การประมูล 4G : เมื่อไม่มีคอร์รัปชัน ประโยชน์ก็เป็นของประชาชน
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
23 มกราคม 2559
AIS มีรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วง 25 ปี (1 ตุลาคม 2533 – 30 กันยายน 2558) รวม 1,218,872 ล้านบาท โดยต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต ระหว่างปี 2546 – 2550 รวม 31,462 ล้านบาท จากนั้นจึงแบ่งรายได้ให้ “ทีโอที” เป็นเงิน 241,752 ล้านบาท
นี่คือตัวเลขที่ยืนยันว่าราคาที่มีการประมูลคลื่นโทรศัพท์ 4 จี เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมาไม่ได้มากมายอะไรเมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้ในแต่ละปี
ที่น่าสนใจคือ เงิน 249,021.1 ล้านบาทที่ได้จากการประมูลคลื่น 4 จี ครั้งนี้ทำให้รัฐได้เงินเพิ่มมากขึ้นถึง 204,482.35 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบราคาประมูลคลื่น 3 จี ในปี 2555 ที่ประมูลกันไปในราคาเพียง 44,538.75 ล้านบาท
แน่นอนว่าเงินทั้งหมดนี้คือผลประโยชน์ที่รัฐควรได้เพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศ
วิธีการและผลการประมูล 3 จี ได้สร้างความกังขาให้กับสังคมอย่างมากว่าเป็นการประมูลที่มีการสมรู้ร่วมคิดกัน “ฮั้วประมูล” จนมีคดีร้องเรียน กสทช. ต่อ ป.ป.ช. ในเวลาต่อมา
ดังนั้นก่อนการประมูล 4 จี เราจึงได้เห็นการติดตาม วิเคราะห์ การเปิดเผยข้อมูลและเสนอแนะอย่างเข้มแข็งด้วยความเสียสละนานนับปีของ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานฯ ทีดีอาร์ไอ รวมถึงสื่อมวลชนบางรายอย่าง ไทยพีบีเอส นสพ. กรุงเทพธุรกิจ นสพ. โพสต์ ทูเดย์ และสำนักข่าวอิศรา
จนเรื่องนี้เป็นกลายประเด็นที่สังคมจับตาและรัฐบาลต้องออกมาแสดงท่าทีอย่างต่อเนื่องว่าต้องการเห็นการประมูลที่โปร่งใส
นักวิชาการหลายท่านได้วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่มีการแข่งขันสูงในการประมูลครั้งนี้มาก มาจากปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 4 ประการ คือ
1. มีผู้ประกอบการรายใหม่ คือ บริษัท จัสมิน เข้าร่วมประมูลด้วย
2. ไม่มีข้อจำกัดเพดานในการถือครองคลื่นสูงสุดของผู้ประกอบการแต่ละราย (มีการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดการผูกขาดในอุตสาหกรรมแล้ว) ซึ่งส่วนนี้ต้องให้เครดิตแก่ กสทช. ที่ยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว หลังได้รับเสียงท้วงติงจากหลายฝ่าย
3. มีการแยกวันประมูลเป็นสองช่วงโดยทิ้งระยะเวลาห่างกัน แทนการประมูลทั้งหมดในสองวันติดกันตามแผนเดิมของ กสทช. ทำให้ยากที่ผู้ประกอบการจะสมคบราคากัน ซึ่งส่วนนี้ต้องให้เครดิตแก่รัฐบาล ดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้เกิดความโปร่งใสและการประมูลที่ไร้ข้อครหา
4. กสทช. ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายค่างวดจากเดิม จ่าย 50% ทันที และงวดละ 25% อีกสองงวด แต่คราวนี้เป็นการจ่าย 50% ของราคาประเมินที่ 1.6 หมื่นล้านบาท และงวดละ 25% อีกสองงวด ของราคาประเมินคือ 1.6 หมื่นล้านบาท ที่เหลือตามราคาประมูลให้จ่ายเป็นงวดที่ 4 ทำให้ผู้ประมูลมีเวลาอีกสามปี ในการหาเงินเข้ามาเพื่อจ่ายงวดสุดท้าย
จึงพอสรุปได้ว่า
รัฐและประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการให้สัมปทานหรือการดำเนินโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้
1) การดำเนินงานของรัฐต้องโปร่งใสและมีคุณธรรม
2) มีการสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้กลไกตลาดได้มีการแข่งขันอย่างเสรี
3) มีการร่วมคิดร่วมตรวจสอบโดยประชาชน นักวิชาการและสื่อมวลชน และ
4) ผู้นำของประเทศมีความมุ่งมั่นและจริงใจที่จะป้องกันมิให้เกิดการคอร์รัปชัน
ดร. สมเกียรติ ประธานฯ ทีดีอาร์ไอ ยังได้เสนอแนะไว้อีกว่า
การกำหนดนโยบายและการทำโครงการของรัฐที่สำคัญและมีผลต่อรายได้หรือการใช้เงินแผ่นดินสูง ควรมีการวิเคราะห์จากหลายๆ แหล่งที่มีคุณภาพสูง ประโยชน์จะมากกว่าการมีหน่วยงานเดียวหรือฝ่ายเดียวทำการวิเคราะห์ ซึ่งหมายถึงมีการตรวจสอบและถ่วงดุลย์อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก : http://www.acerspace.com/4g-lte-good/