วิชา มหาคุณ : เราอย่าเชื่อใจใครว่าจะไม่ทุจริตเป็นอันขาด
“…เราอย่าเชื่อใจใครว่าจะไม่ทุจริตเป็นอันขาด ป.ป.ช. ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็ออกประกาศหรือร่างกฎหมาย เราให้นักวิชาการทำวิจัย กว่า 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเป็นอย่างดี แม้จะยังไม่พบพาดพิงถึงผู้บริหารหรือนิติบุคคล แต่ว่ากระบวนการต้องติดตามตลอดเส้นทางเดินของเงิน….”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บรรยายตอนหนึ่งในหัวข้อ “สาระสำคัญแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ฉบับที่3) พ.ศ.2558” ดังนี้
-----
พ.ร.บ.ดังกล่าว ถือว่ามีความเป็นหลักสากลมากที่สุดเพราะสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต โดยประเด็นแรกที่เราได้มีการแก้ไขกฎหมาย คือ เรื่องของอายุความ ทางอาญา เราได้มีการแก้ไปแล้วใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่2) แต่ยังไม่ครบถ้วน โดยในฉบับนี้ คือ หากหลบหนีหลังศาลมีคำพิพากษาอายุความหยุดลงและจะนับอีกครั้งเมื่อกลับมารับโทษ โดยจะแต่ต่างจากนอุสัญญาสหประชาชาติ ที่ไม่ให้มีอายุความหรือให้อายุความยาวขึ้น เพราะเราต้องการให้ความเป็นธรรมถึงที่สุด และเป็นเหตุให้เราได้รับความชื่นชม
ประเด็นที่สอง เรื่องของการกำหนดฐานความผิดสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ผ่านมาเราไม่เคยคิดว่านิติบุคคลเป็นตัวการ ซึ่งเราจะสามารถไต่สวนนิติบุคคลได้ต่อเมื่อมีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ต่างจากประเทศอื่นที่มีอำนาจไต่สวนนิติบุคคล แม้ไม่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐแต่ให้สินบนจึงสามารถกวาดล้างการทุจริตได้ผล เพราะหลักสำคัญ คือ ไม่มีผู้ให้ก็ไม่มีผู้รับ ผู้ให้ปฏิเสธผู้รับจะได้จากไหน ดังนั้นเมื่อมีกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับที่ 3 นี้ เป็น โมเดลว่า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนระดับเริ่มต้น โดยเราได้เพิ่มมาตรา 123 วรรค 2 กำหนดความผิดนิติบุคคลที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศและต่างประเทศได้ เพื่อไม่ให้การทุจริตเบ็ดเสร็จ
“เราอย่าเชื่อใจใครว่าจะไม่ทุจริตเป็นอันขาด” เป็นคำยืนยันของ ‘วิชา’ ก่อนอธิบายว่า
“ป.ป.ช. ไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็ออกประกาศหรือร่างกฎหมาย เราให้นักวิชาการทำวิจัย กว่า 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเป็นอย่างดี แม้จะยังไม่พบพาดพิงถึงผู้บริหารหรือนิติบุคคล แต่ว่ากระบวนการต้องติดตามตลอดเส้นทางเดินของเงินเป็นไง โดยเฉพาะสัมปทานโครงการขนาดใหญ่ต้องติดตามดูอย่างละเอียด นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้ใกล้เคียงกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) โดยขณะนี้ยังไม่แก้ก็ผนึกกำลังกับ ป.ป.ง. ไปก่อน”
ประเด็นที่สามกำหนดโทษความผิดนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีโทษตั้งแต่จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี จำคุกตลอดชีวิต ปรับ 1แสน ถึง 4 แสนบาทหรือประหารชีวิต โดยโทษประหารชีวิตนี้ต้องบอกว่ามีอยู่แล้วเพราะเรานำมาจากกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งตรงนี้เองทำให้เราไม่ได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ เพราะองค์กรนิรโทษกรรมสากลไม่ต้องการให้มีโทษประหารชีวิต
ดังนั้นหลายประเทศมองว่าประเทศที่มีคือประเทศล้าหลัง ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจและทำงานหนักกับต่างประเทศเหล่านี้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ดีเข้าใจหลายคนคิดว่าแล้วทำไมไม่ตัด เราตัดไม่ได้เนื่องจากกฎหมายอาญามาตรา 149 ที่ลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐยังอยู่ และเราจัดจัดการเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐไทยไม่ได้
"โปรดรับทราบด้วยเราทำอย่างไรกับในไทยก็ต้องทำกับต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ในการไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ เราต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกันเพราะอาจจะต้องมีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือใช้กฎมายนอกอาณาเขตซึ่งตรงนี้ก็ต้องดูกันต่อไป"
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายวิชา publicpostonline.net