สื่อมวลชนหรืออีเเร้ง? คำถามจากสังคม กรณีปอ ทฤษฎี
"...ถึงเวลาแล้วที่เราผู้อยู่ในวิชาชีพและผู้บริหารธุรกิจสื่อ มาร่วมกันเปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาสด้วยการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวและภาพเหตุการณ์พิเศษในโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านบันเทิงอย่างมืออาชีพ..."
หมายเหตุ:เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยเเพร่บทความ เรื่อง กรณีการรายงานข่าวเเละภาพการเสียชีวิตของ 'ปอ' ทฤษฎี สหวงษ์ ในเเฟนเพจเฟซบุ๊ก 'จริยธรรมวารสารศาสตร์'
การรายงานข่าวและภาพการเสียชีวิตของ ‘ปอ’ ทฤษฎี สหวงษ์ จากโรคไข้เลือดออกเมื่อวันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2559 ทำให้สื่อมวลชนตกเป็นจำเลยของสังคมอีกครั้ง เมื่อเกิดการแหวกแผงเหล็กเข้าไปถ่ายผู้เสียชีวิตและญาติขณะออกจาก ‘ห้องสุดท้าย’ ไปทำพิธีทางศาสนาที่จังหวัดบุรีรัมย์ ในช่วงเช้าของวันอังคารที่ 19 มกราคม ความชุลมุนจึงเกิดขึ้นจากต่างคนต่างต้องถ่ายภาพให้ได้
เมื่อรูปการรุมล้อมขบวนศพของช่างภาพปรากฏบน ‘สื่อออนไลน์’ จึงมีถ้อยคำตำหนิจากสังคมถึงความเหมาะสมในการรายงานข่าวนี้นับจำนวนไม่ได้ อันอาจสรุปจากกลอนของชาวสื่อสังคมผู้หนึ่ง ดังนี้
สื่อมวลชน หรืออีแร้ง เข้าแย่งชิง จรรยาบรรณ ถูกทิ้ง ไว้ที่ไหน
เขาสูญเสีย ยังไม่พอ อีกหรือไร พวกมักได้ เห็นแต่ ประโยชน์ตน
ภาพอย่างนี้ เกิดครั้งแล้ว และครั้งเล่า เอาใจเขา ใส่ใจเรา ดูสักหน
ฉันถามหา ศักดิ์ศรี ความเป็นคน สุภาพชน ทำเช่นนี้ ได้อย่างไร
ฐานันดร ที่สี่ ที่ได้มา เพื่อประโยชน์ ปวงประชา รู้บ้างไหม
แล้วสิ่งที่ พวกคุณทำ ประโยชน์ใคร ไว้อาลัย พฤติกรรม สุดต่ำตม
ส่วนนักวิชาการก็ย้อนสื่อให้ตั้งคำถามตนเอง ถึง (1) เส้นแบ่งที่เหมาะสมในการได้มาของข่าวระหว่าง ซื่อสัตย์ สุภาพ สุจริต กับ ละเมิด รุกล้ำ คุกคาม
(2) การทิ้งเกียรติและศักดิ์ศรีวิชาชีพตนเองไปแล้ว หรือมองความหมายของอาชีพตนเองอย่างไร
(3) มองเห็นหรือได้ยินเสียงร่ำไห้ของเหยื่อ และเสียงขอร้องของประชาชนไม่ให้นำเสนอข่าวนี้ในมุมไร้จริยธรรมหรือไม่
และ (4) องค์กรวิชาชีพสื่อ จะลุกขึ้นมาทำอะไรบ้างกับเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด
ข้างต้น เกิดขึ้นจากคิดแต่ให้ได้ภาพดีที่สุดมารายงาน แต่ตรงกันข้าม ภาพซึ่งสื่อเห็นว่าดีที่สุดนั้น สังคมกลับมองว่าได้มาด้วยวิธีการแย่ที่สุด เพราะนอกจากก้าวล้ำสิทธิส่วนบุคคลแล้ว ยังไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิตและญาติอีกด้วย
ถึงเวลาแล้วที่เราผู้อยู่ในวิชาชีพและผู้บริหารธุรกิจสื่อ มาร่วมกันเปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาสด้วยการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวและภาพเหตุการณ์พิเศษในโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านบันเทิงอย่างมืออาชีพ
ทั้งนี้ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของวิชาชีพสื่อมวลชน.