‘ดาว์พงษ์’ จับมือเอกชน สานพลังประชารัฐ ผลิตเด็กอาชีวะป้อนตลาดตรงความต้องการ
3 กระทรวง จับมือภาคเอกชน-ประชาสังคม ลงนามข้อตกลง สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพชีวิตอาชีวศึกษา ‘ดาว์พงษ์’ ตั้งเป้าประเมินผลภายใน 2 ปี ชี้ความสำเร็จขึ้นอยู่กับผลงาน เร่งเปลี่ยนทัศคติเด็ก จบอาชีวะ ศักดิ์ศรีไม่ด้อยกว่าปริญญา
วันที่ 21 มกราคม 2559 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานการลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือสานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพชีวิตอาชีวศึกษา (Competitive Workforce)” ของคณะทำงานการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ซึ่งเป็นคณะร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน (ประชารัฐ) ณ ที่โรงแรมสยามเคมเปนสกี้
โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม, นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน 13 แห่ง และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานกรรมการบริหาร สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นตัวแทนภาคประชาสังคม เข้าร่วมลงนาม
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพวิชาชีพ ต้องดำเนินการภายใต้ภารกิจ 5 ประการ คือ 1.การสร้างค่านิยมหรือแรงจูงใจให้เด็กมาเรียนอาชีวะมากขึ้น 2.การผลิตผู้เรียนอาชีวะในสาขาที่ขาดแคลนให้มีปริมาณเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ 3.การสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนอาชีวะ 4.การสร้างอาชีวะให้มีความเป็นเลิศในแต่ละด้าน 5.ให้อาชีวะมีความเป็นสากลและมีความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ ความยั่งยืนของโครงการที่จะเกิดขึ้น รมว.ศธ. ระบุว่า มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 2 ปี ซึ่งการประเมินความยั่งยืนขึ้นอยู่กับผลงาน อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า 1 ปีครึ่ง ในการบริหารประเทศของรัฐบาลปัจจุบัน จะทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม เพื่อหักล้างผลการประเมินของ World Economic Forum (WEF) ที่ให้คุณภาพการศึกษาของไทยต่ำกว่าลาว แม้เด็กไทยจะเก่ง แต่เราผลิตบุคลากรไม่ตอบโจทย์ความต้องการภาคเอกชน
พล.อ.ดาว์พงษ์ ยังกล่าวถึงความกังวลงบประมาณอาชีวศึกษามีสัดส่วนน้อย อาจส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาว่า กระทรวงศึกษาฯ ดูงบประมาณในภาพรวม และต้องคำนึงถึงภาระงบประมาณของรัฐด้วย โดยยอมรับได้รับจำนวนน้อยจริง เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันอุดมศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่พยายามแบ่งสัดส่วนให้เหมาะสม
“หากการประเมินผลดี จะไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลงโครงการนี้ แต่ถ้าทำแบบฉาบฉวย อนาคตก็จะมีคนพร้อมจะเปลี่ยนแปลง จึงถือเป็นความท้าทายของคณะทำงาน” รมว.ศธ.กล่าว และว่า เด็กจบอาชีวะไม่ตกงาน 100% เพียงแต่ต้องสร้างแรงจูงใจใหม่ โดยเฉพาะเงินเดือน และทัศนคติว่า จบอาชีวะมีศักดิ์ศรีไม่น้อยกว่ามหาวิทยาลัย
ขณะที่นายรุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการขับเคลื่อนด้านการยกระดับวิชาชีพ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ใช้เวลา 6 เดือน ได้แก่
1 Re-Branding เพื่อสร้างแรงจูงใจผ่านภาพลักษณ์ที่ดีกับกลุ่มเป้าหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยสื่อสารให้เห็นถึงโอกาสความก้าวหน้าในวิชาชีพอาชีวศึกษา รวมถึงผลตอบแทนที่ดีตามระดับทักษะความสามารถที่ได้รับการประเมินตามมาตรฐาน และสร้างความภาคภูมิใจให้กับบุคลากรสายวิชาชีพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
2.สร้าง Excellence Model Schools พิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ มีรูปแบบการเรียนการสอนเหมาะสม และสามารถเป็นพี่เลี้ยงสถานศึกษาอาชีวศึกษา รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม
3.Database ร่วมพัฒนาฐานข้อมูล ทั้งในส่วนอุปสงค์ของความต้องการแรงงานวิชาชีพและอุปทานของแรงงานวิชาชีพที่จบการศึกษา ของภาพรวมทั้งประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวอีกว่า สำหรับระยะกลางและยาว ต้องกำนหดมาตรฐานทักษะวิชาชีพ การเรียนการสอน การจ้างงาน ค่าตอบแทน ฯลฯ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือ แก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมการยกระดับคุณภาพชีวิต ผลักดันให้มีหน่วยงานรวบรวมฐานข้อมูล ของวิชาชีพอาชีวศึกษา ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรและครูผู้สอน โดยให้มีสถาบันพัมนาครูระดับอาชีวศึกษาด้วย
ทั้งนี้ ภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการ 13 องค์กร ได้แก่ เอสซีจี, บจก. การบินกรุงเทพ, บจก.ช.การช่าง, บจก. ซัมมิท โอโต บอดี้ อันดัสตรี, บมจ. ซีพี ออลล์, บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์, บมจ.ธนาคารกสิกรไทย, บจก.น้ำตาลมิตรผล, บจก.ฤทธา, บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล, บมจ.ไออาร์พีซี, บมจ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล และบจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล
ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จะส่งเสริมอาชีวศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนได้มาตรฐานวิชาชีพตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเร่งผลักดันสาขาในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve Industries) ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน, โลจิสติกส์, แปรรูปอาหาร, ดิจิทัล รวมถึงการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
อีกทั้งจะบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในและต่างประเทศ จัดทำมาตรฐานวิชาชีพ อาทิ มาตรฐานวิชาชีพผู้ฝึกอบรมในสถานประกอบการร่วมกับสภาอุตสาหกรรม การจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาคี มาตรฐานผู้สอนภาษาอังกฤษร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ มาตรการอาชีพผู้สอนแมคคาทรอนิกส์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาและเยอรมนี .