ป.วิอาญามีผลแล้ว ห้ามใช้เครื่องพันธนาการผู้ต้องกักขัง -หญิงตั้งครรภ์ออกไปคลอดบุตรได้
ราชกิจจานุเบกษา แพร่พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องกักขัง -ผู้ต้องกักขังหญิงที่ตั้งครรภ์ต้องได้รับการช่วยเหลือและการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม
วันที่ ๑๘ มกราคม ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๙ สาระสำคัญ
มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕/๑ และมาตรา ๕/๒ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๖
“มาตรา ๕/๑ ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องกักขัง เว้นแต่
(๑) มีพฤติการณ์ที่จะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น
(๒) มีพฤติกรรมหรืออาการส่อว่า เป็นบุคคลวิกลจริต ซึ่งอาจจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น
(๓) เมื่อถูกควบคุมตัวไปนอกสถานที่กักขังและมีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนี
เครื่องพันธนาการและหลักเกณฑ์การใช้ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยให้คำนึงถึงผู้ต้องกักขังที่พิการด้วย ทั้งนี้ ต้องมิใช่ตรวนหรือเครื่องพันธนาการอื่นที่หนักกว่า
มาตรา ๕/๒ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบจดหมาย เอกสาร พัสดุภัณฑ์ หรือสิ่งสื่อสารอื่นหรือสกัดกั้นการติดต่อสื่อสารทางโทรคมนาคมหรือโดยทางใด ๆ ซึ่งมีถึงหรือจากผู้ต้องกักขัง
ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดความสงบเรียบร้อยตามวรรคหนึ่งให้หมายความเฉพาะการป้องกันเหตุร้าย และรักษาความสงบเรียบร้อยของสถานที่กักขัง”
“มาตรา ๘/๑ ผู้ต้องกักขังหญิงที่ตั้งครรภ์ต้องได้รับการช่วยเหลือและการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสมและต้องได้รับการตรวจสุขภาพโดยแพทย์ให้นำผู้ต้องกักขังหญิงที่ตั้งครรภ์ออกไปทำการฝากครรภ์ ณ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในท้องที่ที่สถานที่กักขังนั้นตั้งอยู่ พร้อมกับพิจารณาอนุญาตให้ออกไปคลอดบุตรได้ตามความจำเป็น
เมื่อคลอดบุตรแล้วให้ผู้ต้องกักขังหญิงผู้คลอดบุตรอยู่พักรักษาต่อไป ภายหลังการคลอดบุตรได้ไม่เกินเจ็ดวัน นับแต่วันคลอด ในกรณีที่จำเป็นต้องพักรักษาตัวนานกว่านี้ ให้เสนอความเห็นของแพทย์ผู้ทำการคลอดเพื่อขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาสถานที่กักขัง ทั้งนี้ โดยนับระยะเวลาที่อยู่นอกสถานที่กักขังเป็นระยะเวลากักขังด้วย
ในกรณีที่ระยะเวลากักขังของผู้ต้องกักขังหญิงสิ้นสุดลงในระหว่างระยะเวลาตามวรรคสองให้ปล่อยตัวผู้ต้องกักขังหญิงนั้นไป
มาตรา ๘/๒ สถานที่กักขังต้องจัดให้ผู้ต้องกักขังหญิงที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรได้รับคำแนะนำทางด้านสุขภาพและโภชนาการ โดยต้องจัดอาหารที่เพียงพอและในเวลาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ต้องกักขังหญิงที่ตั้งครรภ์ ทารก เด็ก และมารดาที่ให้นมบุตร ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดขวางผู้ต้องกักขังหญิงจากการให้นมบุตรและการดูแลบุตร เว้นแต่มีเหตุผลทางด้านสุขภาพ”
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม:http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/006/1.PDF