต้องจ่ายไปร่วมงานศพ มากจนเงินหมดสมาคมฯ ไม่มีเงินมาจ่ายค่าแรงให้พนักงาน
การทำ Internet เป็นทางออกหรือไม่ ?
การตกที่นั่งลำบากของเคเบิลท้องถิ่นโดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการรายขนาดเล็ก และรายขนาดกลาง จำนวนกว่า 200 ราย โดยเฉพาะรายที่ยืนหยัดจะให้บริการสัญญาณเคเบิลทีวีในระบบ Analog เพียงระบบเดียวไม่เปลี่ยนแปลง โดยถูกปลูกฝังให้มีความเชื่อว่า ระบบ Analog จะสามารถให้บริการแข่งกับระบบ Digital ที่กำลังถาโถมเข้ามาได้ ทุกคนควรทำระบบ Analog ต่อไปไม่ต้องเปลี่ยนแปลงใด ๆ แล้วไปเพิ่มรายได้ด้วยการเปิดให้บริการ Internet กับสมาชิกเพิ่มเติมจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจะมีนายหน้าหาอุปกรณ์ Internet ราคาถูกๆมาขายให้จะเป็นทางออกที่ดีกว่า วิธีการนี้ก็อาจเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่ง แต่จะคุ้มกับเงินทุนที่ลงไปหรือไม่ ปลายปี 2559 ก็คงรู้กันว่า จะรวยหรือจะเจ๊งหนักเข้าไปใหญ่
การทำระบบ Digital คือทางออกของปัญหา
แต่ถ้าผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นรู้ และทราบแล้วว่า ระบบ Analog ที่ให้บริการอยู่ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้น อย่างน้อยก็ต้องลงทุนทำระบบ Digital เพิ่มเติมควบคู่ไปกับการให้บริการในระบบ Analog เพื่อรอเวลาเปลี่ยนผ่านจากระบบ Analog ไปสู่ระบบ Digital ในอนาคต เพียงแต่การจะลงทุนติดตั้งห้องส่งสัญญาณระบบ Digital จะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง เมื่อลงทุนไปแล้วจะได้ทุนคืนหรือไม่ จะรักษาฐานสมาชิกได้หรือไม่ จะขยายฐานสมาชิกได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่แน่ใจ จะมีวิธีใดหรือไม่ ที่จะทำให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นสามารถทำระบบ Digital เพิ่มเติมได้ โดยไม่ต้องลงทุนติดตั้งสถานีส่งสัญญาณระบบ Digital ใหม่ทั้งหมด
เคเบิลท้องถิ่นรายใหญ่ทำระบบ Digital แล้ว
ในวันนี้มีเคเบิลท้องถิ่นประมาณ 100 รายที่มีการให้บริการระบบ Digital ควบคู่ไปกับระบบ Analog ที่สมบูรณ์แล้ว จึงสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และได้รับผลกระทบไม่มาก แต่อีก 200 รายยังมีปัญหาเพราะยังให้บริการในระบบ Analog เท่านั้น แม้บางรายจะเริ่มคิดที่จะทำระบบ Digital แล้วแต่ก็ยังไม่กล้าลงทุน เพราะไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าในอนาคตเคเบิลท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยรักษาเคเบิลท้องถิ่นทั้ง 200 รายไว้ให้ได้ เคเบิลท้องถิ่นจะต้องมีความสามัคคีกัน ช่วยเหลือกัน รายที่แข็งแรงกว่าและลงทุนระบบ Digital ไปแล้ว ต้องพร้อมที่จะแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่ไปให้รายที่อ่อนแอกว่า ให้สามารถประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นต่อไปได้
เคเบิลท้องถิ่นรายใหญ่ต้องช่วยเหลือรายเล็ก
แนวทางที่เป็นไปได้คือ การให้เคเบิลท้องถิ่นรายใหญ่ที่มีความแข็งแรงในแต่ละพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายสัญญาณสถานีส่งสัญญาณ (Headend) ระบบ Digital ไปให้เคเบิลท้องถิ่นรายเล็กที่อยู่ไกล้เคียง เช่น จังหวัดขนาดเล็ก หรือ อำเภอรอบนอก ที่กำลังมีปัญหา โดยให้รายที่มีปัญหาลดต้นทุนการประกอบกิจการโดยการยุบสถานีส่งสัญญาณ หรือลดขนาดสถานีส่งสัญญาณของตนเองลง เปลี่ยนมารับสัญญาณตรงจากเคเบิลรายใหญ่ในระบบ Digital ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ การทำเช่นนี้ หากเคเบิลรายใหญ่ 1 รายสามารถช่วยเหลือรายเล็ก 5 - 10 รายที่อยู่ไกล้เคียงได้ จะทำให้แต่ละพื้นที่มีสถานีส่งสัญญาณเคเบิลท้องถิ่นเพียง 1 แห่ง แต่จะมีผู้ให้บริการในพื้นที่ 5 - 10 รายเหมือนเดิม รายใหญ่ที่เป็นศูนย์บริการหลัก จะช่วยให้รายเล็กมีต้นทุนต่อหน่วยลดลง คุณภาพของระบบที่ให้บริการทั้ง 5 - 10 สถานีจะดีขึ้นเท่าเทียมกัน สมาชิกจะมีความพอใจในบริการที่ได้รับมากขึ้น การยกเลิกของสมาชิกจะลดลง การขยายฐานสมาชิกจะสามารถทำให้เพิ่มขึ้นได้ สุดท้ายเคเบิลท้องถิ่นก็จะเข้มแข็งขึ้นเหมือนในเกาหลี และไต้หวัน
โครงข่ายสาย Fiber Optic คือทางออกของปัญหา
แต่การจะเชื่อมโครงข่าย 5-10 สถานีเข้าด้วยกันในแต่ละพื้นที่ จะต้องมีการเดินสาย Fiber Optic เพื่อเชื่อมสัญญาณเข้าหากัน เพื่อใช้เป็นสะพานเชื่อมสัญญาณระบบ Digital ให้ถึงกัน ซึ่งระยะการเดินสาย Fiber Optic จะต้องใช้ตั้งแต่ 10-100-200 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง การทำลักษณะนี้ได้มีการทำจริงแล้วที่สถานีหัวหินของ GTV ที่เป็นสถานีหลัก มีการเดินสาย Fiber Optic กว่า 200 กิโลเมตร เพื่อเชื่อม 2 จังหวัด 6 สถานีเข้าด้วยกัน ทำให้เคเบิลรายเล็กที่เหลืออีก 5 ราย สามารถประกอบกิจการเคเบิลทีวีต่อไปได้ โดยให้บริการทั้งระบบ Analog และ Digital คู่ขนานกันไป และปัจจุบันที่ GTV หัวหิน กำลังดำเนินการปรับปรุงระบบเพื่อให้บริการแบบ FTTH โดยเป็นสถานีต้นแบบของเคเบิลท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทยที่สามารถให้บริการแบบ FTTH ได้ จะเห็นว่าโครงการต้นแบบที่ GTV หัวหิน สามารถทำได้ พื้นที่อื่น ๆ ก็น่าจะทำได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าไม่ต้องลงทุนในการเดินสาย Fiber Optic เพื่อเชื่อมเข้าหากันได้ จะดีที่สุด
ประเทศไทยมีสาย Fiber Optic เหลือเฟือ
ในประเทศไทย หน่วยงานต่าง ๆ มีการลงทุนเดินสาย Fiber Optic กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยหลายหน่วยงาน ที่สำคัญแทบทุกหน่วยงานมีการใช้สาย Fiber Optic ไม่ถึง 20% ของโครงข่ายที่มี แต่ทุกรายก็ไม่ยอมใช้ทรัพยากรร่วมกัน (คงไม่ต้องบอกว่าเพราะอะไร) สาย Fiber Optic ที่เดินไปทุกเส้น จะมีอายุการใช้งาน ไม่ว่าจะมีการใช้งานหรือไม่ใช้งาน อายุการใช้งานจะหมดเท่ากัน การเจรจาเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยต้องเสียงบประมาณ หรือเงินทุนของประเทศในการนำเข้าสาย Fiber Optic เอามาแขวนบนเสาไฟฟ้า ตากแดด ให้หมดอายุการใช้งาน แล้วสั่งซื้อสายเส้น Fiber Optic เส้นใหม่เอามาตากแดดให้หมดอายุไปเรื่อยไป ต่างประเทศขายของได้ คนสั่งซื้อของมีความสุข แต่ประเทศไทยแย่
การเจรจาแลกเปลี่ยนทรัพยากรคือทางออกของปัญหา
การตั้งศูนย์กระจายสัญญาณเคเบิลท้องถิ่น แต่ละศูนย์ต้องการสาย Fiber Optic เพื่อเชื่อมสัญญาณเข้าหากัน หากเคเบิลท้องถิ่นสามารถเจรจาใช้สาย Fiber Optic ที่เหลือใช้ของหน่วยงานใดก็ได้ เคเบิลท้องถิ่นก็จะไม่ต้องลงทุนเดินสาย Fiber Optic ให้ซ้ำซ้อนกัน เหมือนที่ GTV หัวหินทำ เคเบิลท้องถิ่นก็จะประหยัด สามารถให้บริการระบบ Digital กับรายเล็กที่อยู่ไกลเคียงได้ โดยไม่ต้องลงทุนเดินสาย Fiber Optic เอง ทุกคนก็จะประหยัด ประเทศชาติก็จะประหยัดด้วย ส่วนหน่วยงานที่มีสาย Fiber Optic อาจใช้ประโยชน์จากเคเบิลท้องถิ่นได้ เพราะเคเบิลท้องถิ่นมีสมบัติคือ สายเคเบิลส่งถึงบ้านสมาชิก (Last Mile) ที่สามารถเอาไปทำ Internet เพื่อบริการสมาชิกได้ หากมีการเจรจาแลกเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรซึ่งกันและกันได้ เคเบิลท้องถิ่นก็จะสามารถทำงานที่ถนัด คือทำเคเบิลระบบ Digital ได้ ส่วนหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ หากมีความชำนาญในการทำ Internet ก็จะสามารถใช้ความถนัดที่มี ร่วมงานกับเคเบิลท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ได้โดยไม่ต้องเดินสายเคเบิลเพิ่มเติม งานนี้จะเกิดประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย
ใครที่จะเข้ามาช่วยทำโครงการแบบนี้ได้
โครงการลักษณะแบบนี้ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นได้ยากมากในประเทศไทย หากจะทำให้เกิดขึ้นได้จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนดีในหลาย ๆ ฝ่าย โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องมองมาที่ผลประโยชน์ของส่วนรวมและประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เนื่องจากงานแบบนี้ไม่มีตัวเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่มีเงินทอน ไม่มีน้ำมันหล่อรื่น คนธรรมดาทั่วไปจึงไม่ค่อยอยากทำ จะมีก็แต่ คนพิเศษ ที่เป็นคนดี คนเก่ง ที่มองเห็นประโยชน์ของโครงการ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเท่านั้น จึงจะยอมเข้ามาร่วมทำโครงการเช่นนี้ได้
เรื่อง โครงการ 3 ประสาน Win Win Project เป็นโครงการประสานความร่วมมือระหว่าง
1). คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. (NBTC)
2). บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (CAT)
3). ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น (LCO) โดยชมรมผู้ประกอบการโครงข่ายเคเบิลและโทรทัศน์ดาวเทียม (CABSAT)
โครงการนี้ได้มีการลงนามเป็น MOU ระหว่าง CAT กับ LCO เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ภายใต้การประสานงานของทีมงาน กสทช. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การให้ความร่วมมือในทางธุรกิจระหว่าง CAT และ LCO โดยจะมีการแลกเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรและความชำนาญที่มีของแต่ละฝ่ายเอามาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางธุรกิจของแต่ละฝ่าย โดย CAT จะให้ LCO ใช้โครงข่ายสาย Fiber Optic ของ CAT เพื่อเชื่อมโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่นแต่ละรายเข้าหากัน ส่วน LCO จะให้สายเคเบิลทีวีที่เป็น Last Mile ให้ CAT เอาไปให้บริการ Internet กับสมาชิกเคเบิลท้องถิ่น
โครงการ 3 ประสานจะสามารถตอบโจทย์แต่ละฝ่ายได้ดังนี้
1). กสทช. ต้องการจะสนับสนุนให้
1.1) LCO ที่เป็นผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นรายเล็ก สามารถแข่งขันในตลาดโครงข่ายโทรทัศน์ได้
1.2) LCO มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบ Analog ไปสู่ระบบ Digital
1.3) LCO มีการใช้ทรัพยากรโครงข่ายสายเคเบิลทีวีให้คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ
2). บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (CAT) ต้องการจะสนับสนุนให้
2.1) มีการใช้โครงข่ายสาย Fiber Optic ของ CAT ให้เต็มประสิทธิภาพ
2.2) ขยายฐานสมาชิกผู้ใช้บริการ Internet ไปทั่วประเทศ
2.3) ขยายความร่วมมือกับ LCO เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาด Internet ของ CAT
3). ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น (LCO) ต้องการจะสนับสนุนให้
3.1) LCO ทั่วประเทศ เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านการให้บริการเคเบิลทีวี จากระบบ Analog ไปสู่ระบบ Digital เพื่อให้ LCO สามารถแข่งขันในตลาดได้
3.2) LCO สามารถปฎิบัตตามกฎและระเบียบต่างๆของ กสทช. ได้
3.3) เพิ่มรายได้ให้ LCO โดยการเปิดให้บริการระบบ Internet กับสมาชิกเพิ่มเติม
ลักษณะการให้ความร่วมมือ
เคเบิลท้องถิ่น (LCO) มีอะไรในมือ
1) การเป็นคนของท้องถิ่น
ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจที่เกิดและโตคนในแต่ละท้องถิ่น ที่มีความคุ้นชินกับพื้นที่ รู้จักกับสมาชิกผู้ใช้บริการในพื้นที่ของตนเองเป็นอย่างดี ประกอบกับการเป็นสื่อเคเบิลทีวีประจำแต่ละท้องถิ่นที่ให้บริการกับสมาชิกมากว่า 20 ปี จึงเป็นจุดแข็งที่น่าจะเอามาใช้ประโยชน์ได้มาก
2) การมีโครงข่ายสายเคเบิลทีวี (Network) เป็นของตนเอง
เป็นโครงข่ายสายเคเบิลทีวีที่ลากไปบนเสาไฟฟ้าในเขตเทศบาล ที่มีการให้บริการสัญญาณเคเบิลทีวีกับสมาชิก และมีการเรียกเก็บค่าบริการเป็นรายเดือนในราคา 250-350 บาท/จุด/เดือน โดยโครงข่ายสายเคเบิลที่มีจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
2.1) สาย Fiber Optic
เป็นระบบสาย Main หลักที่เดินออกจากสถานีส่งสัญญาณที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ของแต่ละพื้นที่ โดยจะเดินสายไปบนเสาไฟฟ้า บนถนนสายหลักทุกเส้นทางของเขตเทศบาล และมีการตั้งจุกพักสัญญาณ (Node) ตามพื้นที่ต่างๆที่มีความเหมาะสม
2.2) สายเคเบิลทีวี Coaxial RG 11
เป็นสายเคเบิลทีวีที่ต่อออกจาก Node ต่าง ๆ เพื่อเดินสายเคเบิล RG 11 ไปบนเสาไฟฟ้า ตามถนนเส้นต่างๆในเขตเทศบาล เพื่อเตรียมให้บริการสัญญาณเคเบิลทีวีกับสมาชิก
2.3) สายเคเบิลทีวี Coaxial RG 6
เป็นสายเคเบิลทีวีที่ต่อจากสาย RG 11 ที่จะเดินสายตรงเข้าไปยังบ้านพักของสมาชิกผู้ที่ต้องการใช้บริการสัญญาณเคเบิลทีวี
3) มีทีมงาน ขาย ติดตั้งและบริการในพื้นที่
ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่จะมีความสมบูรณ์ในองค์กรของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นรายขนาดเล็ก รายขนาดกลาง หรือรายขนาดใหญ่ จะมีทีมงาน ขาย ติดตั้ง และบริการครบทุกราย
ในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น (LCO) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
1) ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นขนาดใหญ่
เป็น LCO ที่ให้บริการในเขตอำเภอเมืองของจังหวัดขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี พัทยา จันทบุรี หัวหิน นครศรีธรรมราช ภูเก็ต หาดใหญ่ เป็นต้น
LCO กลุ่มนี้ ต้องการโครงข่ายสาย Dark Fiber Optic 1 Core เพื่อเชื่อมสัญญาณ จากสถานีส่งสัญญาณหลักของ LCO ขนาดใหญ่ในอำเภอเมือง ที่มีความพร้อมในการให้บริการสัญญาณเคเบิลทีวีในระบบ Digital เพื่อส่งสัญญาณผ่านสาย Fiber Optic 1 Core ไปยัง LCO ขนาดเล็กที่อยู่ตามอำเภอรอบนอก ในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร โดยการยิงสัญญาณ RF ตรงไปให้
LCO รายเล็กที่ให้บริการในระบบ Analog สามารถให้บริการระบบ Digital ได้โดยไม่ต้องลงทุนติดตั้งห้องส่งสัญญาณใหม่ (Headend) พร้อมทั้งให้บริการ Internet ไปด้วย
2) ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นขนาดกลาง
เป็น LCO ที่ให้บริการในเขตอำเภอเมืองของจังหวัดขนาดกลาง และเล็ก เช่น ลำปาง ตาก สุโขทัย หนองคาย เลย สุรินทร์ ยโสธร ระยอง สมุทรสาคร ลพบุรี ตรัง พังงา ปัตตานี เป็นต้น
LCO กลุ่มนี้ ต้องการรับสัญญาณ Digital ตรงจาก LCO รายใหญ่ในแต่ละพื้นที่ ผ่านโครงข่ายสาย Fiber Optic เพื่อส่งสัญญาณ IP ขนาด 600 Mbps เพื่อส่งสัญญาณ IP จากสถานีส่งสัญญาณหลักของ LCO ขนาดใหญ่ในอำเภอเมือง ที่มีความพร้อมในการให้บริการสัญญาณเคเบิลทีวีในระบบ Digital เพื่อส่งสัญญาณผ่านสาย Fiber Optic ไปยัง LCO ขนาดกลาง ที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองของจังหวัดขนาดกลาง และจังหวัดขนาดเล็ก ที่อยู่ห่างจากสถานีส่งสัญญาณหลักเกินกว่า 50 กิโลเมตรขึ้นไป เพื่อให้ LCO ติดตั้ง IP Gateway ทำหน้าที่แปลงสัญญาณ IP เป็น RF ให้บริการระบบ Digital ได้โดยไม่ต้องลงทุนติดตั้งห้องส่งสัญญาณใหม่
3) ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นขนาดเล็ก
เป็น LCO ที่ให้บริการในเขตอำเภอรอบนอก ที่ไม่ใช่อำเภอเมืองของจังหวัดต่าง ๆ เช่น อำเภอฝาง อำเภองาว อำเภอชุมแพ อำเภอบัวใหญ่ อำเภอทุ่งสง เป็นต้น
LCO กลุ่มนี้ ต้องการรับสัญญาณระบบ Digital ผ่านสาย Dark Fiber Optic 1 Core ตรงจาก LCO ขนาดกลาง หรือ ขนาดใหญ่ที่อยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตร โดยการยิงสัญญาณ RF ตรงไปให้ LCO รายเล็กที่ให้บริการในระบบ Analog ให้สามารถให้บริการระบบ Digital ได้โดยไม่ต้องลงทุนติดตั้งห้องส่งสัญญาณใหม่
ทำระบบ Digital ให้ได้คือเป้าหมาย
การดำเนินการทั้ง 3 ส่วนจะทำให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่น ขนาดกลาง และขนาดเล็ก สามารถเปิดให้บริการระบบ Digital กับสมาชิกได้ โดยไม่ต้องลงทุนตั้งสถานีส่งสัญญาณด้วยตนเอง และทำให้เกิดการรวมตัวกันในกลุ่ม LCO แต่ละพื้นที่ เกิดเป็นโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่นขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ต้นทุนการดำเนินการลดลง และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพิ่มขึ้น
เอา Model เกาหลี และไต้หวันมาเป็นต้นแบบ
หากนโยบายนี้สามารถใช้โครงข่ายสาย Fiber Optic ของ CAT (ในส่วนที่เหลือใช้ หรือยังไม่ได้ใช้ประโยชน์) มาเป็นสื่อกลางในการเชื่อมสัญญาณสถานีส่งสัญญาณของ LCO แต่ละขนาด จะทำให้ LCO ที่ยังไม่มีความพร้อมในการให้บริการระบบ Digital สามารถเปิดให้บริการระบบ Digital ได้ทันที ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของ LCO ขนาดเล็กและขนาดกลาง ให้สามารถแข่งขันกับโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทอื่น ๆ ได้ รวมทั้งจะทำให้ LCO แต่ละพื้นที่เกิดความสามัคคี และมีการรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือกันพัฒนากิจการเคเบิลท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น จะทำให้เกิดเป็นโครงข่ายเคเบิลท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ หรือแต่ละภูมิภาค เหมือนที่เกาหลี และไต้หวัน ทำสำเร็จมาแล้ว
CAT มีอะไรอยู่ในมือ
1) มีโครงข่ายสาย Fiber Optic เชื่อมระหว่าง จังหวัด กับ จังหวัด ทั่วประเทศ โดยหลายพื้นที่มี Core Fiber Optic ไม่ได้ใช้งาน สามารถนำมาให้ LCO ใช้ประโยชน์โดยไม่เป็นภาระกับ CAT เกินสมควร
2) มีโครงข่ายสาย Fiber Optic เชื่อมระหว่าง จังหวัด กับ อำเภอรอบนอกโดยหลายพื้นที่มี Core Fiber Optic ไม่ได้ใช้งาน สามารถนำมาให้ LCO ใช้ประโยชน์โดยไม่เป็นภาระกับ CAT เกินสมควร
CAT จะได้อะไรจากเคเบิลท้องถิ่น (LCO)
ทุกพื้นที่ที่ใช้โครงข่าย Fiber Optic ของ CAT ในการส่งสัญญาณเคเบิลทีวี ระบบ Digital ไปให้ LCO ใช้งาน CAT จะสามารถใช้โครงข่ายสายเคเบิลทีวีของ LCO ที่ลากไปบนเสาไฟฟ้าจนถึงบ้านสมาชิกผู้ใช้บริการ (Last Mile) เพื่อให้บริหารเคเบิลทีวีคู่ขนานกับการให้บริการ Internet ของ CAT ได้
การให้บริการสามารถดำเนินการได้ดังนี้
1) ทำ Internet On Cable TV
เป็นการทำบนโครงสร้างสายเคเบิลปกติ (สาย Coaxial) ของ LCO โดยเป็นการทำแบบ EOC เป็นการทำโดย CAT จะต้องลงทุนในอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำ Internet แบบ EOC ทั้งหมด (CAT มีของใน Stock อยู่แล้ว) หรืออาจซื้อใหม่เพิ่มเติมบางส่วน การดำเนินการลักษณะนี้อาจจะเหมาะกับพื้นที่ของ LCO ขนาดเล็กและ LCO ขนาดกลาง หรือพื้นที่ที่ยังมีความเจริญไม่มาก การแข่งขันในเรื่อง Internet ยังไม่สูง เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมมากจนเกินไป จะทำให้คุ้มค่าในการลงทุนเร็วขึ้น และเมื่อตลาดมีการเติบโตพอสมควรแล้ว จึงปรับมาใช้อุปกรณ์ที่ดีขึ้น หรือปรับขึ้นมาเป็นระบบ FTTH ต่อไป ซึ่ง LCO ส่วนใหญ่จะมีความคุ้นชินในระบบ EOC อยู่แล้ว จึงสามารถช่วยเหลือ CAT ในการ ขาย ติดตั้ง และบริการหลังการขาย ได้เป็นอย่างดี
2) ทำแบบ FTTH
เป็นการทำในพื้นที่ที่ CAT เห็นว่าเหมาะสมที่จะลงทุนทำ FTTH โดย CAT จะต้องลงทุนเดินสาย Fiber Optic เพิ่มเติมจากโครงข่ายสาย Fiber Optic หลักที่ LCO มีอยู่แล้ว (ปกติเป็นแนวสายที่เดินไปตามถนนสายหลักต่างๆบนเสาไฟฟ้าในพื้นที่ที่ให้บริการเคเบิลทีวีในแต่ละจังหวัด) การดำเนินการแบบ FTTH นี้ CAT จะต้องเป็นผู้เลือกว่าต้องการจะดำเนินการในพื้นที่ใด และ LCO มีความพร้อมในการทำงานร่วมกับ CAT อย่างไร ดังนั้นการจะเลือกลงทุนแบบใด อาจต้องพิจารณาตามความเหมาะสม และความพร้อมของ LCO ในแต่ละพื้นที่
3) การลงทุนอุปกรณ์ Internet
อุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการให้บริการ Internet ไม่ว่าจะเป็นระบบ EOC หรือ FTTH ทาง CAT เป็นผู้ลงทุนเองทั้งสิ้น
4) การใช้กำลังคน
การขาย การติดตั้ง และ การซ่อมบำรุง จะเป็นหน้าที่ LCO ที่จะดำเนินการให้ (โดยคิดค่าดำเนินการ) เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่และเป็นเจ้าของโครงข่ายสาย ที่มีความคุ้นชินกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้ได้เปรียบในการดำเนินการ ส่วนทีมงานของ CAT จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนในแต่ละพื้นที่เท่านั้น
5) ส่วนแบ่งรายได้
จะต้องแบ่งตามความเหมาะสม ซึ่งจะต้องมีการเจรจาในรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ว่า ฝ่ายใดต้องใช้ทรัพยากรของตนเข้าร่วมโครงการมากน้อยเพียงใด โดยอาจต้องทำออกมาเป็น Model มาตรฐาน 3 รูปแบบ คือ CAT ลงทุนมากกว่า หรือ ทั้ง 2 ฝ่ายลงทุนไกล้เคียงกัน หรือ LCO ลงทุนมากกว่า ในแต่ละ Model จะมีการกำหนดส่วนแบ่งอย่างไร เพื่อให้สะดวกในการเจรจาของแต่ละพื้นที่ต่อไป
6) ขายท่อ Internet
หากในบางพื้นที่ CAT ไม่ต้องการลงทุนในอุปกรณ์ Internet หรือ การวางโครงข่ายสายแบบ FTTH ทาง CAT ก็ยังสามารถเจรจาขาย ท่อ Internet ให้ LCO เพื่อเอาไปขาย Internet ต่อให้กับสมาชิกต่อไปได้ แทนที่จะซื้อจากผู้ให้บริการรายอื่นที่ไม่ใช่พันธมิตรกัน
7) การทำการตลาด
การทำ CSR ร่วมกันระหว่าง LCO กับ CAT ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมในระดับท้องถิ่น และเป็นการขยายตลาดของ CAT สู่ประชาชนได้โดยรวดเร็ว และลงทุนน้อย
8) การประชาสัมพันธ์
CAT จะได้สื่อประชาสัมพันธ์ผ่าน LCO หรือสามารถใช้ช่องเคเบิลท้องถิ่นเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ได้อีกด้วย
กสทช. จะได้อะไรจากโครงการนี้
1) เป็นการช่วยเหลือให้ LCO ขนาดเล็กสามารถอยู่ได้ โดยสามารถเปลี่ยนผ่านระบบการให้บริการเคเบิลทีวีจากระบบ Analog มาสู่ระบบ Digital ได้โดยไม่ต้องลงทุนห้องส่ง (Headend) เพิ่มเติม
2) หากระบบ Digital ที่ให้บริการ เป็นระบบ Digital DVB-T จะทำให้ ประชาชนสามารถเพิ่มประสิทธิ์ภาพการใช้กล่อง STB DVB-T2 ที่ กสทช. แจกคูปอง 690 บาทให้สามารถรับช่องรายการทีวีได้เพิ่มขึ้น
3) LCO ไม่ต้องลงทุนกล่อง STB เพราะสมาชิกมีอยู่แล้ว จากคูปอง 690 บาทที่ กสทช. แจกเพื่อแลกซื้อ STB DVB-T2 หรือหากซื้อก็สามารถซื้อได้ทั่วไปในราคา 690 บาทในระบบ HD
เกษม อินทร์แก้ว ฮีโร่คนเดิมของเคเบิลท้องถิ่น
โครงการนี้เป็นดำริของกลุ่มผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นบางราย ภายใต้การนำของอดีตนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย (นายเกษม อินทร์แก้ว) ที่มีความประสงค์จะหาทางออกให้เคเบิลท้องถิ่นที่มีความเข้าใจ และมีความพร้อมในการที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก โดยมีสมมุติฐานว่า ผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นเป็นผู้มีความชำนาญในการทำเคเบิลท้องถิ่นมากว่า 20-30 ปี อาชีพนี้จะต้องให้ดำรงค์อยู่เป็นอาชีพหลักต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จะต้องหาทางพัฒนาการทำเคเบิลท้องถิ่นให้แข่งขันในตลาดให้ได้ ซึ่งบางครั้งอาจต้องเสียความเป็นส่วนตัวไปบ้าง แต่ก็จะสามารถรักษาชีวิตไว้ได้ เคเบิลท้องถิ่นไม่ควรไปฝากชีวิตไว้กับธุรกิจที่ไม่ถนัด โดยเฉพาะการทำ Internet หากจะต้องทำก็ควรเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่รายได้หลัก และหากจะให้ดี เคเบิลท้องถิ่นควรหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการทำ Internet มาช่วยสนับสนุน มาช่วยลงทุนร่วมลงทุน หรือมาลงทุนให้ โดยผู้เข้ามาร่วมโครงการจะต้องเห็นคุณค่าของเคเบิลท้องถิ่น เห็นประโยชน์จากการได้ใช้สาย Last Mile ที่เคเบิลท้องถิ่นมี โดยนำเอาจุดเด่นของแต่ละฝ่ายมาใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิ์ภาพ การทำงานจะประสบผลสำเร็จมากกว่าต่างคนต่างทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด
มานพ โตการค้า เพื่อนที่ไม่เคยทิ้งเพื่อน
โครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการประสานงานจาก กสทช. ธวัชชัย ผ่าน ดร. วิษณุ เพื่อเชื่อมให้เกิดความร่วมมือระหว่าง CAT ผ่าน ดร. สุรพันธ์ กรรมการของ CAT และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ CAT กับทีมงานผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นบางส่วนโดยมีคุณมานพ โตการค้า ประธานชมรมผู้ประกอบการโครงข่ายเคเบิลและโทรทัศน์ดาวเทียม (CABSAT) มาให้การสนับสนุนในการดำเนินการ ทั้งๆที่ทราบอยู่ว่า โครงการนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของเคเบิลท้องถิ่น ให้สามารถแข่งขันกับโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมได้ แต่เพื่อนก็คือเพื่อน ธุรกิจก็คือธุรกิจ ทุกฝ่ายเปิดใจได้กว้างพอที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
กสทช. ธวัชชัย มี 2 มือไม่พอต้องหาทางช่วยทางอื่น
ในมุมของ กสทช. ธวัชชัย ในฐานะที่ท่านดูแลในส่วนการกำกับดูแลในด้านการแข่งขัน เมื่อท่านไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นรายเล็กผ่านมือที่ยกในการประชุม กสท. 5 คนได้ ท่านจึงต้องหาทางออกด้วยการเป็นคนกลางช่วยประสานงานให้เกิดความร่วมมือ 3 ฝ่ายโดยให้ใช้หลัก การแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละฝ่ายให้เกิดความคุ้มค่าให้มากที่สุด ให้มีประสิทธิภาพให้มากที่สุด ใช้เงินลงทุนเพิ่มให้น้อยที่สุด
จะทำงานนี้ "ใจ" ต้องนิ่ง
ในวันนี้หลายคนอาจมองว่า การทำโครงการนี้ เคเบิลท้องถิ่นเสียเปรียบ หลายคนอาจมองว่า CAT เสียเปรียบ หลายคนอาจมองว่า กสทช. ใช้กลยุทธเบนความสนใจเคเบิลท้องถิ่นให้เลิกโจมตี กสทช. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ใจของคนมองว่า จะมองในมุมใด แต่หากตัดคำว่า เสียเปรียบ และได้เปรียบออกไป และไม่มองในมุมการเมือง ไม่มองในมุมผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วมามองว่า ใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ส่วนใครจะได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสิทธิภาพของแต่ละฝ่าย ใจคนคิดก็จะนิ่งขึ้น เพราะโครงการนี้หลักสำคัญอยู่ที่ "การแลกเปลี่ยนการทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละฝ่ายให้มีการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ" โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์ ประเทศชาติก็ได้ประหยัดเงินตราต่างประเทศที่แต่ละฝ่ายจะไม่ต้องไปลงทุนซ้ำซ้อนกัน หากทำได้ดี "CAT อาจจะรุ่ง และเคเบิลท้องถิ่น อาจจะรอด"สามารถผ่านวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปได้ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้
จะมาช่วยกันหรือจะเตะตัดขากันเหมือนเดิม
เป็นที่น่าสังเกตุว่า โครงการ 3 ประสานเป็นโครงการที่ดี ที่มีหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ ให้การสนับสนุน และเต็มใจช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นอย่างเต็มที่ โดยไม่มีข้อแม้ แต่โครงการนี้กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นบางกลุ่ม คงต้องโยนคำถามกลับไปที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ว่า ทำไมจึงไม่สนับสนุนโครงการนี้ หรือท่านมีโครงการอื่นที่ดีกว่า ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการเคเบิลท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดกลางให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปได้ หรือท่านจะเสียประโยชน์อะไร หรือท่านจะได้รับประโยชน์อะไร จากการที่เคเบิลท้องถิ่นไม่ทำอะไร แล้วปล่อยให้เคเบิลท้องถิ่นรายเล็กต่อสู้ด้วยตนเอง แล้ว "ฮาราคีรี" ตัวเองไปเรื่อย ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
ขอร้องเถอะครับ เราหมดเวลามาเตะตัดขากันแล้ว เรามาจับมือกัน เรามาร่วมมือกัน ประสานความสามัคคี ให้เคเบิลท้องถิ่นเป็นหนึ่งเดียวเหมือนในอดีต หากท่านยังไม่มีโครงการอื่นที่จะช่วยเพื่อนที่อ่อนแอได้ดีกว่านี้ มาช่วยกันทำโครงการนี้ให้สำเร็จ เหมือนที่เกาหลี และไต้หวัน เขาทำสำเร็จมาแล้ว เราไม่ต้องคิดใหม่ Copy and Development คนไทยเราทำเก่งอยู่แล้ว ไม่ใช่หรือครับ
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก : bangkokbiznews.com