อธิบดีกรมชลมั่นใจ คนไทยมีน้ำใช้พอถึง ก.ค.-ยกเว้น ‘นาปรัง’ ยังวิกฤติ
อธิบดีกรมชลประทานมั่นใจ คนไทยมีน้ำใช้เพียงพอ เพื่ออุปโภคบริโภค-รักษาระบบนิเวศ ตลอดฤดูแล้ง ยกเว้นใช้ทำนาปรังยังวิกฤติ
กรมชลประทานวางแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้ง ปี 2558/59 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558-30 เมษายน 2559) ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ปริมาตรน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้ 20,035 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 11,120 ล้าน ลบ.ม.
โดยผลการจัดสรรน้ำทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 2,939 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนการจัดสรรน้ำ ส่วนในเขตลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย ป่าสัก) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 1,260 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของแผนการจัดสรรน้ำ
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงแผนการจัดสรรน้ำว่า เป็นไปตามกรอบการทำงานที่กำหนดไว้ รวมถึงการบริหารจัดการลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยยืนยันน้ำใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค และเพื่อรักษาระบบนิเวศ จะไม่วิกฤติ มีใช้อย่างเพียงพอตลอดฤดูกาล และมีสำรองไปจนถึงกรกฎาคมปีนี้
ยกเว้นน้ำใช้เพื่อเกษตรกรรมยังวิกฤติ โดยเฉพาะการทำนาปรัง คงมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับพืชสวน และสนับสนุนส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้น ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กรณีเกษตรกรมีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง เช่น บ่อน้ำตื้นต่าง ๆ
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า วันนี้จนถึงเมษายน จะเกิดภัยแล้งแน่นอน ซึ่งเป็นภาวะต่อเนื่องจากภัยแล้งปี 2558 ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้ อีกทั้งน้ำในลำน้ำแห้งเร็วตามธรรมชาติ ฉะนั้นต้องดูว่า กลางปีนี้ฝนจะตกตามฤดูกาลหรือไม่
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรรับรู้จะมีน้ำใช้น้อย และได้รับความร่วมมืองดทำนาปรัง ชี้วัดผลความสำเร็จได้จาก ข้อมูลวันที่ 13 มกราคม 2559 ทำนาปรัง 1.75 ล้านไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับวันเวลาเดียวกัน ปี 2558 ทำนาปรัง 2.88 ล้านไร่ ลดลง 1.13 ล้านไร่ ซึ่งถือว่าลดลงพอสมควร
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุ มีพื้นที่ประสบภาวะภัยแล้ง 32 จังหวัด โดยพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะนครสวรรค์ กำแพงเพชร และอุทัยธานี ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณขุดเจาะบ่อบาดาล 6,000 บ่อ ซึ่งได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม และให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
สำหรับสภาพน้ำในเเหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มเเม่น้ำเจ้าพระยา 4 อ่าง ได้เเก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ เเควน้อยฯ เเละป่าสักฯ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวม 3,586 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 20 ปริมาณน้ำไหลลงอ่างรวม 5.84 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายรวม 15.62 ล้าน ลบ.ม.
ภาพประกอบ:สุเทพ น้อยไพโรจน์-เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์