ฎีการะบบอนุญาตในคดีแพ่ง ก้าวใหม่สู่สากล
เดิมทีเดียวภายใต้การฎีการะบบสิทธิ คู่ความในคดีมีสิทธิฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทำให้มีคดีขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาเป็นจำนวนมาก และถึงแม้จะมีการกลั่นกรองคดีที่จะขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา โดยกฎหมายได้กำหนดข้อห้ามในการฎีกา และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาไว้พิจารณาพิพากษา พ.ศ. 2551 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการไม่รับคดีที่ไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาของศาลฎีกาไว้ก็ตาม แต่ก็ยังคงมีคดีที่ไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยของศาลฎีกาขึ้นสู่ศาลฎีกาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 กำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาว่าคดีที่ได้ยื่นฎีกาเรื่องใดสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาจากระบบสิทธิมาเป็นระบบอนุญาตในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของประเทศไทย และหากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุด
การฎีการะบบอนุญาตนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี ประเทศอังกฤษ ประเทศอิตาลี ประเทศเบลเยียม และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยองค์คณะของผู้พิพากษาศาลฎีกาของแต่ละประเทศเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อกลั่นกรองคดีที่สมควรจะขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาเกินสมควรและเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความในคดีได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรม
ภายใต้หลักเกณฑ์ของการฎีการะบบอนุญาตในคดีแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว มาตรา 247 กำหนดให้การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีแพ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา โดยการขออนุญาตฎีกาให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น มาตรา 248 กำหนดให้องค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วยรองประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกอย่างน้อยสามคนเป็นผู้พิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกา และมาตรา 249 กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อเห็นว่าปัญหาที่ฎีกาเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย โดยปัญหาสำคัญนี้ได้แก่
(1) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
(3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน
(4) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น
(5) เพื่อเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย
(6) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
การเปลี่ยนแปลงระบบการฎีกามาเป็นระบบอนุญาตในคดีแพ่งเป็นผลให้มีการยกเลิกหลักเกณฑ์เรื่องราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับการยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย เนื่องจากมีระบบการกลั่นกรองคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยการพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาขององค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแล้ว
สำหรับการฎีกาในคดีอาญายังคงเป็นไปตามระบบสิทธิตามหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยไม่ต้องมีการยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาพร้อมคำฟ้องฎีกา เหมือนในคดีแพ่งแต่อย่างใด
ด้วยผู้เขียนเป็นอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของวิธีพิจารณาความแพ่งสากล ในคณะกรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้ร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 ในชั้นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนระบบฎีกาในคดีแพ่งเป็นระบบอนุญาตอีก 8 ฉบับดังที่จะได้กล่าวต่อไป และทำให้ทราบถึงที่มาของการบัญญัติให้ปัญหาใดเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ว่า ได้นำหลักเกณฑ์บางส่วนมาจากพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 52 เดิม ซึ่งปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว ที่กำหนดให้ศาลฎีกาอาจพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อเห็นว่าปัญหาที่ฎีกานั้นเป็นปัญหา ซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ข้อ 40 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในคดีผู้บริโภค อันเป็นการนำเอาการฎีการะบบอนุญาตมาใช้ในการพิจารณาคดีผู้บริโภคก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับนี้ แต่มีผลบังคับใช้เฉพาะในกระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคเท่านั้นไม่มีผลบังคับใช้ไปถึงคดีแพ่งอื่น ๆ ด้วย และได้ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการนำเอาการฎีการะบบอนุญาตมาใช้ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) นี้ด้วย รวมทั้งยังได้นำหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาของศาลฎีกาเยอรมัน ซึ่งมีข้อหนึ่ง ที่กำหนดให้ศาลฎีกาเยอรมันอนุญาตให้ฎีกาได้หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนากฎหมาย มาใช้เป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมายในส่วนที่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยด้วย ทั้งนี้ เพื่อสร้างเอกภาพในการวินิจฉัยคดีของศาลและให้สอดคล้องกับแนวทางของต่างประเทศ
อนึ่ง ได้มีการประกาศบังคับใช้ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกา ในคดีแพ่ง พ.ศ. 2558 แล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการยื่นและการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขออนุญาตฎีกา และกำหนดปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง (6) ว่าได้แก่ปัญหาใดบ้าง
นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขใหม่ มาตรา 251 ยังได้นำหลักการของระบบศาลสองชั้นมาใช้สำหรับคดีที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาที่มีแต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกามีอำนาจทำคำวินิจฉัยในปัญหา ข้อกฎหมายนั้นและยกคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลชั้นต้น แล้วมีคำสั่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลชั้นต้นแล้วแต่กรณี ทำคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ภายใต้กรอบคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้ โดยหลักการของระบบศาลสองชั้นเป็นหลักการที่ใช้ในระบบศาลของหลายประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และเบลเยียม ซึ่งศาลฎีกาจะวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายไม่วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงและจะไม่มี คำพิพากษาชี้ขาดคดีด้วยตนเอง ศาลฎีกาในระบบศาลสองชั้นมีอำนาจเพียงยกอุทธรณ์หรือยกคำพิพากษาของศาลล่าง และเนื่องจากศาลฎีกาในระบบศาลสองชั้นไม่มีอำนาจทำคำพิพากษาคดีใหม่ จึงไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลล่าง ในกรณีที่มีการยกคำพิพากษาของศาลล่าง ศาลฎีกาจะส่งสำนวนคดีกลับมาให้ศาลล่างพิพากษาคดีใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วศาลล่างต้องพิพากษาคดีตามแนวทางที่ศาลฎีกากำหนดไว้ (ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเคยนำเอาหลักการของระบบศาลสองชั้นมาใช้ในคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 54 เดิม ซึ่งปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว) สำหรับประเทศไทยนั้นหากไม่ใช่กรณีของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 251 ดังกล่าวแล้ว ศาลไทยใช้ระบบศาลสามชั้น คือ ศาลฎีกาจะเป็นศาลที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีและมีคำพิพากษาคดีด้วยตนเอง และมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลล่างได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการวางกรอบการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา แล้วมีคำสั่งให้ศาลล่างพิพากษาหรือสั่งคดีใหม่ให้เป็นไปตามแนวทางที่ศาลฎีกากำหนดไว้
การเปลี่ยนแปลงระบบฎีกาในคดีแพ่งจากระบบสิทธิมาเป็นระบบอนุญาตตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 ดังกล่าวนับเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย โดยส่งผลให้ต้องมีการตราและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวม 8 ฉบับ ด้วยกัน โดยกฎหมายทั้ง 8 ฉบับ มีผลใช้บังคับพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2558 ดังนี้
การแก้ไขการฎีกาในคดีแพ่งเป็นระบบอนุญาตส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขการฎีกาในศาลชำนัญพิเศษ ได้แก่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลคดีภาษีอากร ศาลคดีแรงงาน และศาลคดีล้มละลาย ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชำนัญพิเศษดังกล่าว ให้อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาโดยไม่ต้องผ่านศาลอุทธรณ์ อันเป็นการนำอุทธรณ์แบบกบกระโดด (leap frog) ของประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Common Law มาใช้ โดยได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีของศาลชำนัญพิเศษทั้ง 4 ศาลดังกล่าวในเรื่องการอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 โดยกำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชำนัญพิเศษทั้ง 4 ศาล ต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ. 2558 โดยให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม อันเป็นการยกเลิกการอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาในศาลชำนัญพิเศษดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาของศาลชำนัญพิเศษทั้ง 4 ศาล ให้สอดคล้องเป็นระบบเดียวกันกับหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และหากยังคงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์โดยตรงไปยังศาลฎีกา และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาในเรื่องคดีแพ่ง ก็จะทำให้คู่ความในคดีไม่มีโอกาสได้รับการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจากศาลลำดับชั้นที่สูงกว่าเลย การแก้ไขหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาในศาลชำนัญพิเศษดังกล่าวจึงเป็นการคุ้มครองสิทธิของคู่ความในการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาล โดยให้คู่ความมีสิทธิได้รับการตรวจสอบคำพิพากษาของศาลล่างจากศาลลำดับชั้นที่สูงกว่าอย่างน้อยชั้นหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีของศาลชำนัญพิเศษทั้ง 4 ศาลที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และบทบัญญัติเรื่องอื่น ๆ เพื่อความสมบูรณ์ของกฎหมายด้วย
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องมีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เนื่องจากคดีชำนัญพิเศษของทั้ง 4 ศาลดังกล่าวที่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ หากศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่เป็นเรื่องคดีแพ่ง ย่อมทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นต้องถึงที่สุด ในศาลอุทธรณ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้นเป็นศาลชั้นอุทธรณ์ โดยให้มี 5 แผนก ประกอบด้วย แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ แผนกคดีภาษีอากร แผนกคดีแรงงาน แผนกคดีล้มละลาย และแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีชำนัญพิเศษในชั้นอุทธรณ์กระทำโดยผู้พิพากษาที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญพิเศษในแต่ละด้าน ซึ่งจะทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม คดีที่ศาลชำนัญพิเศษ คือ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลคดีภาษีอากร ศาลคดีแรงงาน และศาลคดีล้มละลาย มีคำพิพากษาหรือคำสั่งก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ นั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีของศาลชำนัญพิเศษทั้ง 4 ศาล ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว กำหนดให้ยังคงนำกฎหมายเดิมมาใช้บังคับ คือ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา และให้นำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีของศาลชำนัญพิเศษฉบับเดิมของแต่ละศาล คือ ฉบับซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมในปัจจุบัน มาใช้บังคับกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกา นอกจากนี้ คดีชำนัญพิเศษที่มีการอุทธรณ์และยังค้างพิจารณาอยู่ในศาลฎีกาก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีของศาลชำนัญพิเศษฉบับเดิมของแต่ละศาล มาใช้บังคับในการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ส่วนศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะเปิดทำการเมื่อใดนั้น เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
นอกจากนี้ ในส่วนของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 มีการแก้ไขเพิ่มเติมการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค โดยยกเลิกบทบัญญัติเดิมและให้นำเอาบทบัญญัติเรื่องการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาบังคับใช้โดยอนุโลม เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรื่องการฎีการะบบอนุญาต และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ได้มีการกำหนดคำนิยามของศาลชั้นอุทธรณ์ให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องอื่น ๆ เพื่อความสมบูรณ์ของกฎหมายและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคดีของศาลยุติธรรม
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงการฎีกาในคดีแพ่งเป็นระบบอนุญาตจึงเป็นย่างก้าวประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญยิ่งในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการฎีกาของประเทศต่าง ๆ ที่พัฒนาแล้ว ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องการอุทธรณ์และฎีกาของศาลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดองค์กรของศาลครั้งใหญ่ด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งประโยชน์ที่จะได้ย่อมตกอยู่แก่ประเทศชาติและประชาชนโดยตรง
ภาพประกอบจาก lawyer-kidnew.blogspot.com