กสทช.เล็งจัดระบบการจัดเรตติ้งแบบใหม่ หวังใช้เป็นมาตฐานเท่ากันหมด
กสทช.ยืนยัน แจกคูปองทีวีดิจิทัลเพิ่ม ด้านเลขาธิการ เผยไม่เป็นห่วง หากย้ายคลื่นความถี่กลับไปเป็นของรัฐ เพราะรัฐก็คือประชาชน วอนอย่าตีความให้มาก
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 ในงานเสวนาวิชาการ “จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทยกับก้าวต่อไปในยุคดิจิทัล” ณ หอประชุมนิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการองค์การกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวเปิดงาน
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ปี 2559 จะถือเป็นปียุทธศาตร์หลักของทีวีดิจิทัล เพราะจากการสำรวจคาดการณ์เอาไว้ว่า ในปีนี้อัตราค่าโฆษณาจะยังเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่เเล้ว พร้อมยอมรับว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกอย่างน้อยๆ 5 ปี ซึ่งตรงนี้ผู้ประกอบการต้องอดทนรออีกนิด
"ตอนนี้เราเพิ่งผ่านมาแค่ 1 ปีกว่าๆ ยังต้องปรับปรุงอีกมาก ขณะเดียวกันพฤติกรรมของคนดูก็เปลี่ยนไป เนื่องจากโลกโซเชียลมีเดียเข้ามามีส่วนสำคัญมากขึ้น คนเริ่มดูทีวีน้อยลง เพราะสามารถหาดูที่ไหน ตอนไหนก็ได้ ดังนั้นในเมื่อมีสื่อกระแสอื่นที่เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ เจ้าของช่องทีวีต่างๆ ต้องหากลยุทธ์ ปรับเนื้อหา (content) ให้สามารถดึงคนดู"
ในประเด็นเรื่องการจัดเรตติ้ง นายฐากร กล่าวว่า ขณะนี้ทาง กสทช.ได้มีการพูดคุย หารือกันว่าจะจัดให้มีระบบการจัดเรตติ้งแบบใหม่ ที่สามารถใช้เป็นมาตฐานเท่ากันทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้ ทางกสทช. อาจเข้ามาจัดการโดยตรง แต่ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการพูดคุย ซึ่งคาดว่าจะต้องเเล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ สำหรับในส่วนที่ขณะนี้มีมติเป็นที่เรียบแล้ว อย่างเช่นในเรื่อง การคิดอัตราค่าธรรมเนียม USO ย้อนหลัง ทางกสทช.รับปากว่าจะไม่มีอย่างแน่นอน และจะมีการลดอัตราค่าธรรมเนียมลง
เลขาธิการ กสทช. กล่าวถึงการเข้าถึงทีวีดิจิทัล ที่ปัจจุบันได้มีการส่งจดหมายถึงท่านนายกรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติให้มีการแจกคูปองเพิ่มสำหรับชาวบ้านที่ตกหล่นจากการสำรวจ ซึ่งปัจจุบันพบว่าจากการแจกในครั้งแรกกว่า 13.8 ล้านครัวเรือน ขณะนี้มีประชาชนนำคูปองมาแลกกว่าแปดล้านคน และยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่นำมาแลก จุดนี้จะมีการพยายามทำให้ทั่วถึงและให้คนไทยทุกคนเข้าถึงโดยทั่วกัน
นอกจากนี้ นายฐากร กล่าวถึงร่างกำหนดคลื่นความถี่ฉบับใหม่ ที่จะโอนคลื่นความถี่กลับไปเป็นของรัฐนั้น ทาง กสทช.เห็นว่า ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง เพราะอย่างไรก็ตาม คลื่นความถี่ในส่วนของภาคธุรกิจนั้นจะยังคงอยู่ภายใต้ กสทช. เหมือนเดิม ส่วนที่รัฐจะควบคุมดูเเลก็เป็นในส่วนของความมั่นคงต่างๆ เพราะอย่างไรก็ดี คลื่นความถี่ จะเป็นของรัฐหรือประชาชนก็ส่วนรวมทั้งนั้น เพราะรัฐก็คือประชาชน อย่าไปตีความให้มากมาย.
ภาพประกอบจาก Mthai