ป.ป.ช.ยัน กรธ.ให้อำนาจไต่สวน 1 ปี 8 เดือน อาจทำให้รูปคดีเสียประโยชน์
ป.ป.ช. เตรียมแจงข้อมูล กรธ. ปมบัญญัติให้มีอำนาจไต่สวนได้ 1 ปี 8 เดือน ยันอาจทำให้รูปคดีเสียประโยชน์ สั่ง จนท. ศึกษาข้อมูลแล้ว เตรียมปรับปรุงระเบียบใหม่ให้รวดเร็วมากขึ้น รับเข้าใจสังคมคาดหวังเยอะ แต่ต้องรวมพยานหลักฐานให้รอบด้าน
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บัญญัติระยะเวลาการไต่สวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 1 ปี และต่ออายุได้ 2 ครั้ง ๆ ละ 4 เดือน (รวม 1 ปี 8 เดือน) ว่า เบื้องต้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. หารือประเด็นนี้กันบ้างแล้ว อย่างไรก็ดีการทำงานของ ป.ป.ช. เมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบคดีทุจริต ต้องใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานให้รอบคอบ เข้าใจว่าสังคมคาดหวังให้การทำงานของ ป.ป.ช. ดำเนินการคดีทุจริตด้วยความรวดเร็ว แต่จำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้รอบด้านด้วย เพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด โดยขณะนี้มีคดีที่อยู่ในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริงประมาณ 7-8 พันคดี ชั้นตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนประมาณ 2 พันคดี และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวนประมาณ 50 คดี ซึ่ง ป.ป.ช. ดำเนินการเร่งรัดอยู่ และกำหนดกรอบด้านคดีด้วย ดังนั้นหากจะให้ตรงเวลาตามที่ กรธ. บัญญัติมา ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี และกรณีจำเป็นต้องมีกลไกเพื่อขยายระยะเวลาได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
เมื่อถามว่า กำหนดระยะเวลาไต่สวนเหลือเพียง 1 ปี 8 เดือน จะทำคดีต่าง ๆ ทันหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ถ้าให้ตรงตามกำหนดเลย ทั้งที่บางเรื่องควรใช้ระยะเวลาดำเนินการนั้น คดีสำคัญต่าง ๆ อาจจะเกิดความสูญเสีย หรือไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้หารือเรื่องนี้กันแล้ว มีคำสั่งลงไปให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติดำเนินการอยู่ และเตรียมจะปรับปรุงระเบียบการไต่สวนใหม่ให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า เมื่อ กรธ. ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกออกมาแล้ว ต่อไปจะมีช่วงเวลาที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ป.ป.ช. ได้ให้เจ้าหน้าที่เตรียมข้อมูลในส่วนนี้แล้ว เพื่อส่งให้ กรธ. พิจารณาถึงข้อเท็จจริง และกลไกในการไต่สวนคดีทุจริตด้วย
เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนและชี้มูลความผิดฐานอื่นนอกจากเรื่องทุจริต ซึ่ง ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วย และส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นพ้องกับศาลปกครองสูงสุด จะดำเนินการอย่างไร
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เมื่อ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นไปตามกลไกของกฎหมาย และตามรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลปกครองสูงสุดตีความเป็นอย่างอื่น ตรงนี้จึงได้ส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ก็เป็นดุลยพินิจของศาลฯ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้หารือกันว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเห็นพ้องกับศาลปกครองสูงสุด ต้องรอให้ถึงช่วงเวลานั้นก่อน
อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ค้านศาล ปค.! ยันมีอำนาจฟันผิดฐานทำราชการเสียหาย-ชงศาล รธน.ชี้ขาด