'บัณฑูร' ชี้ รบ.เปิดทุกก๊อก-ทุกมาตรการ แก้วิกฤตศก. ยังไร้ผล
‘บัณฑูร ล่ำซำ’ ระบุเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย สินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะจีนดึงทุกประเทศลงหมด ชี้แม้รัฐบาลพยายามแก้ปัญหา ใช้ทุกมาตรการ ยังไม่ได้ผล แนะภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญ
วันที่ 14 มกราคม 2559 ที่โรงแรมเทวราช จ.น่าน นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ เศรษฐกิจการเงินการธนาคารกสิกรไทย โดยตอนหนึ่ง ยกตัวอย่างโจทย์รักษ์ป่าน่าน ว่าเป็นภาพสะท้อนของการจัดการเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เพราะปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา สูงถึงร้อยละ 25 ถือเป็นความล้มเหลวการจัดการทำมาหากินของประชาชน เมื่อประชาชนไม่มีทางเลือกทำมาหากิน จึงตัดไม้ทำลายป่า ประกอบกับที่ผ่านมาถูกละเลยจากฝ่ายบริหารของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในสมัยใด
นายบัณฑูร กล่าวว่าการที่ประชาชนไม่มีอาชีพ เปรียบได้กับภาพสะท้อนโจทย์ใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย ซึ่งเราทำผิดมาตลอด ตอนนี้ "ฝีแตก" ก็ต้องแก้ไข ถ้าไม่แก้ไข อุตสาหกรรมการประมงจะได้รับผลกระทบ แล้วเศรษฐกิจไทยจะเจอวิกฤติกว่าที่เป็นอยู่
ผู้บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย กล่าวถึงมาตรฐานการบินไทยเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รัฐบาลละเลยมาตลอด ทั้งที่มีกติกาอยู่แล้ว แต่ไม่เคยปฎิบัติ เพราะสนุกกับการมีอำนาจ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันต้องแก้ไขปัญหาเดิมและปัญหาใหม่
"ภาวะเศรษฐกิจโลกก็มีความถดถอย มีไม่กี่ประเทศที่ฟ้าใส ที่เหลือฟ้ามืด โดยเฉพาะจีน ดึงทุกคนลงหมด แต่เป็นภาวะชั่วคราว" นายบัณฑูร กล่าว และว่า สำหรับไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยใช้ทุกมาตรการ ทั้งจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน พร้อมกับปรับโครงสร้างการทำมาหากินด้วย เพราะคนระดับล่างไม่สามารถทำมาหากินพอกินได้ ราคายางพาราตก ราคาข้าวโพดตก สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ทั่วโลกราคาตกทั้งหมด คนจำนวนมากไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างพอมีพอกินได้ เพราะความรู้หรืออาชีพต่อสู้กับต้นทุนไม่ได้ แม้รัฐบาลปัจจุบันจะปาดซ้ายปาดขวา เปิดทุกก๊อก ใช้ทุกมาตรการ แต่ก็ไม่ได้ดั่งใจ
นายบัณฑูร กล่าวด้วยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นระบบเงินทองของประเทศ ถ้าไม่ปล่อยเลยก็จะไม่งอกเงย แต่ถ้าปล่อยมาก ก็จะล้มเหลวไปด้วย การปล่อยสินเชื่อจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฉะนั้นต้องใช้เงินฝากของประชาชนอย่างมีความหมาย เพื่อนำไปสู่การกระตุ้น มิฉะนั้นระบบเงินออมของประเทศจะเสียหายหมด จึงถือเป็นความท้าทายของธนาคารพาณิชย์และภาครัฐที่จะร่วมมือกัน โดยยึดผลประโยชน์โดยรวมของประเทศเป็นตัวตั้ง