พลิก ม. 86 พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ปี 46 ก่อน 'ดาว์พงษ์' ใช้อำนาจคุมเอแบค
“กรณีของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งส่งผล กระทบต่อวัฒนธรรม ความสงบและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 86 (4)”
ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบค) ที่ยืดเยื้อมานานร่วมปีแม้ทางสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) และกระทรวงศึกษาธิการจะพยายามเป็นคนกลางด้วยการเรียกคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายภราดาบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีม.เอแบค และดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาลมาเจรจาร่วมกันแต่ก็ล่มหลายต่อหลายครั้ง
กระทั่งมีข้อเสนอจากคณะกรรมการอุดมศึกษา(กกอ.) ซึ่งมีอำนาจโดยตรงในการดูแลมหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมวาระเร่งด่วนในต้นเดือนมกราคม2559เพื่อพิจารณาว่ากระทรวงศึกษาธิการควรจะเข้าไปควบคุมดูแลหรือไม่
ท้ายที่สุดคุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้เสนอทางเลือกให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ คือพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ไปตัดสินใจใน 2 แนวทาง คือ1.ให้ใช้วิธีไกล่เกลี่ยตามที่ได้ดำเนินการมา และ 2.ใช้อำนาจตามมาตรา 86 (4) และมาตรา 86 วรรคสองตามพ.ร.บ.อุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ตั้งกรรมการเข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
คุณหญิงสุมณฑา ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีผลกระทบรุนแรงต่อภาพลักษณ์สถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงก็ยิ่งมีผลกระทบมาก ทั้งหมดสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งภายในระหว่างสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหาร ซึ่งปล่อยไปก็จะเป็นอุปสรรคแก่การจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะจะเปิดภาคเรียนวันที่ 11 มกราคมนี้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผล กระทบต่อโดยรวม
“ทั้งนี้ มาตรา 86 (4) กำหนดไว้ว่า ถ้ามหาวิทยาลัยเอกชน เกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ จากทั้งหมด 4 สาเหตุ ซึ่งรวมถึงการที่สภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี คณาจารย์ หรือนักศึกษา ดำเนินการอันเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงและความปลอดภัยต่อประเทศ ต่อวัฒนธรรมของชาติ ความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งกรณีของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งส่งผล กระทบต่อวัฒนธรรม ความสงบและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 86 (4)”
อย่างไรก็ตามจากข้อเสนอของกกอ.พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ยังไม่ใช้ไม้แข็งด้วยการใช้ม.86(4)ตามที่กกอ.เสนอ และให้โอกาสคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายของม.เอแบคเข้ามาเจรจาหาข้อยุติแต่ก็หาข้อสรุปไม่ได้ ก่อนจะให้โอกาสอีก7 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2559 และรอฟังคำตอบในวันที่ 15 มกราคม 2559 ท้ายที่สุดคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายยืนยันในข้อเรียกร้องของตัวเอง จึงเป็นที่มาให้พลเอกดาว์พงษ์ งัดไม้แข็งทางเลือกสุดท้ายเข้าควบคุมม.เอแบค โดยจะมีการลงนามคำสั่งในวันที่ 19 มกราคม 2559
ด้านดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา ว่า การใช้ม.86ของ พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชนพ.ศ.2546แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2)พ.ศ.2550 นั้น หากมหาวิทยาลัยทำผิดวรรคใดวรรคหนึ่งก็สามารถดำเนินการได้หากกกอ.เป็นผู้นำแนะ โดยก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยอีสาน(มอส.)ก็ถูกกระทรวงศึกษาธิการใช้ม.86วรรคสองเข้าควบคุมในปี 2554 หลังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มอส.ซื้อขายใบประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู และตามมาด้วยเพิกถอนใบอนุญาต
สำหรับกรณีของม.เอแบคนั้น ดร.ภาวิช กล่าวว่า หากถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัย หากติดตามข่าวมาโดยตลอดจะเห็นว่าคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถตกลงเจรจากันได้ ซึ่งพลเอกดาว์พงษ์ ก็ประกาศว่าถ้าวันนี้(18 มกราคม 2559) ทั้ง 2 ฝ่ายจูงมือกันมาว่าดีกันแล้ว ก็พร้อมพิจารณายกเลิกที่จะประกาศใช้ม.86 ทันที แต่ท่าที่ของการพูดคุยไม่ใช่ ที่สำคัญคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในม.เอแบคเริ่มบานปลายขึ้นเรื่อยๆ และถกเถียงกันเรื่องข้อกฎหมายว่าอันนี้อำนาจใคร ใครถูกใครผิด ใครมีอำนาจ กระทั่งส่งผลกระทบกับนักศึกษา และในฐานะที่กกอ.ถือว่าเป็นกรรมการกลางของเรื่องนี้ได้ชี้ช่องให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสามารถใช้อำนาจตามม.86 ของพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแล้วนั้น ก็ย่อมทำได้ เพราะคู่ขัดแย้งไม่สามารถพูดคุยและตกลงกันได้
สำหรับ พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชนพ.ศ.2546แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2)พ.ศ.2550 ระบุว่า มาตรา 86 เมื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนใดมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1)ไม่มีทุนพอจะดำเนินการต่อไป หรือมีหนี้สินเกินทรัพย์สิน หรือมีฐานะการเงินไม่มั่นคงอันอาจเกิดความเสียหายแก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(2)ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด หรือประกาศที่ออกหรือกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในเมื่ออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรีซึ่งสั่งการตามมาตรา 100 วรรคสาม
(3)หยุดสอนเกินสองเดือนติดต่อกัน เว้นแต่เป็นการหยุดสอนตามข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(4)สภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบัน อธิการบดี คณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดำเนินการอันเป็นภัยอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยของประเทศ วัฒนธรรมของชาติ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคนทำหน้าที่แทนสภาสถาบัน และให้ประกาศคำสั่งควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยกำหนดเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามวัน
มาตรา100 ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะเลิกกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยความเห็นชอบของสภาสถาบัน ให้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเลิกกิจการและแผนการจัดการศึกษาของนักศึกษาที่เหลืออยู่ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต่อคณะกรรมการก่อนสิ้นปีการศึกษาไม่น้อยกว่าสามเดือน
ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล การเลิกกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความยินยอมจากนิติบุคคลนั้นตามกฎหมาย
รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการอาจมีคำสั่งเลิกกิจการสถาบันอุดมศึกษาและจะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขเท่าที่จำเป็นได้ และให้นำมาตรา 92 มาตรา93 และมาตรา94 มาใช้บังคับแก่การเลิกกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยอนุโลม
ทั้งนี้ในมาตรา 92 เมื่อคณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนรายงานต่อรัฐมนตรีว่ามีเหตุสมควรเพิกถอนใบอนุญาต ให้คณะกรรมการมีคำสั่งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับผลการศึกษาของนักศึกษาทั้งหมดของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
ให้เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษาเป็นผู้ออกหนังสือรับรองผลการศึกษาของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดังกล่าวตามหลักฐานที่ได้รับมอบตามวรรคหนึ่ง
มาตรา93 เมื่อรัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ให้ถือว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดังกล่าวหมดสภาพการเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 13 ให้คณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีบริษัทจำกัดมาใช้บังคังแก่การชำระบัญชีของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยอนุโลม
มาตรา 94 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานระหว่างการควบคุมหรือชำระบัญชีในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้จ่ายจากทรัพย์สินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น
คณะกรรมการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอาจได้รับเงินค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยจ่ายจากทรัพย์สินของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น
และนี่คือสาเหตุที่พลเอกดาว์พงษ์ ตัดสินใจ งัดม.86ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายเข้าควบคุมม.เอแบค โดยจะมีการลงนามคำสั่งในวันที่ 19 มกราคม 2559
อ่านประกอบ
เอเเบคอลหม่าน ชายฉกรรจ์ตัดโซ่ ดับเพลิงฉีดน้ำสกัด
สกอ.ชี้สภาม.อัสสัมชัญพักการปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี- ตั้งรก.แทน ชอบด้วยกฎหมาย
ฝ่ายหนุนมั่นใจ"อธิการฯเอแบค"ไม่โกง! นัดรวมพลยื่นหนังสือสกอ.โต้ข้อมูล"ดร.สุทธิพร"
"ดร.สุทธิพร" ดับเครื่องชน ยื่น สกอ. สอบปม "อธิการฯ" ฝ่าฝืนมติสภาฯเอแบค
ม.อัสสัมชัญ สั่งสอบ อธิการฯ พร้อมให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ - เจ้าตัวไม่สนยังทำงานปกติ
ชงตั้งกก.สอบอธิการฯ ปมเอแบคโพลล์ พ่วง2กรณีฉาว จี้หยุดปฏิบัติหน้าที่
ชัดๆเงื่อนงำห้องปฏิบัติการฝึกบินฯ อีกชนวนเหตุชงตั้งกก.สอบ"อธิการฯเอแบค"