'สมชัย สุวรรณบรรณ' แนะผู้บริหารส.ส.ท.คนใหม่ต้องเข้าใจสื่อสาธารณะ
สมชัย แนะผู้บริหารคนใหม่ ต้องเข้าใจหน้าที่สื่อสาธารณะ ติงร่างนโนบายการจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับใหม่ เป็นการถอยหลังลงคลอง
วันที่ 19 มกราคม 2559 ที่สำนักงาน มีเดีย อินไซค์ เอ้าท์ จัดเสวนาในประเด็น "สู่อนาคตทศวรรษใหม่ของไทยพีบีเอส... ทบทวนภารกิจทีวีสาธารณะ” โดยมีนายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา
โดยในช่วงหนึ่งของการเสวนา นายสมชัย กล่าวถึงความเป็นสื่อสาธารณะว่า หากพูดถึงอุดมการณ์ของการเป็นสื่อสาธารณะ ความเป็นสื่อสาธารณะหรือ Public broadcaster must be the key player in order to influent positive public value. คือสื่อสาธารณะ ต้องเป็น key player(ตัวหลัก) และสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมให้ได้
อดีตผอ.ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยพีบีเอสพยายามที่จะเป็น แต่ยังเป็นไม่ได้ ซึ่งพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่สิ่งที่เราสามารถเป็น kay player ได้เเล้วนั้นคือในเวทีโทรทัศน์ การเปลี่ยนผ่านเป็นทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครพูดถึง ไทยพีบีเอส เป็นองค์กรคู่ขนานในการปฎิรูปสื่อของประเทศไทย สนับสนุน และควบคู่ไปกับคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.
"เราสามารถเปลี่ยนผ่านมาถึงขั้นไทยมีทีวีดิจิทัล ที่แม้ว่าภายหลังอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะไทยพีบีเอส ไม่เช่นนั้น กสทช. ไม่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงตัวนี้ได้ โดยเฉพาะแง่ของ infrastructure ในแง่ของ วิศวกรรมและในแง่ของนโยบายในการให้เกิดทีวีดิจิทัล ไทยพีบีเอสเป็นหัวจักรสำคัญทำให้เกิดขึ้น และขณะนี้ไทยพีบีเอส งบประมาณ 2,000ล้านบาท ไทยพีบีเอสไม่ได้ทำเพียงแค่ช่องตัวเอง แต่นำเอามาปฎิรูปสื่ออีกด้วย โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนโทรทัศน์ดิจิทัล ที่ลงทุนไปหลายพันล้านเพื่อให้เกิดขึ้น" นายสมชัยกล่าว
ทั้งนี้ นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า ไทยพีบีเอสเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทั้งหมดของทีวีดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งเป็นเงินลงทุนจากงบ 2 พันล้าน จนทำออกมาสำเร็จ ซึ่งหากจะย้อนไปในปี 2535 จนถึง 2540 ที่มีการออกรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีการปฎิรูปคลื่นความถี่ โดยระบุว่าให้มีการ กระจายคลื่นความถี่ให้เป็นทรัพยากรของสาธารณะ
"ปัจจุบันหลายคนจึงมีความกังวลว่า จะมีการกำหนดให้คลื่นความถี่ตัวนี้กลับไปเป็นของรัฐอีกครั้ง ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นนโยบายที่ถอยหลังเข้าคลองไป" นายสมชัย กล่าว และว่า ถ้าพูดถึงการปฎิรูปสื่อ ไทยพีบีเอสถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ กสทช. สามารถที่จะกระจายออกจากอำนาจรัฐ มาอยู่ในมือภาคเอกชนแล้วก็มีอีกมาตราที่กำหนดให้ทรัพยากรนี้มาอยู่ในมือประชาชน นั่นคือ ทีวีชุมชน ที่ตอนนี้ยังไม่ทำและคาดว่าน่าจะถูกเบี้ยวในที่สุด แต่บทบาทของไทยพีบีเอส สนับสนุนในเรื่องของทีวีชุมชนมาโดยตลอด
นายสมชัย กล่าวว่า สิ่งที่จะวัดว่าสื่อสาธารณะ จะสำเร็จมากน้อยเพียงใด ประชาชนข้างนอกเป็นผู้ตัดสิน แต่ว่ากระบวนการพัฒนาสื่อภาคพลเมืองที่เราพัฒนาจนปัจจุบันมีผลงานที่ชัดเจน ว่าสื่อพลเมืองมีความก้าวหน้าอย่างมาก เนื้อหาที่เกี่ยวกับภาคพลเมืองที่เราเอางบประมาณ 2 พันล้านไปให้ผู้ผลิตรายเล็กรายย่อย ตามชุมชน จัดผลิตเนื้อหาออกหน้าจอไทยพีบีเอส จัดให้มีการอบรมนักข่าวพลเมืองเกิดขึ้น เป็นส่วนที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง
"สิ่งเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในการปฎิรูปสื่อ คือการกระจายพื้นที่สื่อ หรือขีดความสามารถในการผลิตมาอยู่ในมือของประชาชนให้มากที่สุด คือการ Empower ประชาชน ชุมชน ที่ต้องการจะสร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐ หากประชาชนมีโอกาส ในสื่อมากเท่าไรก็จะมีอำนาจต่อรองกับภาครัฐมากขึ้น"
อดีตผู้บริหารไทยพีบีเอส กล่าวถึงผู้บริหารชุดใหม่ว่า ผู้บริหารไทยพีบีเอสในปัจจุบันจะมีความรู้ความเข้าใจในการปฎิรูปสื่อว่า จะกระจายทรัพยากร คลื่นความถี่ในยังภาคประชาชนได้มากน้อยเพียงใด อันนี้ถือเป็นภารกิจโดยธรรมชาติของ สื่อสาธารณะ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงอีกเช่นกัน เพราะเรามั่วแต่ไปพูดกันแค่ เนื้อหาข่าว เรตติ้ง แต่จริงๆ มีภารกิจอื่นๆ อีกมากที่ไทยพีบีเอสทำ แต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร ในช่วงการพยายามให้เกิดการปฎิรูปสื่อ
"ผมว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่คอยดึง คอยฉุด แล้วถ้าหากกลุ่มคนที่เข้ามากำหนดนโยบายของไทยพีบีเอส ไม่มีความซาบซึ้ง ไม่มีความเข้าใจ หรือไม่อินกับเรื่องการปฎิรูปสื่อ เรามานั่งคิดแต่เเบบธุรกิจ (commercial) คิดเเต่จะทำสื่อแบบที่เราเห็น อยู่ทุกวันนี้ เป็นสื่อแบบตลาด เราก็จะหลงทาง เช่นมานั่งกังวลกันแค่เรื่องเรตติ้ง เป็นต้น"