นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ 60 ปี วงการทีวีไทยกำลังแย่ มีรายการเด็ก 30 นาที/วัน
นักวิชาการจุฬาฯ เผยไทยมีรายการทีวีเด็กต่อวันเพียง 30 นาที แนะ กสทช. ทบทวนประกาศผังรายการ ชี้ 60 ปีของวงการทีวีไทย เป็น 60 ปีแห่งความมืดมนของรายการเด็ก
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอหอประชุมนิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการ“จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทยกับก้าวต่อไปในยุคดิจิทัล” โดยมีอาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว และคณะผู้เขียนหนังสือ“จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทย: วิวัฒนการกิจการโทรทัศน์ไทย” ร่วมเสวนา
ตอนหนึ่งของการเสวนา อ.มรรยาท อัศรจันทโชติ ผู้เขียนเรื่อง 60 ปีรายการโทรทัศน์เด็กของไทย กล่าวว่า ตลอด 60ปี ของวิวัฒนการโทรทัศน์ไทย รายการที่เกี่ยวข้องกับเด็กในประเทศไทยนั้นค่อนข้างเป็นความมืดมน เพราะที่ผ่านมารายการส่วนใหญ่ที่เป็นรายการเด็กยังเป็นรายการจากต่างประเทศ ในลักษณะการซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาฉายมากกว่า
“สังเกตได้ว่ารายการที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่เป็นของคนไทย มักอยู่ไม่รอด เพราะขาดการสนับสนุนด้านการเงิน" อ. มรรยาท กล่าว และว่า จนกระทั่งมาถึงยุคที่มี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มี สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) จึงเริ่มมีการสนับสนุนงบประมาณ และขับเคลื่อนให้มีช่วงเวลารายการสำหรับเด็กซึ่งเป็นมติของ ครม.ให้มีอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ถึง 1ชั่วโมงครึ่ง รวมไปถึงการจัดอันดับความเหมาะสมในเรื่องเรตติ้งทีวีก็เกิดขึ้นในช่วงนี้
สำหรับการเกิดขึ้นของทีวีสาธารณะอย่าง ไทยพีบีเอสนั้น อ.มรรยาท กล่าวว่า เป็นพื้นที่ให้คนทำรายการทำสำหรับเด็กและมีงบประมาณให้ และประกอบกับที่ สสส. สนับสนุนส่วนหนึ่ง รวมไปถึงการเกิดองค์อิสระ จึงพาให้เกิดคำถามต่อไปว่า นี่จะเป็นยุคแห่งโอกาสของรายการเด็กในเมืองไทยได้หรือไม่ เพราะถึงแม้จะมีองค์กรอิสระคอยกำกับอย่าง กสทช. ที่มีการประกาศเรื่องของการจัดทำผังรายการที่ให้ทุกช่อง ต้องมีรายการสำหรับเด็กอย่างน้อยวันละ 60 นาที ในชั่วเวลา 4-6 โมงเย็น แต่ ทุกวันนี้จากสำรวจพบว่า มีรายการสำหรับเด็กต่อช่องตกวันละแค่เพียง 30 นาทีเท่านั้น บางช่องไม่มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ประกาศฉบับนี้ประกาศใช้ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2556"
เมื่อทีวีดิจิทัลเมื่อเกิดขึ้น จะเป็นโอกาสของรายการเด็กได้หรือไม่นั้น อ.มรรยาท กล่าวว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า ยังไม่เห็นโอกาสสำหรับรายการเด็กสักเท่าไร เอาง่ายๆ ช่องทีวีดิจิทัลสำหรับเด็ก หายไปแล้วหนึ่งช่อง อีกสองช่องสถานการณ์ก็กำลังแย่ เพราะฉะนั้นตอนนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลคือการหาทางคืนทุน เพราะฉะนั้นเมื่อคิดหาทางคืนทุน การหาโอกาสให้กับช่อง ของรายการเด็ก รวมไปถึงวิธีประมูลช่องรายการเด็กที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องไปนั่งคิดหาวิธีคืนทุน ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับรายการเด็กที่จะหาทุนคืนกำไรได้อย่างแท้จริง
"ตลอด 60 ปีของวงการโทรทัศน์ไทย ไม่เคยมียุคทองของรายการเด็กเลย คำถามที่จะชวนคิดคือ หากเราทุกคนเห็นความสำคัญของเด็กจริง ไม่ใช่แต่บอกว่าเด็กดีเป็นศรีของชาติ หรือเด็กเป็นอนาคตของชาติ เราจะพบว่าตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการกระทำหรือปฏิบัติที่ใส่ใจในรายการเด็กอย่างแท้จริง" อ.มรรยาท กล่าวทิ้งท้าย