ร่าง รธน.ฉบับมีชัย รัฐ"ยึดคืน"คลื่นความถี่จากทรัพยากรของชาติ?
"...ครูของผมคนหนึ่งที่ร่วมงานกันมาเกือบตลอดปี 2558 เคยพูดเปรียบเทียบไว้ว่า 'อันว่าสิทธินั้น เมื่อรัฐให้ประชาชนแล้ว จะเอาคืนมิได้' จึงปรากฎเป็นความจริงว่ารัฐธรรมนูญหมวดสิทธิของฉบับที่ออกมาภายหลังจึงอย่างน้อยไม่ทำให้สิทธิของประชาชนลดลงกว่าฉบับก่อน.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2559 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn แสดงความเห็นเกี่ยวกับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
-------------
ตอนนี้เริ่มมีร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเผยแพร่ออกมาบ้าง เห็นการโยกมาตราที่เกี่ยวด้วยคลื่นความถี่จากหมวด 'สิทธิเสรีภาพของประชาชน' ไปอยู่หมวด 'แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ' แล้วไม่สู้สบายใจนัก ยิ่งเมื่อได้อ่านเนื้อหาใหม่แล้วยิ่งต้องถอนใจเฮือกใหญ่ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในอย่างน้อย 2 ประเด็นไปจากเดิม
ทวนความนิดนะครับว่าหลักการเดิมคือ...
1. คลื่นความถี่ฯเป็น 'ทรัพยากรสื่อสารของขาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ'
2. ให้มีองค์กรของรัฐ '...ที่เป็นอิสระ' ทำหน้าที่จัดสรรฯและกำกับ
หลักการทั้งสองเป็นหลักการที่ยืนหยัดอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2540 (มาตรา 40) และรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 47)
หลักการทั้งสองเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการต่อสู้เดือนพฤษภาคม 2535 ที่เกิดการปิดกั้นข่าวสาร จึงเกิดกระแสรณรงค์ให้เกิดสื่อเสรี กระทั่งเปลี่ยนหลักการสำคัญว่าคลื่นความถี่ไม่ใช่ของรัฐ แต่เป็นของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของผมคือ หลักการใดก็ตามที่ถูกบัญญัติไว้ในหมวด 'สิทธิ' แปลว่าเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับแล้ว หลักการนั้นจะเป็นผลเต็มร้อยทันที รัฐมีหน้าที่ต้องกระทำต้องจัดให้ ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและสิทธิทางศาลทันที ต่างกับหมวด 'แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ' ที่เป็นกรอบให้รัฐออกนโยบายปฏิบัติ แต่รัฐจะทำเมื่อไร แค่ไหน อย่างไร ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
ร่างฯฉบับใหม่นอกจากย้ายออกจากหมวด 'สิทธิ' แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่น่าจะกระทบหลักการที่เป็นสาระพื้นฐานทั้ง 2 ประการ
1. เปลี่ยนสถานะของคลื่นความถี่จาก 'ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ' เป็น 'ทรัพยากรของรัฐ'
2. เปลี่ยนองค์กรกำกับฯจากองค์กร 'อิสระ' เป็นองค์กร 'ที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่'
ครูของผมคนหนึ่งที่ร่วมงานกันมาเกือบตลอดปี 2558 เคยพูดเปรียบเทียบไว้ว่า 'อันว่าสิทธินั้น เมื่อรัฐให้ประชาชนแล้ว จะเอาคืนมิได้' จึงปรากฎเป็นความจริงว่ารัฐธรรมนูญหมวดสิทธิของฉบับที่ออกมาภายหลังจึงอย่างน้อยไม่ทำให้สิทธิของประชาชนลดลงกว่าฉบับก่อน
แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จากความรู้อันไม่มากนักของผม อย่างน้อยเฉพาะมาตราว่าด้วยคลื่นความถี่นี้ หาได้เป็นเช่นนั้นไม่
เรื่องย้ายที่ออกจากหมวด 'สิทธิ' นี้ฟังอย่างไม่เป็นทางการจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางคนที่เคารพนับถือกัน ท่านชี้แจงว่าเป็นวิธีการเขียนที่แตกต่างออกไป ประชาชนมีสิทธิทุกอย่างเท่าที่รัฐธรรมนูญไม่เขียนจำกัดไว้
ผมยังไม่ค่อยเข้าใจเต็มที่นัก แต่ก็เปิดใจรับฟัง
และได้ถามกลับไปว่า ไม่ว่าจะเขียนอย่างไรก็ตาม ไว้หมวดไหนก็ตาม แต่ผลลัพธ์ในที่สุดสารัตถะเรื่องคลื่นความถี่จะยังคงเหมือนเดิมไม่ลดลงกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2540 หรือไม่
ผมถาม เพราะถ้อยคำเปลี่ยนแปลงไป และเป็นถ้อยคำที่น่าจะกระทบหลักการ
และยังเสมือนไปสอดคล้องกับภาพรวมของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล 10 ฉบับที่เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นปีที่แล้ว
รวมทั้งร่างกฎหมายกสทช.ฉบับใหม่ที่สารัตถะลดความเป็นองค์กรอิสระของกสทช.ลง โดยเสมือนให้อยู่ในกำกับของคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอล (ชื่อทำนองนี้) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
พูดง่าย ๆ ว่าเสมือนนำคลื่นความถี่และการจัดสรรรวมทั้งการกำกับกลับไปอยู่ในมือของรัฐอย่างเนียน ๆ
หวังว่าผมคงเข้าใจผิด
เคารพและเชื่อมั่นในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าจะสามารถชี้แจงให้กระจ่างได้ และยังสามารถปรับแก้ได้อีก
__________
หมายเหตุ : ความเห็นนี้เป็นความเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น ไม่ใช่ในฐานะตำแหน่งใด ๆ ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
(ภาพประกอบจาก Google)