รัฐบาลคสช.จะทำลายภาคประชาสังคมตามรอยทักษิณหรือไม่?
“ไปหาชาวบ้าน อยู่กับเขา เรียนรู้จากเขา วางแผนกับเขา เริ่มจากสิ่งที่เขารู้ สร้างจากสิ่งที่เขามี สอนโดยชี้ให้เห็น เรียนจากการทำ ไม่ใช่เพื่ออวด แต่เพื่อเป็นแบบแผน ไม่ใช่สิ่งละอันพันละน้อย แต่เป็นระบบ ไม่ใช่ทำทีละอย่าง แต่ใช้หลักผสมผสาน ไม่ใช่ตามใจ แต่ช่วยให้เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่โอบอุ้ม แต่ช่วยสร้างพลัง”
อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2510 ได้กล่าวถึงถ้อยคำที่เป็นที่มาของงานพัฒนาชนบทของท่านว่า “ผมเสียดายที่รู้สึกว่าได้บกพร่องในการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ คือ ดูแต่ความเจริญเติบโตของส่วนรวมเป็นใหญ่ ไม่เฉลียวถึงความยุติธรรมในสังคม ข้อนี้จึงพยายามแก้ด้วยการพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง” อ.ป๋วยได้เริ่มงานพัฒนาชนบทโดยได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดของดร.วาย ซี เจนส์ เยน ที่ใช้ในการพัฒนาชนบทในฟิลิปปินส์ในการต่อสู้กับระบบคอมมิวนิสต์ โดยมีข้อความว่า
“ไปหาชาวบ้าน อยู่กับเขา เรียนรู้จากเขา วางแผนกับเขา เริ่มจากสิ่งที่เขารู้ สร้างจากสิ่งที่เขามี สอนโดยชี้ให้เห็น เรียนจากการทำ ไม่ใช่เพื่ออวด แต่เพื่อเป็นแบบแผน ไม่ใช่สิ่งละอันพันละน้อย แต่เป็นระบบ ไม่ใช่ทำทีละอย่าง แต่ใช้หลักผสมผสาน ไม่ใช่ตามใจ แต่ช่วยให้เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่โอบอุ้ม แต่ช่วยสร้างพลัง”
จุดมุ่งหมายของการพัฒนาในแนวคิดของอ.ป๋วย คือเพื่อให้เกิดสังคมที่มีสมรรถภาพ มีเสรีภาพ มีความยุติธรรม และมีความเมตตากรุณา มูลนิธิบูรณะชนบทในยุคนั้นมีส่วนในการสร้างนักพัฒนา เป็นจำนวนมาก
ในช่วงสองทศวรรษระหว่างปี 2520-2540การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจไทยได้ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเมืองกับชนบทมากขึ้นและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ทำให้เกิดองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐเกิดขึ้นจำนวนมาก เรียกสั้น ๆ ว่า NGOs (Non Governmental Organizations) เป็นองค์กรด้านสาธารณประโยชน์ทำงานโดยไม่แสวงหากำไร (Non-Profit Organization)
NGOs ที่ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงเพื่อเยียวยาความเจ็บป่วยทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากความล้มเหลวในการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังที่อ.ป๋วย ได้เคยกล่าวไว้ว่าการพัฒนาที่มุ่งหวังตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ละเลยความเป็นธรรมด้านการกระจายรายได้ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงมากขึ้น NGOsที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายได้ช่วยทำงานบริการสังคมในส่วนที่รัฐไม่ได้ทำ หรือทำได้ไม่ดี NGOsที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาชนบทโดยตรง โดยให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ยากไร้ และผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ความเจริญเข้าไปไม่ถึงเพื่อช่วยบรรเทาปัญาทางด้านสุขภาพและการทำมาหากินของชาวบ้าน
การทำงานของNGOsมีส่วนในการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการทำงานของ NGOsกับชาวบ้าน ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แต่เป็นการทำงานร่วมกันแบบพหุพาคีที่เท่าเทียมกัน ซึ่งแนวทางเช่นนี้เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ดังที่ศาสตราจารย์โรเบิร์ต พัทนั่ม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวว่า “ประชาธิปไตยที่จะได้ผลนั้นต้องเป็น 'ประชาธิปไตยแนวราบ'ไม่ใช่ประชาธิปไตยแนวดิ่ง”
สอดคล้องกับคำกล่าวของโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการใหญ่UN ที่ว่า "กลุ่มประชาสังคม (Civil Society Groups) ได้ปรากฏชัดบนสังคมโลก เนื่องจาก การเคลื่อนไหวขององค์การพัฒนาเอกชน(NGOs) ได้ก่อให้เกิดกระแสโลกที่สำคัญอีกกระแสหนึ่ง คือกระแส ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือประชาธิปไตยทางตรงเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในยุคของโลกไร้พรมแดน โลกยุคเทคโนโลยีข่าวสาร ที่ข้อมูลข่าวสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว และสภาวะที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนล้มเหลว ไม่สามารถสะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง การเมืองภาคประชาชน การเมืองของคนธรรมดาสามัญ ที่ไม่ใช่การเมืองของชนชั้นนำหรือนักการเมืองอาชีพจึงเกิดขึ้น ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจึงเป็นเนื้อหาสาระของ ประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้รัฐ ผู้บริหารปกครองประเทศมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ (accountability) ต่อประชาชนของตน"
จากพัฒนาการในการดำเนินงานของNGOsไทยในทศวรรษที่ 2520 มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการยอมรับสิทธิของประชาชนและชุมชน ดังที่มีการกำหนดสิทธิของชุมชนไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ว่า “รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง และรัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน"
ศัพท์ใหม่ซึ่งเกิดขึ้นคือ “ภาคประชาสังคม” หรือสังคมของพลเมือง (Civil Society) ซึ่งมีองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เป็นส่วนหนึ่งในภาคประชาสังคม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2540-2544) มีการเริ่มต้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างแผน และขานรับแนวคิด “ประชาสังคม” ซึ่งเหมาะกับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมของสมาชิกในสังคมที่มองเห็นวิกฤติการณ์ และมีวัตถุประสงค์ในการรวมตัวเพื่อแก้ไขปัญหานั้นร่วมกัน
ภาคประชาสังคมเป็นกลไกเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของสังคมฐานรากในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในโลกยุคใหม่ แม้แต่องค์การสหประชาชาติก็เห็นประโยชน์ของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกับการขยายอิทธิพลของระบบตลาด ส่วนธนาคารโลกก็มีการสนับสนุนทุนให้ภาคประชาสังคมเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลที่ธนาคารโลกให้เงินกู้
กองทุนสสส. เป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนการทำงานของNGOsและภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวางด้วยนิยาม “สุขภาพ” ที่มีความก้าวหน้าขององค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติที่ให้นิยามว่า สุขภาพ คือ “สุขภาวะทั้งด้าน กาย จิต สังคม สิ่งแวดล้อม และปัญญา(รวมทั้งศีลธรรมด้วย)" เพราะสุขภาพคือกระจกสะท้อนภาพรวมทั้งหมดของสังคม สิ่งแวดล้อม ทัศนคติ และพฤติกรรมของปัจเจกที่มีต่อผลต่อสุขภาวะทั้งกายและจิตของเขา
ปัญหาที่กำลังเกิดกับกองทุนของสสส. คือการที่รัฐบาลคสช.อาจจะเข้าใจว่า สสส.ไปสนับสนุนNGOsและภาคประชาสังคมในการต่อต้านรัฐ จึงมีมาตราการแช่แข็งเงินทุนที่สสส.สนับสนุนภาคประชาสังคมจำนวน 1,953 ล้านบาท กว่า 515 โครงการ ซึ่งกระทบผู้ปฏิบัติงาน5,200คนและอาสาสมัครกว่า 10,000 คน โดยโครงการดีๆเหล่านั้นต้องหยุดชะงักเพราะขาดงบประมาณ ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลยังสั่งให้กรมสรรพากรไล่เก็บภาษีย้อนหลังกับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรเหล่านั้นอีกด้วย ตรงนี้ทำให้คิดถึงอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรที่มีนโยบายกำจัดภาคประชาสังคมโดยปรามาสกลุ่มNGOsว่าเป็น"นายหน้าค้าความจน"
ส่วนคสช.จะเดินตามรอยอดีตพ.ต.ท ทักษิณในกรณีนี้หรือไม่? ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป