งานคนไทยขอมือหน่อย ชวนอาสาสมัครจับคู่คนพิการวิ่ง สร้างเสริมสุขภาพ
งานคนไทยขอมือหน่อย ชวนอาสาสมัครจับคู่คนพิการวิ่ง สร้างเสริมสุขภาพ เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ 'ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล' เผยความสำเร็จ คนตาบอดหลายคนกลับมาวิ่งได้ เกิดความเชื่อมั่น เคารพในตนเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14-17 มกราคม 2559 สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) และสมาชิก 9 องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทย และภาคีภาคสังคม ภาคธุรกิจ 200 องค์กร จัดงาน 'คนไทยขอมือหน่อย 2016: Ratchaprasong, The Sharing street’ กิจกรรมตลาดนัดอาสาสมัครระดับประเทศ ณ ลานด้านหน้า ศูนย์การค้า เซ็นทรัล เวิลด์
ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย หนึ่งในนั้น คือ โซนเกิดมาลุย ‘บูธวิ่งด้วยกัน’ ซึ่งนำเสนอนวัตกรรมทางความคิดเกี่ยวกับโครงการ ‘วิ่งด้วยกันมินิมาราธอน’ โดยเปิดโอกาสให้อาสาสมัครใจดีกับผู้พิการที่รักสุขภาพ ร่วมกันวิ่งเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี
นายฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้จัดโครงการวิ่งด้วยกัน มินิมาราธอน และผู้ก่อตั้งบริษัท กล่องดินสอ จำกัด เปิดเผยถึงความเป็นมาว่า เกิดมาจากการสังเกตของเราที่เห็นว่า คนตาบอดมีปัญหาเรื่องสุขภาพ คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสออกกำลังกาย ซึ่งลำพังคนตาบอดแค่เดินเหินก็ยากแล้ว จะให้ออกกำลังกายถือเป็นเรื่องที่ยากมาก จึงเกิดเป็นแนวความคิดให้ออกกำลังกายง่าย ๆ ด้วยการวิ่ง
โดยเกิดนวัตกรรมที่ดีที่สุด คือ อาสาสมัคร หรือไกด์รันเนอร์ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ดีที่สุดก็คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง และเกิดเป็นงานวิ่งด้วยกันขึ้นมา จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2558 ที่สวนลุมพินี มีคนตาบอดเข้าร่วมกิจกรรมเพียง 12 คน หลังจากนั้นได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเดือนละหนึ่งครั้ง เป็นประจำทุกเดือน กระทั่งครั้งล่าสุดมีคนตาบอดเข้าร่วมเพิ่มขึ้นถึง 70 คน ไม่ว่าจะพิการทางด้านไหนก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้
“แม้ว่าคุณจะวิ่งเองได้ เราก็ยังกำหนดให้วิ่งเป็นคู่ เพราะวัตถุประสงค์ของงานไม่ใช่เพียงให้คนพิการมาออกกำลังกาย แต่คือการให้อาสาสมัครได้รู้จักและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนพิการ ซึ่งเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมที่เราไม่ค่อยได้เจอเท่าไหร่นัก” ผู้จัดโครงการฯ กล่าว และว่า เมื่อได้มาเจอก็จะเกิดความรู้สึกว่า แม้คนพิการจะมีความแตกต่างจากเรา แต่ไม่ได้มีอะไรด้อยกว่า ดังนั้นเราทุกคนเป็นเพื่อนกันได้ เพราะทุกคนเท่าเทียมกัน และบางครั้งในการวิ่ง คนพิการวิ่งเก่งกว่าเราด้วยซ้ำ เพียงแค่ต้องการคนบอกทางเท่านั้น
นายฉัตรชัย ยังกล่าวว่า สำหรับการประชาสัมพันธ์นั้นแบ่งออกเป็น 2 ช่องทาง สำหรับคนพิการจะเป็นการติดต่อโดยตรงโดยผ่านองค์กรเครือข่าย รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ คนพิการส่วนใหญ่จะติดต่อมาทางโทรศัพท์ ส่วนไกด์รันเนอร์จะเป็นประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook คือกรุ๊ปวิ่งด้วยกัน ที่เป็นพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรม อีกด้านหนึ่งจะเป็นลักษณะคนพิการที่ไม่สะดวกมาร่วมกิจกรรม ก็จะโพสต์บอกตำแหน่งที่ตั้งของบ้าน หากต้องการวิ่งวันนี้ มีอาสาสมัครอยู่ตรงแถวนั้นหรือไม่ เพื่อจะได้พาออกมาวิ่ง
ทั้งนี้ หากพูดถึงความสำเร็จต้องบอกว่าคนพิการเข้ามาร่วมวิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ที่เข้ามาร่วมงานยังไม่เคยวิ่งมาก่อน พอมาวิ่งในงาน จนรู้สึกว่า ได้ประโยชน์ทั้งสุขภาพกายและใจ คนตาบอดที่เดินยากลำบาก ในวันนี้กลับวิ่งได้ จึงส่งผลต่อความเชื่อมั่น ความเคารพในตัวเองเพิ่มขึ้น
“มีคนพิการอีกจำนวนมากที่ไม่กล้าออกมาวิ่ง เพราะกลัวว่า จะทำไม่ได้ คนไม่เคยวิ่งจะไปวิ่งได้อย่างไร โครงการจึงอยากเชิญชวนคนพิการทุกคนออกมาวิ่ง เรามีไกด์รันเนอร์ให้ โดยไม่ต้องกลัวชนหรือว่าล้มแต่อย่างใด คนที่เพิ่งเริ่มก็ไม่ต้องกลัว เราจะมาเริ่มก้าวไปพร้อมกัน” ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวในที่สุด .
อ่านประกอบ:เริ่มเเล้ว 'งานคนไทยขอมือหน่อย' ผู้จัดหวัง สร้างความร่วมมือ ลดความเหลื่อมล้ำ