'บรรจง นะแส' ชี้ห้ามเรือเล็กออกนอกชายฝั่ง 3 ไมล์ สร้างขัดแย้งรัฐ-ชาวบ้าน
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทยชี้ห้ามประมงพื้นบ้านออกนอกทะเลชายฝั่งเกิน 3 ไมล์ ยิ่งสร้างขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน ระบุรัฐออกกฎหมายแบบลวกๆ โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง ย้ำหากรัฐไม่ฟังจะรวมกลุ่มมานอนเล่นหน้ากระทรวงเกษตรฯ
จากกรณีเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2559 สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรา 34 ของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)การประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งรัฐบาลประกาศใช้แทนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประมง พ.ศ.2558 เดิม ซึ่งระบุ “ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ออกทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง” โดยมีข้อกำหนดห้ามชาวประมงพาณิชย์เข้ามาในเขตชายฝั่งทะเล ซึ่งกำหนดไว้ที่ 3 ไมล์ทะเลโดยเด็ดขาด ในขณะเดียวกัน ก็ได้กำหนดห้ามชาวประมงพื้นบ้านออกไปทำประมงจับปลานอก 3 ไมล์ทะเลด้วยนั้น
นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงการออกมาคัดค้านและให้รัฐบาลยกเลิกม.34 ของพ.ร.ก.ประมง พ.ศ. 2558 ว่า ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีการประกาศออกมาบังคับใช้กฎหมายชาวประมงพื้นบ้านพยายามท้วงติงไปหลายครั้งว่า มีกฎหมายบางข้อจะส่งผลกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะม.34 ที่กำหนดให้เรือประมงพื้นบ้านไม่สามารถออกทำการประมงนอกชายฝั่งทะเลเกิน 3 ไมล์ หรือ 5.4 กิโลเมตรนั้น เป็นการออกกฎหมายที่ไม่ได้ดูข้อเท็จจริง ซึ่งเรือประมงพื้นบ้านมีอยู่ในระบบ 85% ขณะที่เรือประมงพาณิชย์มี 15% ดังนั้นการกำหนดขอบเขตให้เรือประมงพื้นบ้านที่มีอยู่จำนวนมากจำกัดอยู่ในระยะ 3 ไมล์ แล้วเรือพาณิชย์ออกไปแบบไหนก็ได้ หลักการลักษณะนี้ไม่มีที่ไหนในโลกที่เขาเอาหลักการแบบนี้มาใช้
“การออกกฎหมายของรัฐบาลวันนี้เป็นการทำแบบลวกๆ โดยไม่ได้ลงมาดูของจริง ซึ่งเมื่อไปถามกรมเจ้าท่าว่า ทำไมกำหนดมาแบบนี้ ก็บอกว่ากลัวเรือประมงพื้นบ้านออกไปไกลแล้วไม่ปลอดภัย ซึ่งวิธีชาวบ้านถ้ารู้ว่าคลื่นลมแรง ครึ่งไมล์เขาก็ไม่ไปกันแล้ว”
นายบรรจง กล่าวถึงวิธีของชาวประมงพื้นบ้าน ระยะ 20 ไมล์เขาก็ออกไปกันได้ เพราะในระยะเขตนั้นเป็นการใช้อวนกุ้ง อวนปู แล้วการออกกฎหมายลักษณะนี้ออกมาจะยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ประมงทะเลาะกับชาวบ้าน อีกหนึ่งนัยยะที่มองคือกฎหมายนี้ปกป้องอวนลาก คุ้มครองประมงพาณิชน์
“กฎหมายที่ออกมาในทางปฏิบัติทำไม่ได้ ที่สำคัญคือขัดกับวิถีชาวบ้าน แล้วที่กลัวว่าจะเข้าข่ายเป็นประมงแบบ IUU หรือการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมนั้น ที่จริงก็ไม่ใช่ การประมงผิดกฎหมายของเขาคือห้ามใช้เครื่องมือทำลายล้าง พอเรารีบออกกฎมายมาแก้ไขโดยที่ตีความกฎหมายเป็นอีกอย่างก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง ความจริงแล้วต้องดูที่เครื่องมือการใช้งานเป็นหลัก”
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวด้วยว่า หากให้มองว่า รัฐบาลแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายถูกทางหรือไม่ถูกนั้นก็คงไม่รู้ แต่บอกได้ว่ามาตรการที่จะห้ามเรือประมงพื้นบ้านออกนอกชายฝั่งทะเลเกิน 3 ไมล์นั้นปฏิบัติไม่ได้ และจะยิ่งสร้างความขัดแย้งไปทั่วบ้านทั่วเมือง
เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหว นายบรรจง กล่าวด้วยว่า ก็จะดำเนินการจากเบาไปหาหนัก โดยวันที่ 18 มกราคม 2559 จะยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน แต่รัฐบาลจะมีปฏิกิริยาอย่างไรคงเดาใจไม่ถูก หากเขายังไม่เข้าใจขอเรียกร้องอยากให้รัฐมนตรีลงมาดูของจริงว่าเป็นอย่างไร และหากกลุ่มประมงพื้นบ้านออกทะเลไม่ได้ก็จะรวมกลุ่มกันไปนอนเล่นหน้ากระทรวงเกษตรฯสักเดือน