สมชัย สุวรรณบรรณ:สู่ทศวรรษใหม่ไทยพีบีเอส 'ทีวีสาธารณะ' หยุดเพ้อเจ้อกับเรื่องเรตติ้ง
"ไทย พีบีเอส ก่อตั้งขึ้นมา ไม่ได้เพื่อมาทำทีวีตลาด กฎหมายบอกชัดเจนว่าเราไม่ต้องกังวลเรื่องเรตติ้งโฆษณา ดังนั้นหากเราไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรได้ก็จบ"
เมื่อเร็วๆ นี้ บนเวทีเสวนาเรื่อง "สู่อนาคตทศวรรษใหม่ของไทยพีบีเอส... ทบทวนภารกิจทีวีสาธารณะ” จัดขึ้น ณ สำนักงาน มีเดีย อินไซค์ เอ้าท์ โดยมี นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการ ไทยพีบีเอส ร่วมพูดคุยเรื่องภารกิจและสิ่งที่สื่อสาธารณะควรมี และควรเป็น รวมถึง 9 ปีที่ไทยพีบีเอสได้สร้างให้สังคมไทย
โดยเล่าว่า สิ่งที่คนที่ทำงานมากับไทยพีบีเอส และกลุ่มผู้บริหารชุดเก่าได้พยายามสร้าง คือ การสร้างสิ่งที่เรียกว่า Brand Value ของไทยพีบีเอสว่า เป็นสื่อสาธารณะ ซึ่งจะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ประชาชนข้างนอกเป็นผู้ตัดสิน แต่ว่ากระบวนการพัฒนาสื่อภาคพลเมืองที่เราพัฒนาจนปัจจุบันมีผลงานที่ชัดเจนว่า สื่อพลเมืองมีความก้าวหน้าอย่างมาก เนื้อหา(Content)ที่เกี่ยวกับภาคพลเมืองที่เราเอางบประมาณ 2 พันล้านไปให้ผู้ผลิตรายเล็กรายย่อย ตามชุมชน จัดผลิตคอนเทนท์ออกหน้าจอไทยพีบีเอส จัดให้มีการอบรมนักข่าวพลเมืองให้เกิดขึ้น เป็นส่วนที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง
"ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในการปฎิรูปสื่อ คือการกระจาย พื้นที่สื่อ หรือขีดความสามารถในการผลิตมาอยู่ในมือของประชาชนให้มากที่สุด คือการ Empower ประชาชน ชุมชน ที่ต้องการจะสร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐ หากประชาชนมีโอกาส ในสื่อมากเท่าไรก็จะมีอำนาจต่อรองกับภาครัฐมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าในกลุ่มคนที่เป็นพวก ฟาสซิสก็จะไม่ค่อยปลื้มสักเท่าไร เพราะว่าเป็นการทำให้ประชาชนมีขีดความสามารถมากขึ้น"
นายสมชัย กล่าวต่อไปว่าสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะคนที่จะทำสื่อสาธารณะคือ ทำอย่างไร ที่จะสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับองค์กร คือความไว้วางใจ (trust) และความน่าเชื่อถือ (credibility)
ซึ่งมันจะปรากฏที่คอนเทนท์ รูปแบบการนำเสนอที่หน้าจอ และรูปแบบ พฤติกรรมของผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายของไทยพีบีเอส ซึ่งหากพฤติกรรมผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารของสื่อสาธารณะไม่ได้ทำตัวให้เป็นที่น่าไว้วางใจ หรือว่า ความน่าเชื่อถือจะเป็นการสร้างผลลบในระยะยาวในฐานะสื่อสาธารณะ หรือแม้กระทั่ง สื่อทั่วๆ ไปเอง
"หากประชาชนไม่เชื่อในตัวคุณ ไม่ว่าคุณจะทำผลงานออกมาอย่างไร ก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้แน่นอน" เขากล่าว
ประเด็นต่อมาที่ อดีตผอ.ไทยพีบีเอสแสดงความกังวลคือ อนาคตของไทยพีบีเอส กับการวางแผนนโยบายระยะยาวและยุทธศาสตร์ระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า นายสมชัยเล่าว่า เป็นเรื่องตลกมากที่ก่อนผมจะออกจากไทยพีบีเอส ผมพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้กรรมการนโยบายให้ความสนใจ และได้เตือนกรรมการนโยบายไว้ หลายครั้งว่า ปี2560 ซึ่งเป็นปีที่จะมีการทบทวน พรบ. ก่อตั้งไทยพีบีเอส และหากในช่วงปี 2559-2560 ไทยพีบีเอสยังไม่สามารถพิสูจน์ว่า ทำไมสังคมไทยจึงต้องมีสื่อสาธารณะจะเป็นการสุ่มเสี่ยงมาก
การกำหนดนโยบาย 3 ปี 5 ปี เป็นเรื่องสำคัญ แต่กรรมการนโยบายกลับมาสนใจแค่เรื่องที่ว่า เรตติ้งตก ซึ่งเรตติ้งเราตกจริงๆ แต่เราตกน้อยกว่า ช่อง 11 ช่อง 5 ช่อง 9 ที่ตกถึง 50% และในความเป็นจริงแม้แต่ช่อง 3 เองก็ยังตกถึง 30% ไทยพีบีเอสตก 40% จริงๆ มันตกทั้งอุตสาหกรรม เป็นเรื่องของการทำตลาด
"ไทยพีบีเอสก่อตั้งขึ้นมา ไม่ได้เพื่อมาทำทีวีตลาด กฎหมายบอกชัดเจนว่า เราไม่ต้องกังวลเรื่องเรตติ้งโฆษณา ดังนั้นหากเราไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรได้ก็จบ ซึ่งหากจะมองเรตติ้ง อย่ามองเฉพาะในหน้าจอเท่านั้น ลองไปดูในยูทูปก็จะเห็นว่า เรตติ้ง ยอดวิวของไทยพีบีเอสไม่ได้น้อย หน้าไปกว่าช่องอื่นๆ เลย บางรายการเยอะกว่าด้วยซ้ำ"
นายสมชัย เห็นว่า ฉะนั้นเรตติ้ง คอนเทนท์เปลี่ยนไปเเล้ว ปัจจุบันพฤติกรรมของคนไม่ได้วัดแค่หน้าจอใหญ่แล้ว ไทยพีบีเอสจะต้องเป็น Multi Chanal และ Multi Platform เพราะรสนิยมการเสพสื่อไม่ได้มีใครมานั่งรอดูรายการทางทีวีอีกเเล้ว คนสามารถดูย้อนหลังได้ คนกำหนดนโยบายอย่ามัวแต่มาคิดเรื่องเก่าๆ แบบ analog ไม่ได้ เรตติ้งแบบนั้น ไม่สามารถวัดได้อีกต่อไป
และหากไทยพีบีเอสจะสามารถอยู่ต่อไปได้นั้น อดีตผอ.ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ขึ้นอยู่ที่กรรมการนโยบายที่มีความคิดกว้างไกลและมองระยะยาวและผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสื่อจริงๆ ซึ่งในที่นี้หมายถึงในเชิงของ Editorail Skill ซึ่งจำเป็น เช่น หากมีม็อบมาปิดล้อมแล้วบังคับให้ฉายช่องของกลุ่มๆ นั้น คุณจะทำอย่างไร เป็นต้น ดังนั้นความรู้ความเข้าใจเรื่อง เรื่องนี้ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจ แบบ media industry บางอย่าง
"ทั้งหมดนี้ผมหมายถึงในมุมของ Journalism ของไทยพีบีเอส ไม่ใช่คอนเทนท์ทั้งหมดของช่อง การตัดสินใจบางครั้งต้องเสี่ยงและยึดหลักการบางอย่างเอาไว้ เพื่อฉายให้เห็นว่าเราเป็นสื่อสาธารณะ"
นายสมชัย ชี้ว่า ถ้าหากผู้บริหารไทยพีบีเอสไม่มีความเข้าใจลึกซึ่งในการเป็นสื่ออิสระจากผู้อำนาจก็ไม่สามารถที่จะผลักดันองค์กรไปได้
"ที่ผ่านมาผมพยายามผลักดันวัฒนธรรมใหม่ๆ ในองค์กร อย่างเช่น ในช่วงที่มีม็อบของ กปปส. ที่ใช้ชื่อจริงว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมบอกว่าจะเรียกตามนั้นไม่ได้ ต้องรายงานว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ... เพราะในโลกนี้ไม่มีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์"
ถามว่าทำไปทำไม ก็เพื่อที่จะสร้างระยะห่าง ออกมาซึ่งกลายมาเป็นประเด็นใหญ่พอสมควร ผมก็บอกว่าเพื่อเป็นการรักษาระยะห่างของสื่อกับกลุ่มเอาไว้ เพราะม็อบจะมีคนที่คอยบังคับให้สื่อเล่นตามจังหวะของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นสมัย นปช.เองก็มีเหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่น้องๆ ในห้องข่าวที่ถาม แต่กรรมการนโยบายยังมาถามว่า ทำไมต้องทำแบบนั้น ผมจึงต้องอธิบายว่านี่คือหลักการของการเป็นสื่ออิสระ เราไม่ได้ถูกใครมาชี้นำว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
อีกกรณี อย่างรายการ เถียงให้รู้เรื่อง มีคนมาถามว่า ทำไปทำไม เพราะคนไทยไม่ชอบให้คนมาเถียงกัน เพราะบอกมันต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ ให้คนสองฝ่ายมาเถียงกัน เพราะที่ผ่านมาทุกรายการก็จะเชิญมาแค่ฝ่ายเดียว หรือจะเชิญสองฝ่ายก็จะเป็นคนละวันกัน บางทีคนดูวันนี้ก็ด่าไปแล้วว่าเอียง คนดูอีกวันก็ด่าแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นจะต้องอยู่ใน แฟลตฟอร์มเดียวกัน ทั้งหมดนี้ก็เป็นความพยายามในสร้างให้เกิดลักษณะของความเป็นสื่อที่แท้จริง
หากเราเขาไปดูในหลักกฎหมาย หลักจริยธรรมสื่อ สิ่งเหล่านี้ถูกกำหนดเอาไว้เรียบร้อยเเล้ว ว่าเราต้องทำแบบนั้น ถามว่าเราทำได้ครบหรือยัง ก็ยังไม่ครบ มีคนตั้งคำถามว่าไทยพีบีเอส ทำข่าว อาชญกรรม ข่าวเด็กทำไมไม่เห็นหน้า แรกๆ เจอคำถามนี้ ต่อมาก็ไม่มีใครถามแหละ เพราะพิสูจน์ให้เห็นเเล้ว ตามหลักการจริยธรรมของสื่อ
ซึ่งหากเราลองถอยหลังไป 20-30ปี เรารู้เรื่องพวกนี้กันหมด เราเคยทำงานในลักษณะแบบนี้กันมาก่อน แต่ในระยะหลังๆ ต่อมาไม่ค่อยมีการทำแบบนั้นแล้ว แต่ผมคิดว่า True Jounalism ต้องกลับไปยึดแบบเก่า ที่ยึดถือในจริยธรรม ซึ่งอาจสร้างความรุงรังไปบ้าง แต่มันจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรนั้นๆ อาจต้องใช้เวลาอีกสักพักสำหรับไทยพีบีเอสเพราะตอนนี้วัฒนธรรมองค์กรเริ่มเปลี่ยนแปลง รับรู้ในส่วนนี้มากขึ้น แต่กังวลว่าอาจจะย้อนกลับก็เป็นไปได้ ในเรื่องความเข้มของ มาตฐานใน Editorial"
ทั้งนี้ นายสมชัยถือโอกาสชี้แจงว่า ในช่วงที่เป็นผู้บริหาร โดยเฉพาะในเรื่องเงิน 2 พันล้านจากภาษีบาปนั้น ก่อนที่เขาจะมาบริหารเงินจำนวนนี้ไม่พอใช้ ซึ่งในปีแรกที่เข้าไป เขาทำการแช่เเข็งเงินเดือนพนักงานทุกคน ไม่มีการปรับฐานเงินเดือน เพราะหากปรับฐานเงินเดือนตอนนั้น องค์กรเจ้งแน่นอน สุดท้ายพนักงานยินยอมที่จะไม่ปรับฐานเงินเดือน 1ปี แล้วปรากฏว่าเงิน 2 พันล้านที่เราได้ประจำ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่คุณเทพชัย หย่อง อดีตผอ. คนเก่า ยังต้องเขียนจดหมายไปขอ รัฐมนตรีการคลัง เพื่อของบเพิ่ม แต่สุดท้ายก็ไม่ได้
"ผมมาทำ2ปี เงิน 2 พันล้าน มีเหลือ และยังสามารถนำเอามาจัดการโครงข่ายทีวีดิจิทัลได้ และโครงข่ายทีวีดิจิทัล กลายเป็นห่านที่ออกไข่ทองคำ เพราะว่าองค์กรมีรายได้จากจุดนี้ และผมก็กำชับกรรมการนโยบายว่า อย่าไปขอเงินรัฐบาลเพิ่มอีก เพราะแค่เขาไม่ตัดเงินก็เป็นบุญมากแล้ว"
ทั้งหมดทั้งมวลที่ทำ ก็เพื่อที่จะวางตำแหน่งในไทยพีบีเอสเป็น Key player ในเรื่องการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลและสามารถที่จะขยายแฟลตฟอร์ม ให้เป็น multi chanal ที่สามารถรับช่องสัญญาณได้มากขึ้น โดยที่เราเป็นห่านทองคำ และหากไทยพีบีเอสสามารถเพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มอำนาจให้ประชาชนมากเท่านั้น แต่หากเรายังเพ้อเจ้อกับเรื่องเรตติ้ง เราจะไม่สามารถผลักดันองค์กรต่อไปได้ในระยะยาว ผมเชื่อว่าไทยต้องการสื่อที่เป็นอิสระ มีความเป็นสื่อสาธารณะต่อไปในอนาคต.
ภาพประกอบจาก Thai PBS