นักจัดรายการวชช. สะกิดคนทำงานวิทยุชุมชนต้องมีจิตอาสา
นักจัดรายการวิทยุชุมชนอาวุโสชี้ทางรอดสื่อท้องถิ่น คนทำต้องเทใจเต็มร้อย ไม่หวังผลตอบแทน เน้นจิตอาสาสร้างสรรค์รายการเพื่อรากหญ้า
เร็ว ๆ นี้ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การสร้างเสริมศักยภาพในการสื่อสารของวิทยุชุมชน” โดยมีตัวแทนวิทยุชุมชน 22 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วม
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์นางจันทร์ทัย กลิ่นโกศล วัย 76 ปี บอกเล่าประสบการณ์การเป็นนักจัดรายการอาสาที่วิทยุชุมชนสหพัฒนา เอฟเอ็ม 107.85 เมกกะเฮิร์ตซ์ ว่า ตนเป็นข้าราชการบำนาญกรมที่ดิน จึงใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยการเข้ามาทำกิจกรรมพัฒนาสังคมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทั่งนายประสาร ประดิษฐ์โสภณ ซึ่งเป็นเครือข่ายคนทำงานวิทยุชุมชน ชวนให้มาจัดรายการวิทยุชุมชน โดยตนจัดรายการด้านสุขภาพสำหรับคนวัยชราและรายการข่าวภาคเช้า เวลา 8.00-12.00 น.ตั้งแต่ปี 2545 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยวิธีหาข้อมูลผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตและหน่วยงานราชการต่าง ๆ มาอ่านออกอากาศ
นักจัดรายการอาสา กล่าวต่อว่า นักจัดรายการวิทยุชุมชนที่ดีต้องมีใจที่จะให้หรือเสียสละ ในที่นี้คือให้ความรู้ ใครที่เดินเข้ามาตรงนี้ถือว่าเป็นครูที่ไม่คิดค่าตอบแทน แต่เมื่อทำดีมากเท่าไหร่ก็จะได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านมากตามไปด้วย
“คนแก่ถ้าได้รู้ตัวเองว่ามีคุณค่าในสายตาคนอื่น มันรู้สึกภาคภูมิใจ แต่ถ้ารู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว ไม่มีใครดูแล ไม่มีประโยชน์ มันจะยิ่งทำให้เราท้อแท้ ดังนั้นป้าว่ามันเป็นความสบายใจอย่างหนึ่ง เพราะการที่เราเป็นผู้ให้ทำให้เราได้กุศล จิตใจอิ่มเอิบ” นางจันทร์ทัย กล่าว
ขณะที่นายเสริม เชาวะวนิชย์ อายุ 32 ปี กล่าวว่า ตนก้าวเข้ามาเป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชน คลื่นเอฟเอ็ม 102.75 เมกกะเฮิร์ตซ์ เมื่อปี 2551 โดยเริ่มต้นจากการชักชวนจากรุ่นพี่ที่รู้จักให้ทำหน้าที่ฝ่ายเทคนิคในสำนักงาน จนได้เรียนรู้และเป็นนักจัดรายการวิทยุชุมชน ซึ่งจะจัดรายการประเภทบันเทิงวาไรตี้โดยเจาะกลุ่มผู้ฟังที่เป็นวัยรุ่น ออกอากาศสัปดาห์ละ 1 วัน
นายเสริม กล่าวต่อว่า อาชีพนักจัดรายการวิทยุชุมชนเป็นสิ่งท้าทายและทำให้กล้าแสดงออก เปิดกว้างทางความคิด มีอิสระในการจัดรายการ เพราะวิทยุชุมชนแตกต่างจากวิทยุคลื่นหลักคือไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องรายได้ จึงไม่ต้องมีโฆษณา ไม่ต้องมีสคริปต์บังคับ ดังนั้นอยากชวนวัยรุ่นในปัจจุบันเข้ามาเป็นจิตอาสาทำงานวิทยุชุมชน ซึ่งเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและชุมชน
ด้าน นางประพิศ ชุ่มอภัย อายุ 55 ปี กล่าวว่า ตนเป็นนักจัดรายการคนเดียวที่มีร่างกายครบ 32 ในสถานีวิทยุชุมชนเพื่อผู้ด้อยโอกาสไทย เอฟเอ็ม 90.75 เมกกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย โดยตนตั้งใจอาสาเพื่อเข้ามาให้ความรู้และความบันเทิงแก่คนพิการและผู้ด้อยโอกาส แต่กลุ่มผู้ฟังยังครอบคลุมถึงหนุ่มสาวโรงงาน ตลอดจนคนรักสุขภาพ เพราะเป็นรายการวาไรตี้บันเทิงที่มีสาระด้านสุขภาพ ฟังแล้วคลายเครียด คลายเหนื่อย และมักมีแฟนรายการโทรศัพท์เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
“หลายคนถามว่าไม่ได้เงินแล้วอยู่ได้อย่างไร สิ่งที่ทำได้คือเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือยเหมือนแต่ก่อน เพราะการจัดรายการไม่ได้รับค่าตอบแทนใดเลย เพียงเพราะใจเราชอบก็อาสามาทำ”
นางประพิศ กล่าวอีกด้วยว่า พอใจที่ทำให้ผู้ฟังมีความสุข และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยุชุมชนซึ่งเป็นสื่อที่ทำประโยชน์ให้ชาวบ้านและกลุ่มคนรากหญ้า