เดชอุดม ไกรฤทธิ์ แนะภาคีรับทุนสสส.อย่ารับสมอ้างกรมสรรพากร
“วันนี้ผมต้องบอกก่อนว่าทุกหน่วยงานอย่าเพิ่งไปรับสมอ้างที่ทางกรมสรรพากรตีความ โดยลักษณะการดำเนินการรวบรัดตีความว่าเป็นการจ้างทำของ จริงๆในหลักวิชาการของภาษีนั้นต้องดูทั้งหมด ไม่ใช่อยู่ดีๆก็มาตีความง่ายๆ ต้องดูองค์กร วัตถุประสงค์แต่ละโครงการ ไม่เช่นนั้นงบประมาณทั้งหมดของสสส.ต้องคืนแผ่นดินเพราะกิจกรรมต่างๆไม่มีใครมาทำ”
หลังจากที่กรมสรรพากรออกมาไล่เบี้ยเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปี กับหน่วยงานและองค์กรภาคีต่างๆที่ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) หลังตีความว่า การดำเนินโครงการของแต่ละองค์กรที่รับทุนนั้นเป็นการ “จ้างทำของ”
ขณะที่ผ่านมาทางภาคีเครือข่ายก็ชี้แจงว่า องค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมปฏิบัติงานกับสสส.นั้นไม่ได้สัมพันธ์กับสสส.ในฐานะ“ผู้รับจ้างทำของ”แต่เป็น“ผู้ดำเนินงานแทนสสส.” โดยในความตกลงของสสส.กับภาคีนั้นจะมีการลงนามในความตกลงที่เรียกว่า"ข้อตกลงการปฏิบัติงาน"ไม่ใช่“สัญญารับจ้างทำของ”ก็ตาม
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้อธิบายถึงกรณีดังกล่าวว่า การที่กรมสรรพากรตีความว่า การดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคมเป็นการจ้างทำของนั้น สะท้อนมาจากกระแสเรื่องการทุจริต และการใช้เงินงบประมาณไม่ถูกวัตถุประสงค์ จึงรีบตีความตามคำสั่ง ซึ่งเท่าที่ตัวเองทราบคือสสส.ไม่ใช่องค์การค้ากำไรและดำเนินกิจกรรมด้วยการให้องค์กรภาคประชาชนมาช่วย
ดังนั้น การจะตีความว่าการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าวเป็นการจ้างทำของหรือไม่นั้น จะต้องดูโครงสร้างงบประมาณของสสส. ว่าเป็นลักษณะการจ้างทำของตามที่กรมสรรพากรกล่าวอ้างหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นายกสภาทนายความ ระบุว่า การเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปี จากองค์กรมูลนิธิต่างๆ ที่รับทุนจากสสส. รวมถึงให้มีการติดอากรแสตมป์ หรือสั่งให้ไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม หากกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นหมายความว่า คุณถูกปิดปากแล้ว แปลว่า โดนสรรพากรปิดปากเรียบร้อยว่าตัวบุคคลหรือองค์กรมูลนิธิต่างๆรับการประเมินภาษีว่าเป็นผู้จ้างทำของจริง และไม่ต้องไปเถียงกับสรรพากรแล้ว ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรหรือมูลนิธิต่างๆจะต้องรีบปรึกษาสภาทนายความตั้งแต่ต้น แต่ก็พอเข้าใจได้ว่า องค์กรที่ได้รับใบบันทึกจากสรรพากรอาจจะมีความกังวล และกลัว แต่อยากให้เข้าใจว่า การจัดเก็บภาษีทั่วโลกเหมือนกันหมดนั่นคือ ‘ขู่’
“สิ่งที่ควรต้องทำคือจะต้องบอกว่า ขอดูก่อนได้ไหม ขอดูสถานะของมูลนิธิ วัตถุประสงค์องค์กร ว่า เป็นการจ้างทำของหรือเป็นเพียงหน่วยงานย่อยที่สสส.มอบหมายงานให้แล้วทำส่ง เป็นเฉพาะลูกจ้างชั่วคราว ที่เงินได้ถูกหัก ไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียน และสสส.ทำรายงานสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือรัฐสภา เป็นงานของใคร ทุกอย่างต้องดูหมดถึงจะตัดสินได้ว่า เป็นการจ้างทำของหรือไม่”
นายเดชอุดม กล่าวด้วยว่า คณะบุคคลหรือองค์กรที่ทำงานให้กับสสส.นั้นได้รับค่าจ้างแรงงานเป็นการทำงานส่งสสส. และหากไม่ส่งงานถือว่ามีความผิด คู่สัญญาที่ทำด้วยก็เป็นหน่วยงานของรัฐที่สร้างความสุข สร้างสวัสดิภาพให้สังคม เขาไม่สามารถดำเนินทุกกิจกรรมได้ ทำเองไม่ไหว เลยจ้างบุคคลทำแทน เมื่อทำแทนก็ได้ค่าจ้าง แต่ไม่ได้รับเงินทั้งจำนวนมา ข้อเท็จจริงปรากฏเช่นนี้ เมื่อทำงานแทนสสส.ทุกคนก็ต้องส่งงาน เรียกว่าทำงานในสังกัดของสสส. ดังนั้นจะต้องนำมาตีความก่อนว่าอยู่ในประมวลรัษฎากรมาตรา40(2) หรือ 40(5)
“วันนี้ผมต้องบอกก่อนว่าทุกหน่วยงานอย่าเพิ่งไปรับสมอ้างที่ทางกรมสรรพากรตีความ โดยลักษณะการดำเนินการรวบรัดตีความว่าเป็นการจ้างทำของ จริงๆในหลักวิชาการของภาษีนั้นต้องดูทั้งหมด ไม่ใช่อยู่ดีๆก็มาตีความง่ายๆ ต้องดูองค์กร วัตถุประสงค์แต่ละโครงการ ไม่เช่นนั้นงบประมาณทั้งหมดของสสส.ต้องคืนแผ่นดินเพราะกิจกรรมต่างๆไม่มีใครมาทำ”
นายกสภาทนายความฯ กล่าวถึงหลักการพื้นฐานคือทำงานก็ต้องได้ค่าจ้าง การจะวินิจฉัยโดยเอาทั้งก้อนมาตีความนั้น จะต้องดูลงไปในรายละเอียดให้ชัดเจน ว่ารับเงินมาดำเนินโครงการแล้วมีการส่งงานหรือไม่ ใช่อยู่ดีๆ ก็กล่าวอ้างว่า เป็นการจ้างทำของ และต้องไม่ลืมว่า ภาษีทุกฐานเป็นภาษีอากรประเมิน กรมสรรพากรประเมินมาได้ แต่เราจะรับหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากเรารีบประเมินแล้วรับไปตามที่เขาประเมินมา แบบนี้เรียกว่าผิด
“ในความเห็นผมจึงอยากให้ตอนนี้ทุกองค์กรกลับมาดูใหม่ ไม่ต้องตระหนก ธุรกรรมที่เคยทำมากับสสส. ค่อยๆเอาออกมาดู รัฐบาลคงไม่ใจไม้ไส้ระกำ อย่าเพิ่งกระโดดเป็นผู้รับจ้าง เอาสัญญาทุกอย่าง และบทบาทหน้าที่ของตัวเองมาดูรายละเอียดให้ชัด ที่เขารีบประเมิน หรือรีบตีความว่าจ้างทำของนั้นเป็นกระแสช่วงแรกๆ น้ำท่วมมาอยากให้ทุกคนใจเย็นๆ”
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์sanook.com