สุรชาติ: ไอเอสขยายตัวสู่เอเชียอาคเนย์... โจทย์ความมั่นคงชุดใหญ่ปี 2016
กลุ่มไอเอสจะขยายอิทธิพลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่? คือโจทย์ความมั่นคงข้อใหญ่ที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเอาไว้ตั้งแต่เปิดศักราชปี 2559 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาขบคิดและเตรียมการรับมือ
ในมุมมองของอาจารย์สุรชาติ เห็นว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคง ณ เวลานี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลกล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน แม้หลายคนจะบอกว่าปัญหาไอเอสไกลตัวประเทศไทย ทว่าอาจารย์สุรชาติกลับมองตรงกันข้าม
และเหตุระเบิดหลายครั้งต่อเนื่องกันล่าสุดกลางกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ก็ยืนยันคำกล่าวของอาจารย์ได้เป็นอย่างดี
“วันนี้มันมีสถานการณ์ที่เราคาดไม่ถึงหลายอย่าง หากมองในแง่มุมของคนที่ต้องประเมินสถานการณ์ ผมมองว่าในช่วงหลังๆมันเป็นสิ่งที่คาดการณ์อะไรแทบไม่ได้เลย อะไรที่เราเคยนึก มันเกิดค่อนข้างเร็ว” อาจารย์สุรชาติ เปรยในเบื้องต้น ก่อนยกตัวอย่าง
“กรณีเหตุรุนแรงหลายจุดกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใครจะคิดว่ากรุงปารีสจะเกิดเหตุความรุนแรงช่วงต้นปีแล้ว (โจมตีสำนักงานนิตยสารชาร์ลี แอบโด) จากนั้นในช่วงปลายปี คือเดือน พ.ย.จะเกิดเหตุความรุนแรงซ้ำอีกครั้ง”
เขาสรุปว่า สถานการณ์การที่เรากำลังเห็นมันตอบได้ว่า โลกเราในปี ค.ศ.2016 จะมีความผันผวน และจะเห็นสถานการณ์คาราคาซังในทวีปยุโรป เช่น กรณีกรุงปารีสที่ยังไม่จบ ต่อเนื่องไปถึงกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และจะลามไปถึงประเทศเยอรมนี ซึ่งโจทย์พวกนี้มันชี้ได้ว่า ชุดความมั่นคงที่เป็นปัญหาก่อการร้ายกับยุโรป เป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่และต้องจับตามอง
“ผมอยากตั้งประเด็นว่า ในปี 2016 จะเกิดอะไรขึ้นอีก หลังจากที่เห็นที่กรุงปารีส กรุงบรัสเซลส์ และเครือข่ายในเยอรมนีที่ถูกจับได้ โจทย์ยุโรปมันโยงเข้ากับปัญหาความมั่นคงในตะวันออกกลาง นั่นคือปัญหาสงครามการเมืองในซีเรีย เพราะปัญหาสงครามกลางเมืองในซีเรียทำให้คนพลัดถิ่นจากซีเรีย รวมถึงประเทศที่อยู่ในพื้นที่แถบนั้นที่มีเงื่อนไขสงคราม กลายเป็นวิกฤตการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนครั้งใหญ่ที่ยุโรปกำลังเผชิญ”
“เพราะฉะนั้นในสภาพโจทย์แบบนี้ มันจะมีโจทย์การก่อการร้ายในยุโรป โจทย์สงครามกลางเมืองในซีเรีย และปัญหาผู้อพยพจากปัญหาสงครามกลางเมืองในซีเรีย และพื้นที่ในตะวันออกกลาง กับแอฟริกาตอนเหนือ แล้วยังโยงกลับไปสู่โจทย์ซึ่งยังไม่หายไปไหน นั่นคือการปฏิบัติการของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ที่ยังทำอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนภาคเหนือของประเทศอิรัก และซีเรียเอง แม้ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จะมีข่าวเล็กๆ ระบุว่ากองทัพของอิรัก ได้เข้าไปยึดเมืองบางเมืองคืนจากไอเอส แต่เราก็ยังเห็นว่าสงครามยังหนักหน่วงอยู่”
นักวิชาการด้านความมั่นคง บอกอีกว่า โจทย์ปัญหาในปี 2016 ยังเป็นโจทย์เดิม ก็คือไอเอสจะขยายปฏิบัติการทางทหาร จากพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศอิรัก และซีเรีย ไปสู่ทวีปยุโรปหรือไม่ นอกจากนี้ ไอเอสอาจจะขยายปฏิบัติการทางทหารมายังพื้นที่ของทวีปเอเชียมากน้อยเพียงใด ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานการณ์ตัวแบบที่เราเห็นจากยุโรป ทำให้เราต้องเผชิญกับเหตุการณ์แบบนั้นหรือไม่
เพราะฉะนั้นมองว่าปี 2016 ถ้ามองในมิติของงานด้านความมั่นคง เราเห็นความท้าทายในโจทย์หลายอย่าง และเป็นโจทย์ที่ซับซ้อนมากกว่าเก่า ก่อนหน้านี้เราอาจจะเห็นความซับซ้อนของกลุ่มอัลกออิดะห์ แต่วันนี้เราได้เห็นความซับซ้อนมากกว่าของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส
นอกจากนี้ สิ่งที่เราคาดไม่ถึงก็คือ กรณีคำตัดสินประหารชีวิตผู้นำศาสนาคนสำคัญของชาวชีอะห์โดยรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย แม้ว่ารัฐบาลของซาอุดิอาระเบียจะพยายามบอกว่ามีทั้งชาวมุสลิมชีอะห์และสุหนี่ที่ถูกตัดสินประหาร แต่มันก็นำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน และทำท่าว่าจะเป็นโจทย์ใหญ่อีกชุดหนึ่ง ซึ่งพัวพันกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง
“ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นความกังวลก็คือ ความขัดแย้งทางศาสนา หรือสงครามที่มีมิติของศาสนาทับซ้อนอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อรวมกับสถานการณ์ความมั่นคงในปัจจุบัน หลายคนมองว่า ไอเอสเป็นตัวแทนของชาวมุสลิมสุหนี่หรือไม่ ซึ่งทำให้กรณีชาวชีอะห์และชาวสุหนี่เป็นโจทย์ร้อนอีกชุดหนึ่งในปี 2016 รวมถึงเป็นปัญหาทางด้านการทูตระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน ซึ่งวันนี้อิหร่านก็มีบทบาทมากขึ้น”
“เพราะฉะนั้น โจทย์สงครามในซีเรียที่วุ่นวายอยู่แล้ว และยัวพัวพันกับปัญหาในรัสเซีย เราก็จะเห็นว่าโจทย์ที่ทับซ้อนมันขยายวงผู้เล่นหรือตัวแสดงให้มีมากขึ้น ซึ่งมีคำถามว่าบทบาทของรัสเซียในตะวันออกกลางเป็นอย่างไร เราเริ่มเห็นบทบาทของรัสเซียอย่างหนึ่งในสงครามกลางเมืองของซีเรีย คือ รัสเซียจะขยายปฏิบัติการทางทหารเพิ่มหรือไม่ และถ้าหากรัสเซียขยายปฏิบัติการทางทหารเพิ่มขึ้น จะมีผลกระทบอย่างไร รวมไปถึงสงครามระหว่างรัฐบาลซีเรียกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลหรือกลุ่มกบฏที่ไม่อยากให้ประธานาธิบดีซีเรีย นายบาชาร์ อัล-อัสซาด ปกครองประเทศต่อไปด้วย”
เมื่อถามถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียล้วนมีความเกี่ยวพันกับวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง หากจะเสนอตัวเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยจะยากขึ้นหรือไม่ ประเด็นนี้ ศ.ดร.สุรชาติ วิเคราะห์ว่า ปัญหาสงครามกลางเมืองในซีเรีย มีคนสงสัยว่าสรุปแล้วใครคือศัตรูหลักกันแน่ จะถือว่าประธานาธิบดีซีเรียเป็นศัตรูหลัก หรือกลุ่มไอเอสเป็นศัตรูหลัก แต่หากดูแนวโน้มที่ผ่านมาจากปี 2015 มองว่ากลุ่มไอเอสเป็นแค่ศัตรูรอง
“ถ้ามองในแง่บวกก็อาจมีความหวังเล็กๆ ว่า หลังจากที่รัสเซียเผชิญกับปัญหาก่อการร้าย เป็นไปได้ไหมว่าสหรัฐอเมริกากับรัสเซียอาจจะต้องนั่งคุยกันอย่างจริงจัง และทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง แต่หากทั้งสองฝ่ายยังสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ ถ้ายังเป็นเช่นนี้ สงครามกลางเมืองในซีเรียในปี 2016 อาจจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจะมีคำถามว่าการปฏิบัติการของไอเอสจะเป็นอย่างไร หากสงครามกลางเมืองในซีเรียขยายตัว ทวีปยุโรปก็จะเผชิญกับปัญหาคนอพยพมากขึ้น”
“โจทย์ชุดนี้เป็นความซับซ้อนที่พันกันไปพันกันมา และยังพัวพันไปถึงการเมืองของสหรัฐอเมริกา เพราะการเลือกตั้งในปีนี้ของสหรัฐฯ เราจะเห็นคนที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานธิบดีแทนนายบารัค โอบามา ซึ่งมีแนวโน้มตั้งแต่ต้นปีว่า คนที่มีคะแนนนำคือบุคคลที่หลายคนตกใจ ก็คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งหากพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง นโยบายชุดใหม่ของสหรัฐอเมริกาจะเป็นอย่างไร”
“แต่หากเป็นพรรคเดโมแครต ที่มี นางฮิลลารี่ คลินตัน ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ พรรคเดโมแครตจะดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง สืบเนื่องเหมือนยุคของนายบารัค โอบามาหรือไม่ ซึ่งโจทย์นี้ก็จะพัวพันกับการเมืองในเอเชียอีกส่วนหนึ่ง คือ กรณีความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน รวมถึงความขัดแย้งในทะเลจีนใต้”
ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวด้วยว่า มุมมองจากคนที่ทำงานด้านความมั่นคง จะเห็นได้ว่าในปี 2016 จะมีโจทย์ที่พันกันไปพันกันมา มองว่าจะเป็นปีที่มีปัญหาน่ากลัว โดยเฉพาะการขยายตัวของกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส ทั้งในยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข (ภาพโดย อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์)
หมายเหตุ : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26