ชีวิตจริงครูชายแดนใต้...หวาดภัยแต่ก็ภูมิใจในอาชีพ
ถามว่าสถานการณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพครูที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะช่วงใกล้ๆ วันครูแห่งชาติแบบนี้...
คำตอบง่ายๆ ที่อธิบายได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ตลอดสัปดาห์ก่อนถึงวันครู มีแต่ข่าวครูถูกขู่ฆ่าทำร้าย จนสถานศึกษาหลายแห่งในจังหวัดยะลาและนราธิวาส เช่น โรงเรียนบ้านกูวา ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ต้องปิดการเรียนการสอน พร้อมเรียกตัวครูที่นับถือศาสนาพุทธ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ครูไทยพุทธ” ไปข่วยราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นการชั่วคราว
แม้ขณะนี้วันครูแห่งชาติ 16 ม.ค.ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่สถานการณ์ร้ายที่เกิดกับครูก็ยังหลอนผู้ประกอบวิชาชีพนี้ เพราะตลอด 12 ปีไฟใต้ มีครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องสังเวยชีวิตไปถึง 140 ราย ตามข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต.
ขณะที่ข้อมูลของสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยอดตายพุ่งไปเกือบแตะ 200 คน
ทว่าแม้สถานการณ์โดยรวมจะกระทบกับความรู้สึก แต่ความรับผิดชอบในวิชาชีพของครูที่ปลายด้ามขวานก็ยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
ใจหายทุกครั้งที่ต้องสูญเสียเพื่อนครู
“เคยสอนที่ อ.ยะหริ่ง (จ.ปัตตานี) ซึ่งเป็นสังคมชาวบ้านที่สามารถเดินไปบ้านไหนก็ได้ ทักทายกันได้หมด ชาวบ้านดูแลเราดี เมื่อมาสอนในเมือง (อ.เมืองปัตตานี) เป็นอีกสังคมหนึ่ง เป็นสังคมกว้าง ครูก็หลากหลาย ทำให้ต้องเรียนรู้ความแตกต่างมากขึ้น ปัญหาของเด็กมีมากกว่าเด็กในอำเภอรอบนอก พ่อกับแม่ก็ไม่ค่อยมีเวลา เด็กต้องการคนดูแลเอาใจใส่ ครูต้องเรียนรู้เด็กแต่ละคนและทำความเข้าใจ ใจเย็นและอดทน เมื่อถึงวันที่เด็กทำได้ คือความภูมิใจของครู”
เป็นเสียงของ ครูนูรีซัน อิสเฮาะ จากโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งใน จ.ปัตตานี ซึ่งภาคภูมิใจกับการทำหน้าที่ เพราะสามารถทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ แม้ต้องเสี่ยงกับสถานการณ์ความรุนแรง
ช่วงที่ยังสอนใน อ.ยะหริ่ง ครูนูรีซันพักอยู่ใน อ.เมืองปัตตานี ต้องเดินทางไปสอนด้วยรถเหมาพร้อมกับครูคนอื่น ต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลตลอดเส้นทางจนถึงโรงเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่สบายใจ
“ในแต่ละวันที่ออกจากบ้านไปสอน คิดว่าวันนี้จะได้กลับบ้านหรือเปล่า ระหว่างทางกว่าจะถึงโรงเรียนก็ไม่สบายใจ เพราะมีเจ้าหน้าที่นำขบวน รู้สึกกลัว เพราะรถครูเป็นเป้าหมายที่ชัดที่สุด หลังจากที่ย้ายมาสอนในเมือง รถครูที่เพื่อนๆ นั่งไปและรถเจ้าหน้าที่เกือบถูกระเบิด ห่างไปนิดเดียว ใจหายและเศร้าทุกครั้งเมื่อได้ทราบข่าวการสูญเสียเพื่อนครู รู้ถึงชีวิตครูที่อยู่รอบนอกดีว่ามีความรู้สึกอย่างไรในแต่ละวันที่ไปสอน”
อย่างไรก็ดี ในแง่ของขวัญกำลังใจ ครูนูรีซัน บอกว่า องค์กรครูดูแลกันดีมาก ทำให้ทำงานอย่างมีความสุข
“ครูไม่สบายก็ไปเยี่ยม ดูแลเสมอต้นเสมอปลาย จัดไปทัศนศึกษาและดูงานในพื้นที่อื่น ครูพุทธและมุสลิมมีความสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เชื่อมสัมพันธ์กับครูโรงเรียนอื่นด้วยกิจกรรม กีฬา ครูในเมืองจะมีการอบรม สัมมนา พัฒนาศักยภาพ แลมาถ่วายทอดให้นักเรียนอยู่ตลอด และด้วยความที่ไปมาสะดวก ทำให้ลดความกังวลในการเดินทางไปสอนได้มาก”
ครูพุทธขาดขวัญกำลังใจหนัก
นายอัษฎาวุธ สุวัตถี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปาเระ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เล่าถึงสถานการณ์ครูพุทธในพื้นที่ว่า ครูพุทธจะรู้สึกขาดขวัญกำลังใจมากกว่าครูมุสลิม ยิ่งเป็นครูที่มาจากนอกพื้นที่ด้วยแล้ว ยิ่งมีความหวาดกลัวและความห่วงใยจากทางครอบครัว
“ในความรู้สึกของครูพุทธ จะรู้สึกหวาดกลัวกับสถานการณ์ในพื้นที่มากกว่าครูมุสลิม แม้จะเป็นคนในพื้นที่ก็ตาม เพราะเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับครูส่วนใหญ่จะเป็นครูพุทธ และครูที่อยู่นอกเมือง จึงต้องมีการรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทาง รวมทั้งครูพุทธที่เป็นคนนอกพื้นที่ที่มาทำการสอนที่นี่ นอกจากตัวเองหวาดกลัวแล้ว ทางครอบครัวก็เป็นห่วง”
โรงเรียนบ้านปาเระมีครูพุทธทั้งหมด 4 คน เป็นคนในพื้นที่ 2 คน ต่างพื้นที่ 2 คน แต่ก็มีครอบครัวและตั้งใจตั้งรกรากที่นี่ รวมทั้งโรงเรียนตั้งอยู่ใกล้ถนนใหญ่ มีการรักษาความปลอดภัยตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ตอนเช้าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารมาดูแลหน้าโรงเรียน ช่วงกลางวันและกลางคืนมีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) คอยดูแล ทำให้ครูรู้สึกวิตกกังวลน้อยลง ใช้ชีวิตไดเตามปกติ แต่ความกลัวก็มีกันทุกคน เพียงแต่ต้องมีวิธีจัดการกับความกลัว
ส่วนเรื่องเงินเดือนและเบี้ยเสี่ยงภัย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปาเระ ติงว่า ฐานเงินเดือนครูที่ไม่เท่ากัน เปลี่ยนไปตามนโยบายของรัฐบาลแต่ละชุด ทำให้เป็นปัญหาของครูเช่นกัน เพราะครูบางคนบรรจุทีหลัง แต่ฐานเงินเดือนใกล้เคียงกับครูที่บรรจุก่อนนานๆ ขณะที่เงินเสี่ยงภัยเป็นสิ่งที่ครูในพื้นที่สมควรได้รับ
ครูที่ดีต้องสอนทักษะชีวิตคู่ความรู้
เรื่องราวของครูจากนอกพื้นที่ ดูได้จากชีวิตของ ครูดาหวัน วิเชียรสราง ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เธอแต่งงานกับสามีและตัดสินใจย้ายมาอยู่บ้านสามีที่ จ.ปัตตานี ครูดาหวันเคยเป็นครูโรงเรียนเอกชนที่นครศรีธรรมราช และรู้สึกรักในวิชาชีพครู จึงได้พัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติด้านการสอน ขณะนี้กำลังขอฝึกสอนเพื่อหาประสบการณ์ที่โรงเรียนบ้านรามง ต.ปูยุด อ.เมืองปัตตานี
“การที่มีโอกาสมาสอนที่ปัตตานี ถือว่ามีความแตกต่างกันมากกับการสอนที่นครศรีธรรมราช ช่วงเริ่มต้นต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องาษา เนื่องจากโดยพื้นเพฟังและสนทนาภาษามลายูถิ่นไม่ได้เลย การสอนช่วงแรกๆ จึงมีอุปสรรคในการสื่อสารกับนักเรียน แต่ยังดีที่มีนักเรียนคอยเป็นล่ามแปลภาษาให้ โดยทั้งครูและนักเรียนเองก็ปรับตัวในการฝึกฝนการฟังและสนทนาภาษามลายูจนปัจจุบันสื่อสารได้ดีขึ้น ส่วนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ก็ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมของที่ชายแดนใต้"
ในมุมมองของครูดาหวัน เธอเห็นว่าสิ่งที่เด็กที่นี่ควรได้รับการพัฒนาโดยเร็วคือ การสอนเกี่ยวกับทักษะชีวิต, การใช้ภาษาราชการในการสื่อสาร, การปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เนื่องจากคิดว่าครูที่ดีไม่ใช่แค่สอนให้ความรู้ แต่ครูที่ดีต้องเป็นคนที่สอนดีทั้งด้านวิชาความรู้และทักษะชีวิต โดยต้องยอมอุทิศเวลาส่วนตัวเพื่อศิษย์และส่วนรวม
ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบ ครูดาหวันคิดว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันของครู จะใช้เวลาอยู่ภายในโรงเรียนมากกว่าข้างนอก ส่วนการเดินทางของเธอเองจะเปลี่ยนเส้นทางและเวลาในการเดินทางไปเรื่อยๆ เพื่อความปลอดภัย
อดีตครูแม่ทัพฯเล่าประวัติตอนเป็นนักเรียน
แม้สถานการณ์จะตึงเครียด แต่บรรยากาศวันครูแห่งชาติที่ชายแดนใต้ 16 ม.ค.2559 ก็เป็นไปอย่างคึกคัก โดย พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ไปร่วมแสดงกตเวทิตาจิตต่อครูโรงเรียนตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนตันหยงมัส รุ่น 10 ด้วย
นายปราโมทย์ หนองเต่าดำ อายุ 71 ปี อดีตครูโรงเรียนตันหยงมัส ซึ่งเคยเป็นครูผู้สอน พล.ท.วิวรรธน์ สมัยเป็นนักเรียน เมื่อปี 2515 เล่าว่า สมัยเป็นนักเรียน พล.ท.วิวรรธน์ เป็นคนอัธยาศัยดี ไม่หยิ่ง ไม่ถือตัว และเป็นคนเรียบร้อย เสมอต้นเสมอปลาย ตนภูมิใจที่ศิษย์ได้ดี และอยากฝากถึงครูทุกคนให้สอนเด็กให้เป็นคนดีของสังคม ให้มีความรับผิดชอบ จะได้เป็นคนดีของบ้านเมืองต่อไป
พัฒนาครูตาดีกา...ทางออกการศึกษาชายแดนใต้
ด้านมุมมองต่อการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มดีขึ้น เหตุการณ์รุนแรงลดลง การแก้ปัญหาต้องเน้นแก้ที่คน และการพัฒนาคนก็ต้องมุ้งเน้นเรื่องการศึกษา เพราะเมื่อคนมีการศึกษา ก็จะมีการคิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ปัญหาความขัดแย้งก็จะลดลง และเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน
“ต้องพัฒนาทางปัญญา ติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชน นั่นก็คือการศึกษา ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาเยอะมาก โดยเฉพาะในระดับตาดีกา ประถม เด็กเล็ก จะทำอย่างไรให้มีคุณภาพ รัฐต้องทำตรงนี้ให้ดี หากรัฐเห็นความสำคัญของการศึกษา ต้องมีกรอบคิดที่พิเศษกว่าพื้นที่อื่น เมื่อใดที่ใช้กรอบเหมือนกันจะเกิดปัญหา”
ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวต่อว่า เรื่องตาดีกา ตอนนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลากำลังพัฒนาหลักสูตร “ตาดีกาสาธิต” โดยนำหลักสูตรตาดีกามาพัฒนาครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถสอนเรื่องศาสนา สอนตาดีกาได้ ต่อไปเมื่อนึกถึงเรื่องครูตาดีกา ทุกคนจะมาที่ราชภัฏยะลา
“ตอนนี้เราเริ่มสอนหลักสูตรนี้แล้ว เป็นการนำร่อง เราทำคนเดียวไม่สำเร็จ เราต้องมาร่วมคุยกันกับผู้รู้เรื่องศาสนา ต้องมาร่วมพัฒนาหลักสูตรนี้ ประชาชนในพื้นที่ ก็ต้องมาร่วมคุยเหมือนกัน และรัฐต้องสนับสนุน ขณะที่ครูอุสตาซ โต๊ะครูต้องมาร่วมวางหลักสูตร มาร่วมฝึกคนให้เป็นผู้นำ”
“ครูตาดีกาที่ผ่านการอบรมจากเรา ต้องรู้เรื่องศาสนา ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ จบแล้วสามารถเรียนต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ เพื่อให้สอดคลองกับบริบทของพื้นที่"
ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในวันครูแห่งชาติ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการศึกษาในพื้นที่ เพราะหากทุกฝ่ายช่วยกันพัฒนาการศึกษาได้ คนจะมีคุณภาพ และเหตุรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย
และนั่นจะเป็นทางเลือก ทางรอด ของทั้งครู นักเรียน และระบบการศึกษาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ภาพใหญ่) ภาพงานกตเวทิตาจิตที่แม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางไปร่วมพิธีที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนตันหยงมัส (ภาพเล็กซ้าย) ครูนูรีซัน (ภาพเล็กขวา) ผศ.ดร.สมบัติ