10 อันดับงาน “ภูเก็ต” พบ “นายจ้าง” ต้องการวุฒิปวช./ปวส.สูงมากกว่า 3 เท่าของวุฒิป.ตรี
“ภูเก็ต” จับมือ “สสค.” จัดมหกรรม “เปิดโลกสัมมาชีพ Learn for Live 2016” เปิด “60 คลินิก” ปรึกษาอาชีพ วิทย์-ศิลป์-อาร์ต เตรียมความพร้อมเยาวชน ม.ต้นสู่โลกของการทำงาน
วันที่ 18 มกราคม 2559 ณ ศูนย์กีฬาสะพานหิน จังหวัดภูเก็ต สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกันเปิดมหกรรม “เปิดโลกสัมมาชีพ Learn for Live 2016” เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายภาคธุกิจและการศึกษาร่วมเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับเด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง ตั้งเป้าเปลี่ยนทัศนคติคนภูเก็ตในการเรียนอาชีวะ และสร้างค่านิยมที่ถูกต้องในการเรียนรู้ เตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นสู่โลกการทำงานในสายอาชีพ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐ ในการแก้ปัญหาและความต้องการของประเทศในเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และตอบสองความต้องการด้านแรงงานตามทิศทางการพัฒนาของจังหวัด โดยนางสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ประธานเปิดงาน
นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า จากข้อมูลของเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายของภูเก็ต พบว่า มีเด็กเยาวชนภูเก็ตมากกว่า 50% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการเรียนต่อในด้านใด เพราะการแนะแนวยังให้ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบันทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การค้นพบตัวเองและรู้ว่าตัวเองต้องพัฒนาทักษะด้านใดจึงเอื้อต่อการพัฒนาสู่อาชีพในอนาคต
ขณะที่วิจัยแรงงานในตลาดภูเก็ตและแนวโน้มอาชีพในอนาคต 5 ปีของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับสสค.ซึ่งคำนวณข้อมูลการสำรวจภาวการณ์มีงานทำของประชากร ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า เงินเดือนของคนที่ทำงานในภูเก็ตจำแนกตามวุฒิ (25-30 ปี) พบว่า ผู้ที่จบปริญญาตรีได้เงินเดือนเฉลี่ย 13,610 บาท ขณะที่วุฒิปวช./ปวส.ได้เงินเดือนเฉลี่ย 12,462 บาท แต่เมื่อคำนวณถึงภาระในการเรียนต่อ และการใช้หนี้กยส.ของผู้เรียนป.ตรีจะพบว่า การเรียนปวช./ปวส.อาจมีเงินเหลือใช้มากกว่า
ขณะเดียวกันเมื่อสำรวจตลาดแรงงานกลับพบว่า 10 ตำแหน่งงานที่นายจ้างต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) แรงงานทั่วไป (16.7%) 2) ผู้จัดการฝ่ายขาย (10%) 3)ช่างไฟประจำเรือ (8.4%) 4) หัวหน้าและพนักงานทำความสะอาด (7.6%) 5) พนักกงานต้อนรับโรงแรม (6.5%) 6)พนักงานต้อนรับทั่วไป (6.1%) 7)พนักงานต้อนรับให้ห้องอาหาร (5.8%) 8)ผู้จัดการทั่วไปด้านธุรกิจ (5%) 9) หมอนวดแผนโบราณ (5%) และ 10) ช่างเทคนิควิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมอื่น ๆ (4.5%) โดยคิดเป็นอาชีพที่ใช้วุฒิปวช./ปวส. (49.3%) และใช้วุฒิป.ตรี (15%) หรือสูงกว่า 3 เท่า
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การจบป.ตรีไม่ได้การันตีรายได้และอนาคตที่ดีกว่าในภูเก็ต เพราะดูจากผลวิจัยพบว่าความต้องการจ้างงานกว่า 80% อยู่ในระดับต่ำกว่าป.ตรี และยังพบว่านายจ้างคาดหวังให้ลูกจ้างมีทักษะด้านภาษาต่างประเทศ IT การคำนวณ และการบริการจัดการด้วย
นายบัณฑูร ทองตัน ประธานสภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สิ่งที่สภาการศึกษาภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชน และเครือข่ายสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอาชีวศึกษา และอาสาสมัครในภูเก็ตลุกขึ้นมาช่วยกันจัดมหกรรมเปิด 60 อาชีพแนะแนวเด็กมัธยมต้นสู่โลกการทำงาน ก็เพราะเห็นตรงกันว่า ภูเก็ตประสบปัญหาว่างงานในขณะที่งานหลายตำแหน่งขาด การฉายภาพอนาคตของภูเก็ตให้แก่ผู้ปกครอง ครูและผู้เรียนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเตรียมพร้อมของเด็กเยาวชนและคนภูเก็ต ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงพลังของคนภูเก็ตที่ลุกขึ้นมาช่วยกันจัดการศึกษา โดยใช้โจทย์ความต้องการของพื้นที่เป็นฐาน
"วันนี้ภูเก็ตรู้แล้วว่าเราต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาสัมมาชีพที่ขาดด้านใดบ้าง ซึ่งผมมั่นใจว่า หากส่วนกลางปล่อยให้การศึกษาเป็นเรื่องที่จังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมได้ ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระให้รัฐบาลและกระทรวงศึกษา โดยเฉพาะเรื่องกลไกขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัด ควรมีกฎหมายรองรับ แต่มิใช่รูปแบบการสั่งการให้เกิดพร้อมกันทั่วประเทศ ควรเริ่มจังหวัดที่มีความพร้อมก่อนเริ่มก่อน”
ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวถึงแนะแนวเรื่องอาชีพต้องไม่ใช่การสร้างภาพฝัน แต่ต้องเข้าไปปรับกระบวนการในการเรียนรู้ด้วยการสร้างภาพความเป็นจริงในชีวิตและการทำงานให้เด็กและเยาวชนได้เห็นเพื่อให้เขาได้มีเป้าหมายในชีวิต และรู้ว่าถ้าจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง
"สังคมเรายังเชื่ออยู่กับสิ่งเดิมที่ยังผิดทางอยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างความรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับทั้งครู เด็ก และผู้ปกครอง วิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องใช้เวลาในชั้นเรียนมาบูรณาการกับเรื่องการเรียนรู้อาชีพ เอาชีวิตจริงมาให้เด็กเรียนรู้ โดยกระตุ้นให้เด็กได้คิดและค้นคว้าด้วยตัวเอง”