โพสต์เฟซบุ๊กอย่างไร ไม่ให้ผิดกฎหมาย
"... เจ้าของเฟซบุ๊กถือเป็นผู้ดูแลข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควมคุมดูแลในเฟซบุ๊ก Account ของตนเอง ซึ่งผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กแต่ละรายมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ (Monitor) ไม่ให้ในเฟซบุ๊กของตนเองหรือระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของตนเองที่ส่งผ่านมือถือ พีซี หรืออุปกรณ์โทรคมนาคมอื่นๆปรากฎข้อมูลที่ปลอม เท็จ เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมาย..."
ในปีที่ผ่านมา มีปัญหาการปรับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ (“พรบ. คอมฯ”) กับสื่อโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะเฟซบุ๊กอยู่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่ปลอมหรือเป็นเท็จ เช่น การกดไลค์ (Like) กดแชร์ (Share) ข้อมูลต่างๆที่มีในอินเตอร์เน็ตปัญหาดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงในสาธารณชนเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนในฐานะกรรมาธิการยกร่าง พรบ.คอมฯ จึงขอนำเรื่องดังกล่าวมาพูดคุยว่าการโพสท์ในลักษณะอย่างไรในเฟซบุ๊กที่ควรหลีกเลี่ยง พร้อมเสนอแนวทางป้องกันการถูกฟ้องร้องดังนี้
(1) การเผยแพร่ข้อความอย่างไรในเฟซบุ๊กที่ถือว่าเป็นข้อความ “ปลอม”หรือ”เท็จ”ตาม พรบ.คอมฯ
ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ถือเป็นข้อความปลอมหรือเท็จที่ผิดตามมาตรา 14 ของ พรบ.คอมฯ จะมีลักษณะดังนี้
1. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จที่เกิดจากการทำฟิชชิ่ง (Phishing) เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น การทำฟิชชิ่ง (Phishing) คือ การสร้างเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กปลอมที่มีหน้าตาเหมือนกับเว็บไซต์จริง โดยส่วนใหญ่มักเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน อาทิเช่น สร้างเว็บไซต์ของธนาคาร X ปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลูกค้าของธนาคารให้กรอกข้อมูล ชื่อผู้ใช้ (Username) รหัสผ่าน (Password) เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น
2. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จที่เกิดจากการปลอมแปลงชื่อบุคคล รูปภาพบุคคล หรือฐานะของบุคคลบนระบบคอมพิวเตอร์ (Identity Fraud) คือ การสร้างเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กปลอม โดยปลอมเป็นศิลปิน ดารา หรือผู้มีชื่อเสียงเพื่อให้บุคคลอื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ในเรื่องลามกอนาจารทางเพศ หรือได้รับความอับอาย หรือเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สิน
3. ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จในลักษณะที่เป็นข้อความปลอมหรือเท็จที่ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย ข้อมูลในลักษณะนี้บางครั้งข้อมูลปลอมหรือเท็จบางส่วนอาจเป็นความผิดทั้ง พรบ.คอมฯ และความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทได้ เช่น นายบีได้อ้างว่าตนเป็นนางสาวเอและเผยแพร่ข้อความในระบบอินเตอร์เน็ตว่านางสาวเอขายบริการทางเพศ การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) และเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย
(2) เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก (Facebook Account-User) มีหน้าที่ตามกฎหมายอย่างไรตาม พรบ.คอมฯ
ในกรณีที่เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กหากนำข้อความอันเป็นเท็จมาปรากฎอยู่เฟซบุ๊กของตนให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อาจถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐาน“นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลผิดกฎหมายตามมาตรา 14 (1) (2) (3) (4) หรือเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จตาม (5)” นอกจากนี้เจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวยังอาจมีความผิดตามมาตรา 3 และมาตรา 15 ของ พรบ.คอมฯ ได้ เนื่องจากเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทต่างๆ ถือเป็น “ผู้ให้บริการ” ตามนิยามในมาตรา 3 ของ พรบ.คอมฯ เพราะเจ้าของเฟซบุ๊กแต่ละรายถือว่าอำนวยความสะดวกให้บุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน (Friend) หรือเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กอื่นสามารถติดต่อส่งผ่านข้อมูลคอมพิวเตอร์ระหว่างกันทางโปรแกรมเฟซบุ๊กของตนเองบนอินเตอร์เน็ต
เหตุผลที่เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กแต่ละรายต้องรับผิด เนื่องจากเจ้าของเฟซบุ๊กถือเป็นผู้ดูแลข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควมคุมดูแลในเฟซบุ๊ก Account ของตนเอง ซึ่งผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กแต่ละรายมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ (Monitor) ไม่ให้ในเฟซบุ๊กของตนเองหรือระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของตนเองที่ส่งผ่านมือถือ พีซี หรืออุปกรณ์โทรคมนาคมอื่นๆปรากฎข้อมูลที่ปลอม เท็จ เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมาย เมื่อเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กแต่ละรายพบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก(มีหน้าที่ตามกฎหมาย)ต้องลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวออกจากหน้าเฟซบุ๊กของตนเองโดยเร็ว มิฉะนั้น อาจถือว่าเจ้าของเฟซบุ๊กอาจมีความผิดตามมาตรา 15 ของ พรบ.คอมฯ
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาในเรื่องการละเลยไม่ลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตนเป็นความผิดตาม พรบ.คอมฯ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกา (คดีแดงเลขที่ อ.2091/2555) คดีที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้อง จำเลยซึ่งเป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ ก โดยเป็นผู้ดูแล (Web master) เว็บไซต์ ก ที่เปิดพื้นที่ให้บุคคลมาวิพากษ์วิจารณ์บนอินเตอร์เน็ตและปรากฎว่ามีการนำข้อมูลที่เป็นความผิดตามมาตรา 14 และ 15 มาในเว็บไซต์ ก
“ศาลเห็นว่าหากจำเลยมีความใส่ใจดูแลตรวจสอบตามหน้าที่ควรใช้เวลาในการตรวจสอบเมื่อเห็นข้อความที่ไม่สมควรลบข้อความดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ในระยะเวลาอันสมควรเพราะหากปล่อยเวลาให้นานไปกว่านี้อาจมีการนำข้อความไปเผยแพร่ต่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้อง เสียหายต่อความมั่นคงของประเทศชาติได้ เห็นได้ว่ากระทู้จำนวน 9 กระทู้ยังอยู่ในกระดานสนทนาอยู่ จำเลยเป็นผู้ดูแลเป็นเวลา 11 วัน, 1 วัน, 3 วัน, 2 วัน, 2 วัน, 1 วัน, 3 วัน, 2 วัน และ 1 วันตามลำดับ อยู่ในกรอบเวลาอันควร แต่ปรากฏหลักฐานว่ามี 1 กระทู้ ที่ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์เป็นเวลานานถึง 20 วัน เกินกำหนดระยะเวลาอันควรที่จะตรวจสอบและนำข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ถือได้ว่าจำเลยให้ความยินยอมโดยปริยาย จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้ยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 และ 15”
(3) การกดไลค์ (Like) หรือกดแชร์ (Share) ข้อมูลที่เป็นเท็จผิดกฎหมายหรือไม่
การกดไลค์ (Like) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญในการที่บุคคลทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ว่าตนเองชอบ (Like) ไม่ชอบ (Dislike) โดยปกติไม่ถือว่าเป็นความผิดตาม พรบ.คอมฯ (เว้นแต่อาจเป็นความผิดฐานผู้สนับสนุนในความผิดเรื่องความมั่นคงตามกฎหมายฉบับอื่น) ขณะที่การกดแชร์ (Share) อาจถือได้ว่าเป็นการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา 14(5) พรบ.คอมฯ เพราะทำให้บุคคลที่เป็นเพื่อน (Friend) หรือบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลเท็จดังกล่าวได้
วิธีป้องกันการถูกฟ้องร้อง เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กทุกท่านควรดำเนินการ ดังนี้
(1) หมั่นตรวจสอบเฟซบุ๊กของตนเองและลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายดังกล่าวออกจากบัญชีเฟซบุ๊กตนเองโดยเร็วและกำหนดเงื่อนไข (Term & Condition) ในเรื่องระยะเวลาในการลบข้อมูล (Take Down Notice Policy) โดยระบุ Email Address หรือที่ถูกที่สามารถติดต่อเพื่อลบข้อความไว้ในเฟซบุ๊ก
(2) หากพบข้อความที่ปลอมหรือเป็นเท็จหรือที่ผิดกฎหมายอันเกิดจากเพื่อน (Friend) หรือบุคคลอื่นมาโพสต์หรือแชร์ข้อความหรือติดแท็ก (Tag) ในเฟซบุ๊กของตนเองควรทำการ Block หรือ Report ไปยังเฟซบุ๊กโดยทันที
กรณีดังกล่าวข้างต้นหากเจ้าของเฟซบุ๊กทุกรายดำเนินการดังกล่าวก็สามารถป้องกันความรับผิดตาม พรบ.คอมฯ ได้และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการบังคับใช้พรบ.คอมฯ .
ขอบคุณภาพประกอบจาก T-news
บทความเผยแพร่ครั้งแรกที่ https://www.facebook.com/CSIThaiElaws/?fref=nf