หลากมุมมองกับภารกิจที่ท้าทาย “กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์” ผอ.Thai PBS คนใหม่
"สิ่งที่ไทยพีบีเอสต้องการในฐานะสื่อสาธารณะ คือ คนที่มีวิสัยทัศน์ เข้าใจบทบาทของสื่อ ไม่ใช่สื่อของการรายงานข่าวสารหรือเป็นรายการแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น"
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) มีมติ 2 ใน 3 เลือกนายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นผู้อำนวยการ ส.ส.ท. คนใหม่
ไทยพีบีเอส ในฐานะสื่อสาธารณะที่สร้างสรรค์สังคม ภายใต้ผอ.คนใหม่ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไทยพีบีเอสให้เป็นมากกว่าสถานีโทรทัศน์ สู่กลไกขับเคลื่อนสังคมอย่างแท้จริงนั้น ในมุมมองผู้ที่อยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมีคาดหวังอย่างไรบ้าง
คนแรกนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะอดีตผู้อำนวยการไทยพีบีเอส เห็นว่า นายกฤษดามีความเข้าใจในบทบาทของสื่อสาธารณะเป็นอย่างดี เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนว่า บทบาทของสื่อสาธารณะจะไปในทิศทางไหนและอย่างไร อาจจะมีคนตั้งข้อสังเกตถึงการไม่มีประสบการณ์ทางด้านการบริหารองค์กรสื่อมาก่อน
“แต่ผมคิดว่าการบริหารองค์กรสื่อก็สามารถหาผู้ช่วย หารองผอ.ที่มีประสบการณ์ในด้านนี้โดยตรงขึ้นมาได้ แต่สิ่งที่ไทยพีบีเอสต้องการในฐานะสื่อสาธารณะที่ต้องการคือ คนที่มีวิสัยทัศน์ เข้าใจบทบาทของสื่อ ไม่ใช่สื่อของการรายงานข่าวสารหรือเป็นรายการแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะต้องเข้าใจในแง่ของสื่อสาธารณะสังคมว่า ควรจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่าประสบการณ์ของนายกฤษดา จะทำให้เข้าใจประเด็นปัญหาสำคัญของสังคมนี้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”
อดีตผอ.ไทยพีบีเอส คาดหวังว่า ผอ.คนใหม่ จะนำประสบการณ์ที่ได้สัมผัสในด้านต่างๆ ทั้งในด้านสังคม ผ่านการทำงาน สสส. มาจะสามารถที่จะทำให้ไทยพีบีเอสเข้าไปสะท้อนหรือเข้าไปมีส่วนในการกระตุ้นความสนใจให้เกิดการแก้ไขปัญหาและภาระสังคมได้มากขึ้น ตรงกับจุดยืนของฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอสมาตลอดตั้งแต่ต้นว่า ไทยพีบีเอสไม่ได้เป็นแค่เพียงสื่อโทรทัศน์เท่านั้น หากดู พ.ร.บ.ของไทยพีบีเอส ภารกิจจะมีมากกว่าที่เราเห็น จะเน้นการมีส่วนร่วมในการให้ความรู้กับสังคมแก้ไขปัญหาด้านต่างๆที่เกิดขึ้น โดยต้องเริ่มจากการเข้าใจ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสังคมก่อน สุดท้ายแล้วควรจะนำไปสู่การที่สังคมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
ขณะที่ “กนกพร ประสิทธิ์ผล” นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มองถึงกระบวนการในการสรรหาของไทยพีบีเอสค่อนข้างที่จะเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะรู้ทุกขั้นตอน มีกรรมการทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งบ่งบอกถึงความโปร่งใส โดยเฉพาะในการรอบคัดเลือกครั้งสุดท้ายจะเป็นคำถามวิสัยทัศน์ของผู้ที่เข้ารอบมาว่า เป็นอย่างไร คะแนนออกมาตรงใจหรือไม่ จะได้ผลออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและมุมมองของคณะกรรมการ เพราะตอนนี้ไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่ได้มีพันธกิจแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ใช่พันธกิจแค่เรื่องการทำข่าวเท่านั้น ยังมีเรื่องของเครือข่ายและอีกหลากหลายด้าน ฉะนั้นบุคคลที่จะมาเป็นเบอร์ 1 ต้องดูว่าจะเข้ามาพัฒนาความจำเป็นในสิ่งใดก่อน
“ช่วงเวลาอีก 4 ปีในไทยพีบีเอสจะต้องการผู้นำที่มีจุดเด่นตรงไหนบ้าง อย่าลืมว่า ไม่ใช่แค่ผู้นำก็สำคัญ แต่ยังมีรองผอ. คณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการบริหาร ที่จะต้องช่วยกันส่งเสริม ปรับจุดเด่นจุดด้อยให้เติมเต็มกันได้ เชื่อว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบหมด แต่ครั้งนี้คณะกรรมการต้องมองแล้วว่า คะแนนหลายๆ ด้าน ในจุดที่สำคัญที่สุดกับไทยพีบีเอสในเวลานี้ควรจะเป็น ผอ.ท่านนี้”
นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ยังมองด้วยว่า ความคาดหวังในองค์กรที่เปลี่ยนไป อะไรที่แข็งแรงอยู่แล้วอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการในตอนนี้ก็ได้ คือทุกอย่างต้องผสานเข้าด้วยกันเป็นอย่างดี อย่างน้อยคณะกรรมการที่คัดเลือกทุกคนมีคุณวุฒิจากหลากหลายด้าน และเลือกด้วยความเหมาะสมที่ดีที่สุด
ด้าน ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และผู้อำนวยการมีเดียมอนิเตอร์ มองอีกแง่มุมหนึ่ง โดยแสดความกังวลกับคำถามถึงคุณวุฒิด้านเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านงานสื่อสารมวลชนในระดับผู้บริหารองค์กร โดยเห็นว่า ความเป็นองค์กรสื่อนั้นมีความเฉพาะ ฉะนั้นผู้บริหารองค์กรสื่อที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานองค์กรสื่อเลยถือว่า ยังเป็นเรื่องที่เป็นข้อกังวลอยู่มาก
“อีกเรื่องคือบทสัมภาษณ์ของ ผอ.ไทยพีบีเอสคนปัจจุบัน ที่ให้สัมภาษณ์หลังแสดงวิสัยทัศน์ว่า ถ้าได้ตำแหน่งแล้วจะทำให้ไทยพีบีเอสเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนทางด้านสังคม ซึ่งความจริงแล้วสื่อทุกสื่อทำงานด้านขับเคลื่อนสังคมอยู่แล้ว เราต้องทำงานกับประเด็นสาธารณะ ต้องทำงานกับอารมณ์ และความสนใจของสังคม ที่สำคัญที่สุดสื่อต้องทำหน้าที่ในการชี้นำ ให้สังคมหลุดพ้นจากสาเหตุปัญหา
หากบอกว่า ต้องนำสื่อสาธารณะไปขับเคลื่อนสังคม นั่นย่อมเป็นสิ่งที่สื่อต้องทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะสื่อสาธารณะ และอยากให้ทาง ผอ.คนใหม่ของไทยพีบีเอสมองเห็นถึงมาตรฐานขององค์กรสื่อสาธารณะในระดับสากล ซึ่งหลีกเลี่ยงความเป็นวิชาชีพสื่อมวลชนไม่ได้”
ดร.เอื้อจิต ชี้ให้เห็นว่า การเป็นสื่อสาธารณะนั้นต้องเป็นสื่อของทุกกลุ่ม และต้องรวมให้ทุกกลุ่มรู้จักเข้าใจกัน จนสามารถที่จะทำบทบาทหน้าที่ของตนร่วมกันได้ และไทยพีบีเอสต้องมีพันธกิจที่เป็นเป้าหมาย การพูดเช่นนี้จะทำให้วิสัยทัศน์เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ สุดท้ายต้องเร่งมือคลี่คลายโดยด่วนว่า ที่ประกาศออกไปจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร
“นายกฤษดาต้องทำงานในฐานะผู้บริหาร และไม่ใช่ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นฐานะผู้บริหารองค์กรสื่อสาธารณะที่มีสื่อหลากหลาย และการพูดครั้งนี้ถือเป็นการพูดเชิงยุทธศาสตร์ เป็นงานเชิงนโยบายไม่ใช่เชิงปฏิบัติ การที่ไม่มีประสบการณ์ด้านสื่อ อาจทำให้เกิดความกังวลความไม่เชื่อมือ ไปจนถึงความไม่เชื่อถือของผู้ทำงานไปบ้าง จะทำอย่างไรก็ได้ที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างคณะกรรมการนโยบาย คณะผู้บริหารและคณะกรรมการบริหารเข้าด้วยกัน ที่สำคัญต้องเป็นงานปฏิบัติการ ไม่ใช่งานนโยบาย
ความเป็นสื่อสาธารณะมีภาระหน้าที่ตาม พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ในฐานะองค์การสื่อสาธารณะที่ไม่แสวงผลกำไรแห่งแรกของประเทศไทย สิ่งสำคัญที่สุดนั่นคือการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน และการประกาศเช่นนี้ จะทำให้ไทยพีบีเอสอยู่ในจุดที่ถูกตั้งคำถามจากบางกลุ่มของสังคมแล้วก็ยิ่งทำให้ไทยพีบีเอสละเลยกลุ่มบางกลุ่มในสังคมหรือไม่” ดร.เอื้อจิต กล่าวทิ้งท้าย