ได้ผล 1 ปี นโยบาย 'คืนครูสู่ห้องเรียน' ได้เวลาคืน 19 วัน
เห็นผล นโยบาย ”คืนครูสู่ห้องเรียน” ครูเฮ ได้เวลาคืนถึง 19 วัน ภายใน 1 ปี ดร.อมรวิชช์ เชื่อปี 59 จะคืนได้ถึง 50% แนะศธ.ยกเลิกวัฒนธรรมเอกสาร ปรับเกณฑ์ประเมินโรงเรียนและครู
วันที่ 13 มกราคม 2559 ที่อาคาร ไอบีเอ็ม สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดแถลงข่าว “เปิดผลสำรวจตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี” โดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. และสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า จากผลการสำรวจกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครูในปี 2558 พบว่า ครูใช้เวลากับกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การสอนถึง 65 วัน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.5 ของเวลาเรียนทั้งหมด ซึ่งลดลงจากปี 2557 ที่ครูต้องใช้เวลาถึง 84 วัน ส่งผลให้ครูได้เวลาคืนสู่ห้องเรียนมากขึ้นถึง 19 วัน
ดร.อมรวิชช์ กล่าวถึงปัจจัยที่สามารถคืนเวลาให้ครูได้ถึง 19 วัน หรือ 25 % ซึ่งมากกว่าปี 2557 นั้น เกิดจากการดำเนินนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในหลายๆ ด้าน เช่น การลดจำนวนวิชาที่ใช้สอบประเมินผู้เรียน การขอร่วมมือ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ สพฐ.ในการลดกิจกรรมประกวดแข่งขันและการอบรมครู ซึ่งคาดว่าในปี 2559 นี้ จะยิ่งเห็นผลชัดมากขึ้น และอาจคืนเวลาการสอนให้ครูได้เพิ่มขึ้นถึง 50%
ดร.อมรวิชช์ กล่าวอีกว่า นอกจากนโยบายดังกล่าวแล้วนั้น ยังมีนโยบายที่จะช่วยให้ครูไทยมีเวลากลับสู่ห้องเรียนและสร้างให้เกิดคุณภาพทั้งผู้เรียนและผู้สอนอีกหลายเรื่อง อาทิ การปรับระบบการประเมินวิทยฐานะของครูและผู้บริหารที่เน้นผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาผู้เรียนโดยไม่ผูกกับการแข่งขัน การปรับระบบการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ตลอดจนการให้ สพฐ. ลดการประเมินโรงเรียนในโครงการที่ซ้ำซ้อน
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการ สสค. กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงศธ.ต้องทำอย่างจริงจังคือการยกเลิกการประเมินโดยใช้วัฒนธรรมเอกสาร ให้กลับมาเน้นที่ผลของผู้เรียนเป็นหลัก เพราะที่ผ่านเห็นได้ว่า การประเมินต่างๆ ทำไปเพื่อตอบสนองกับองค์กรเอกชนทั้งสิ้น เป็นการทำเพื่อตัวเลขให้หน่วยงานนั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้สร้างให้เกิดผลดี หรือผลสัมฤทธิ์จริงๆ ทั้งครูและนักเรียน มิหน่ำซ้ำ ครูยังต้องใช้เวลาที่ควรเอาไปตระเตรียมสื่อการเรียนการสอน อยู่กับเด็กมานั่งทำเอกสาร
"จากผลของนโยบายคืนครูสู่ห้องเรียนทำให้ตอนนี้ครูมีเวลามากขึ้น ซึ่งตรงนี้ส่งผลดีต่อครู หลายๆ ด้าน เช่น ครูมีเวลาเตรียมสื่อการเรียนการสอนมากขึ้น"
นอกจากนี้ในเรื่องนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาเรียนรู้นั้น ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยด้วย ควรส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ของผู้เรียนนอกห้องเรียนอย่างแท้จริง และต้องเกิดผลกับเด็กทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้ นายอาคม สมพามา ตัวแทนครูสอนดี จ.ราชบุรี กล่าวว่า เวลาที่ได้คืนมากว่า 19 วัน ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่ว่าครูจะว่างมากขึ้น เพียงแต่เวลาที่ได้มานั้นจะช่วยพัฒนาศักยภาพในการะบวนการการสอนของครูได้มากขึ้น โดยมองว่า สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน คือการประเมินผลการสอบ O-NET เพราะระบบการประเมินในปัจจุบันนั้น ทำให้ในช่วงก่อนการสอบ ทางโรงเรียนต้องจัดให้มีการเข้ามาติว ซึ่งส่งผลกระทบกับชั่วโมงการเรียนของเด็ก และอีกเรื่องที่รัฐบาลต้องทำให้ได้ คือ การยกเลิกการประเมินรางวัลระดับชาติที่ครูและผู้บริหารสถานศึกษาสามารถนำไปใช้ยื่นประกอบวิทยฐานะได้ พร้อมกับมองว่า รางวัลดังกล่าวเป็นการสร้างภาระงานให้กับครู เชื่อว่าหาก ก.ค.ส.ยกเลิกการใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าว โดยเปลี่ยนมาเน้นผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนแทน เชื่อว่าจะส่งผลที่ดีให้วงการการศึกษาไทยได้แน่นอน