นักวิชาการอัดสื่อเลิกอ้างแข่งขันสูง ทำหย่อนจริยธรรม นำเสนอข่าว ‘ปอ ทฤษฎี’
ยกเคส 'ปอ' ทฤษฎี ถกทางแก้สื่อละเมิดสิทธิ์ นายก ส.นักข่าวบันเทิง เชื่อทุกคนมีจรรยาบรรณ แต่ส่วนน้อยที่นำมาใช้ จี้สมาคมนักข่าวฯ-สภาการหนังสือพิมพ์ กำกับดูแลจริงจัง ไม่ใช่แค่เสือกระดาษ ด้าน บก.ภาพ บางกอกโพสต์ บอกช่างภาพทุกคนมีจิตวิญญาณ ยอมรับความผิดพลาด แต่ขอความเห็นใจคนทำถูก ขณะที่ ‘ดร.มานะ’ อัดสื่อเลิกอ้างคู่แข่งเยอะ ทำหย่อนจริยธรรม
วันที่ 22 มกราคม 2559 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ ร่วมคิด ร่วมแก้ ปัญหาสื่อละเมิดสิทธิ์ ณ ห้องประชุม อิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ภายหลังเกิดกรณีสื่อมวลชนบางส่วนแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อการรายงานข่าวการเคลื่อนย้ายศพ ‘ปอ’ ทฤษฎี สหวงษ์ ดารานักแสดงชื่อดัง จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่าเข้าข่ายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นายเสรี ชยามฤต นายกสมาคมนักข่าวบันเทิง เปิดเผยว่า กรณีคุณปอ นอนพักรักษาตัวที่ รพ.รามาธิบดี 2 เดือน แม้จะสลับสับเปลี่ยนกันติดตามข่าว แต่นักข่าวบันเทิงทุกคนก็มีมารยาทและจรรยาบรรณดีพอสมควร ที่จะไม่ละเมิดสิ่งที่ไม่เหมาะสม ตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่ และญาติ จึงไม่มีปัญหาวุ่นวาย
“นักข่าวบันเทิงมีจรรยาบรรณ แต่ส่วนน้อยที่นำจรรยาบรรณนั้นมาใช้กับตนเอง และส่วนมากจะไม่นำมาใช้ แต่ใช้สิทธิพิเศษที่ตนเองมีดำเนินการแทน” นายกสมาคมนักข่าวบันเทิง กล่าว และว่า อยากให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควบคุมกันเองภายใต้กฎกติกาเคร่งครัด ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เสือกระดาษเท่านั้น
ด้าน น.ส.ศตกมล วรกุล บรรณาธิการบริหาร NEW TV กล่าวว่า ไม่เฉพาะนักข่าวบันเทิงเท่านั้นที่มีจำนวนมากขึ้น แต่ยังมีสื่อออนไลน์ที่มีอิทธิพลมากกว่าสื่อกระแสหลัก ยกตัวอย่าง เพจชื่อดังต่าง ๆ ที่กลุ่มผู้บริโภคแชร์ และสื่อกระแสหลักก๊อปปี้ กังวลว่า จะทำให้เกิดการเข้าใจผิดสื่อออนไลน์กลุ่มนั้นเป็นสื่อกระแสหลักได้ จึงย้อนถามกลับว่า ขณะนี้นิยามของสื่อสารมวลชนในตลาดเมืองไทยเป็นอย่างไร
อีกประเด็นหนึ่ง คือ นักข่าวบันเทิงหรือช่างภาพบางคนไม่ได้จบการศึกษาในด้านนิเทศศาสตร์ ทำให้ไม่ผ่านการอบรมเรียนรู้เรื่องจริยธรรมสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสมาคมหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องมีการอบรมในด้านดังกล่าว แต่ทำอย่างไรให้สื่อมวลชนที่จบการศึกษาจากด้านอื่น เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เข้าใจก่อนทำหน้าที่นี้
“สมาคมสื่อมวลชนในปัจจุบันมีจำนวนเยอะมาก สิ่งสำคัญต้องทำอย่างไรให้รวมตัวกันชัดเจน เพื่อกำกับดูแลกันเอง หากยังสะเปะสะปะ ความมีเอกภาพของสื่อ ในการสร้างอิทธิพลโน้มน้าว และเกรงใจต่อกัน จะมีน้อย” บรรณาธิการบริหาร NEW TV กล่าว
ขณะที่นายสาโรช เมฑโสภาวรรณกุล บรรณาธิการฝ่ายภาพ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า การสั่งงานเป็นความคาดหวังที่มีอิทธิพล แต่สิ่งที่ต้องตระหนัก คือ เราคาดหวังในสิ่งที่ละเมิดความเป็นมนุษย์ไม่ได้ ละเมิดจริยธรรมไม่ได้ บางครั้งไม่ได้ภาพ เหตุใดยังอยู่ได้ ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีภาพเหล่านั้น แต่สามารถหลีกเลี่ยงไปใช้ภาพอื่นแทนยืนอยู่บนหลักจรรยาบรรณ
ทั้งนี้ ปัญหาเกิดจากคน ไม่ได้ตำหนิย้อนใคร เพราะทุกคนได้รับบทเรียน สิ่งที่ต้องกลับมาทบทวน เราในฐานะผู้กำกับดูแล ผู้ปล่อยภาพออกไป ถามว่าได้ทำหน้าที่แล้วหรือไม่ ได้อบรมคนแล้วหรือไม่ แน่นอนส่วนหนึ่งสถาบันการศึกษามีส่วนในการอบรมสั่งสอนเรื่องจริยธรรม แต่ในฐานะองค์กรทำแล้วหรือไม่
บรรณาธิการฝ่ายภาพ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ระบุอีกว่า ในอนาคตเชื่อจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เพราะเราไม่เคารพซึ่งกันและกัน แม้วิชาชีพจะพยายามสร้างแนวทางปฏิบัติงานร่วมกัน แต่ยังแก้ปัญหาคนไม่ได้ ก็ยังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นปัจจัยสำคัญอยู่ที่ คน องค์กร และกระแสสังคม ตามลำดับ
“ช่างภาพทุกคนมีจิตวิญญาณ มีจริยธรม แต่สิ่งที่เราโดนยอมรับเป็นการกระทำที่ผิดพลาด แต่ขอความเห็นใจให้ผู้ที่ทำงานอย่างถูกต้องด้วย” นายสาโรช กล่าว
ขณะที่ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีคุณปอ ทฤษฎี เป็นจุดสำคัญทำให้แวดวงวิชาชีพสื่อกลับมาพูดคุยกัน ทั้งนี้ คาดหวังว่า เกียรติยศศักดิ์ศรีของสื่อมวลชนที่หลายคนยกย่อง จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและเป็นพลังต่อไปในอนาคต แม้ปัจจุบันสื่อจะมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้แข่งขันเฉพาะกับสื่อกระแสหลักเท่านั้น แต่ยังมีสื่ออื่น ๆ อีกด้วย
“การมีคู่แข่งมากขึ้น มิใช่ข้ออ้างทำให้เราหย่อนจริยธรรมลง ยิ่งสำคัญต้องขยายหรือยกจริยธรรมของตนเองขึ้น เน้นตรงนี้ให้เด่นชัด เราต้องแสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนมืออาชีพมีจริยธรรมเข้มแข็งและเหนือกว่า” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าว
สุดท้าย นางทิชา ณ นคร อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่า กรณีของคุณ ปอ ทฤษฎี ทำให้สื่อต้องกลับมาทบทวนตนเอง เปลี่ยนวิธีคิด จากเดิมในอดีตบอกว่า สื่อต้องนำเสนอข่าวแบบนี้ เพราะผู้บริโภคต้องการ สามารถมโนได้ เพราะไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ความจริง ปัจจุบันเกือบทุกคนออกมาแสดงตัวว่า ไม่ต้องการเห็นภาพการเสียชีวิตหรือหน้าตาที่ไม่สง่างาม
หากสื่อยังชอบพูดว่า ทำหนัง ทำละคร ที่มีเนื้อหารุนแรง เพราะคนชอบ การพูดเช่นนี้เปรียบกับสื่อกำลังนำผ้าสกปรกเช็ดโต๊ะสกปรก แล้วเมื่อไหร่โต๊ะนั้นจะสะอาด บางครั้งสื่อจึงต้องวิ่งไปล่วงหน้า นำทางสังคมไทยไปสู่จุดเปลี่ยนให้ได้ ซึ่งยอมรับว่า ขณะนี้มีสื่อจำนวนหนึ่งในกระแสหลักเป็นผ้าสกปรก และไม่มีทางที่โต๊ะจะสะอาดได้ .
ภาพประกอบข่าว:ทฤษฎี สหวงษ์-เว็บไซต์ sanook