จับเข่าคุย 'วิษณุ เครืองาม' ผ่าปมร้อนตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20
"..นายกฯยืนยันว่าถ้ายังทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน รัฐบาลจะไม่นำสิ่งซึ่งเป็นความขัดแย้งขึ้นกราบบังคมทูล เพราะเกิดฝ่าฟันทุกอย่างแล้วกราบบังคมทูลคนที่ขัดแย้งตามไปคัดค้านที่สำนักราชเลขาธิการก็ต้องส่งเรื่องกลับมา.."
หากพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์วงการสงฆ์เมืองไทย "ฆราวาส" ที่มักปรากฎตัวเข้าไปช่วย "จัดการ-จัดแจง" การแต่งตั้ง "สมเด็จพระสังฆราช" มากที่สุดคนหนึ่ง
คงหนีไม่พ้น "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี
แถม "วิษณุ" ยังเป็นผู้รู้ประวัติศาสตร์ "สงฆ์" ที่สามารถนำมาเป็นบทเรียน เพื่อขจัดความขัดแย้ง สมานรอยร้าว ในฐานะคนกลางได้หลายครั้ง
ที่สำคัญ "วิษณุ" คือ มือร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2544
เมื่อมีกลุ่มต่อต้าน "มหาเถรสมาคม" ไม่ให้ส่งชื่อ "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" (ช่วง วรปุญโญ) วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ แต่งตั้งขึ้นเป็น "สมเด็จพระสังฆราช"
ด้วยเหตุผลนานาประการ คนที่จะอธิบายปรากฎการณ์นี้ได้ดีที่สุด คือ "วิษณุ"
"วิษณุ" เปิดฉากเล่าให้ ทีมข่าวการเมืองพิเศษ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ฟังว่า ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไม่มีการแย่งชิง
แต่ที่มีปัญหากันเพราะ "ลูกศิษย์" ที่อยากให้ "อาจารย์" ได้ดี
"สมัยโบราณเขาจึงเรียกยศช้างขุนนางพระ ช้างก็เป็นพระยาได้ ขุนนางพระคือพระ แต่เอายศไปใส่ให้ บางองค์ท่านก็อาจจะตื่นเต้นที่ทำแล้วคนเห็นผลงาน"
โดยการแต่งตั้ง "สมเด็จพระสังฆราช" องค์ใหม่จะต้องยึดตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งเขียนล็อคสเปคไว้แล้วว่า จะต้องเป็นพระราชาคณะที่มีสมณศักดิ์สูงสุด
โดย "มหาเถรสมาคม" จะส่งชื่อให้ "นายกรัฐมนตรี" นำความขึ้นทูลเกล้า ซึ่งมีกระแสข่าวว่าที่ประชุม "มหาเถรสมาคม" ได้ประชุมลับมีมติส่งชื่อ "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไปแล้ว
"มหาเถรสมาคมจะประชุมลับหรือไม่ประชุมลับ มันไม่ได้มีอะไรแตกต่าง ถ้าถือว่าเป็นประชุมรับรองมติถูกต้องแล้วก็เสนอมาได้ มันมีอะไรที่ต้องไปหักไปโค่นว่ามันไม่ถูก"
ทว่า "วิษณุ" ยืนยันว่า "มหาเถรสมาคม" ยังไม่ส่งชื่อ "สมเด็จพระสังฆราช" องค์ใหม่มายังรัฐบาล และหากเสนอชื่อมาต้องไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ทุกอย่างต้องนิ่งก่อนส่งชื่อ
"นายกฯยืนยันว่าถ้ายังทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน รัฐบาลจะไม่นำสิ่งซึ่งเป็นความขัดแย้ง ขึ้นกราบบังคมทูล เพราะเกิดฝ่าฟันทุกอย่างแล้วกราบบังคมทูล คนที่ขัดแย้งตามไปคัดค้านที่สำนักราชเลขาธิการก็ต้องส่งเรื่องกลับมา"
"วิษณุ" ท้าวความสมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า เคยส่งชื่อระดับปลัด-อธิบดี ขึ้นทูลเกล้า แต่มีคนไปยื่นคัดค้านที่ "สำนักราชเลขาธิการ" หลายรายทำให้ "สำนักราชเลขาธิการ" ส่งชื่อกลับมาให้ตรวจสอบ
"เมื่อโดนทักท้วงก็ต้องตรวจสอบ บางรายก็ยื่นยันชื่อเดิม บางรายก็ถอนชื่อกลับ มันจึงมีได้หลายอย่าง เรื่องนี้ต้องระวังกว่าเรื่องอื่นเยอะ เพราะถ้ากรณีนี้เป็นแบบอย่าง ผมกลัวอย่างอื่นที่สำคัญกว่านี้ รัฐบาลได้เปรียบตรงที่หากได้รับชื่อมาแล้ว ก็ไม่มีกรอบเวลาให้รีบนำขึ้นทูลเกล้า"
"วิษณุ" ย้อนอดีตการแต่งตั้ง "สมเด็จพระสังฆราช" ว่าบางช่วงเวลาแต่งตั้งไม่ได้ ตำแหน่งก็จะว่างลงนานนับสิบปี จึงต้องใช้ "รักษาการ" ไปพลางก่อน
"เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระบรมานุชิต ชิโนรส เป็นสมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง 30 กว่าปี มีแต่ผู้รักษาการ ก่อนที่จะตั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร"
"เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า สิ้นพระชนม์ ก็แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชสา วัดราชประดิษฐ์ และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชสา สิ้นพระชนม์ สมัยราชการที่ 5 พระที่อยู่ข่ายอาวุโสสูงจะต้องขึ้นคือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส แต่รัชกาลที่ 5 ก็ไม่ได้แต่งตั้ง ทิ้งไว้ 10 กว่าปี โดยให้ท่านรักษาการ จนกระทั่งรัชกาลที่ 6 จึงสถาปนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช”
แต่บริบทการคัดเลือก “สมเด็จพระสังฆราช” ครั้งนี้ “วิษณุ” ไม่ขอตอบว่าจะตั้ง “รักษาการ” ยาว หรือจะได้ “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมี “สมเด็จพระสังฆราช” มาแล้ว 19 องค์ มี “รักษาการสมเด็จพระสังฆราช” มาแล้ว 10 องค์
"ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะควรถวายขึ้นไปเมื่อไร และโปรดเกล้าฯลงมาเมื่อไร อย่าลืมว่าประเทศไทยมีผู้รักษาการสมเด็จพระสังฆราชมาแล้ว 10 คน หากเรื่องมาถึงรัฐบาลแล้ว รัฐบาลไม่สามารถทิ้งเรื่องไว้ได้ รัฐบาลต้องมีเหตุผลอธิบายต่อสาธารณชน”
นอกจากนี้ “วิษณุ” ยังตอบข้อสงสัยที่ว่าเหตุใด “สมเด็จพระสังฆราช” จึงต้องมาจากวัดในเมืองหลวงเท่านั้น
"พระที่เป็นสมเด็จปกติจะเป็นพระในกรุงเทพฯหรือฝั่งธน เพื่อเข้าพระราชพิธีได้สะดวก จะไปตั้งพระจากต่างจังหวัดก็ได้ แต่เมื่อมีพระราชพิธีแล้วมันเดินทางลำบาก ถ้าตั้งแล้วไม่มาทำพิธีจะตั้งทำไหม”
"สมัยก่อนพระสังฆราชไม่ว่าจะอยู่วัดไหน จะถูกนิมนต์มาอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเหมือนนครรัฐวาติกัน ของศาสนาคริสต์ จนกระทั่งมีธรรมยุต พระธรรมยุตจะมาอยู่วัดมหานิกายไม่ได้"
ท้ายสุด “วิษณุ” ยืนยันว่า รัฐบาล “ไม่กลัว” หากจะโดนฝั่งใดฝั่งหนึ่งกดดัน เพราะเชื่อว่ามีทางออกของปัญหาอยู่
แม้อาจจะเกิดปัญหาใหม่ตามมาก็ตาม