ถึงเวลาทำให้ ‘สื่อไทย’ มีองค์กรตรวจสอบภายใน เรื่อง ‘จริยธรรม’
“เรามีองค์กรตรวจสอบภายใน เรื่องบัญชี การเงิน เหตุใดจะมีองค์กรตรวจสอบภายใน เรื่องจริยธรรมสื่อไม่ได้ แทนที่จะรอกฎหมาย ต้องลองปรับปรุงตนเองก่อน ถ้าพนักงานคนใดนอกแถว นอกกรอบ จริยธรรมที่ร่างกันเอง ก็ให้จัดการกันเอง หากผู้ร้องเรียนไม่พึงพอใจ ค่อยยื่นเรื่องต่อองค์กรวิชาชีพต่อไป”
การจากไปของดารานักแสดงน้ำดี ‘ปอ’ ทฤษฎี สหวงษ์ นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการบันเทิงไทย และเป็นปกติที่สื่อมวลชนจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ จนบางครั้งถูกตั้งคำถามจากสังคม ว่าละเมิดสื่อส่วนบุคคล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ โดยเฉพาะพฤติกรรมไม่เหมาะสมของสื่อมวลชนบางกลุ่มต่อการรายงานข่าวการเคลื่อนย้ายศพของพระเอกดังผู้นี้
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย เคยคร่ำหวอดอยู่ในวิชาชีพสื่อมวลชน ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นนักวิชาการ แสดงความเห็นไว้น่าสนใจ ในเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ ร่วมคิด ร่วมแก้ ปัญหาสื่อละเมิดสิทธิ์ ณ ห้องประชุม อิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร.มานะ กล่าวว่า เราอยู่ในยุคอุตสาหกรรมสื่อแข่งขันกันอย่างรุนแรง การแก้ไขปัญหาต้องเริ่มตั้งแต่ ‘เจ้าของอุตสาหกรรมสื่อ’ ซึ่งต้องเข้าใจอย่างดี ว่ากำลังทำสื่อ ไม่ได้ทำสินค้า ประเภทสบู่ ยาสีฟัน เพราะสื่อมีอิทธิพลกับคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแง่ดีหรือแง่ร้าย
“แค่ลงภาพเด็กหน้า 1 เปรียบเหมือนการให้ประกาศนียบัตร ในการเข้าสู่ด้านมืดมากขึ้น” เขากล่าว และว่า ส่วนลงภาพผู้หญิงถูกข่มขืนหน้า 1 เปรียบเหมือนการประจานหรือฆ่าตลอดชีวิต
ฉะนั้นเจ้าของอุตสาหกรรมสื่อต้องตระหนักให้ดี ลองคิดดู หากญาติพี่น้องเสียชีวิต โดนเผยแพร่ภาพไม่เหมาะสม ถามว่าเป็นเรื่องสมควรหรือไม่
ถ้าเจ้าของอุตสาหกรรมสื่อตระหนักเรื่องเหล่านี้ ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร โดยไม่เน้นเรื่องของเรตติ้ง หรือรายได้ มากเกินไป จนลืมสังคม โดยให้กำชับกองบรรณาธิการระมัดระวังมากขึ้น
นักวิชาการ ม.หอการค้าไทย ระบุอีกว่า กองบรรณาธิการต้องตระหนัก ย้ำเตือน อบรม หรือบอกกล่าวกับนักข่าวภาคสนาม และช่างภาพภาคสนาม ว่ากฎกติกาเหล่านี้เป็นนโยบาย หากปฏิบัติได้เชื่อเหตุการณ์คล้ายคลึงกับ ‘ปอ’ ทฤษฎี จะลดน้อยลง
เท่านี้ยังไม่เพียงพอ! แต่ละองค์กรสื่อควรแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหรือกลั่นกรองในเรื่องจริยธรรมขององค์กรสื่อเองด้วย โดยให้มีบุคคลจากภายในและภายนอก ที่มีความเป็นกลาง ทำหน้าที่ในการตรวจสอบจริยธรรม เมื่อมีการร้องเรียนขึ้น
“เรามีองค์กรตรวจสอบภายใน เรื่องบัญชี การเงิน เหตุใดจะมีองค์กรตรวจสอบภายใน เรื่องจริยธรรมสื่อไม่ได้ แทนที่จะรอกฎหมาย ต้องลองปรับปรุงตนเองก่อน ถ้าพนักงานคนใดนอกแถว นอกกรอบ จริยธรรมที่ร่างกันเอง ก็ให้จัดการกันเอง หากผู้ร้องเรียนไม่พึงพอใจ ค่อยยื่นเรื่องต่อองค์กรวิชาชีพต่อไป”
สำหรับผู้บริโภค ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า ต้องทำหน้าที่ยกระดับตัวเอง โดยยังเชื่อในการตรวจสอบของสังคมที่มีในสื่อ ขณะที่บล็อกเกอร์หรือเพจต่าง ๆ เป็นไปได้หรือไม่ จะรวมกลุ่มกันร่างกฎกติกาขึ้นเอง ไม่ทำในเรื่องไม่เหมาะสม
“อะไรที่ว่าไม่เหมาะสม ไม่ดี ต้องไม่โพสต์ แชร์ ไม่กดไลท์ หากต้องการตำหนิติเตียน ให้แคปหน้าจอ ว่าสื่อนี้ออกหน้าจอทีวีไม่เหมาะสม” เขากล่าว และว่า ขณะเดียวกันภาคประชาสังคมต้องสร้างเครือข่าย เรียนรู้ในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อด้วย
ส่วนเอเจนซีโฆษณา หรือสปอนเซอร์ ควรหันมาสนับสนุนสื่อที่มีจริยธรรม หรือผลผลิตเนื้อหาเชิงคุณภาพมากขึ้น
ด้วยเชื่อว่า ถ้ายุคนี้สื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้ สังคมก็ต้องเปลี่ยนแปลงสื่อได้เหมือนกัน .
ภาพประกอบ:ทฤษฎี สหวงษ์-เว็บไซต์ YOUTUBE