แรงงานนอกระบบจี้ประธานบอร์ดสสส.หยุดระงับโครงการ-ไล่บี้ภาษีย้อนหลัง
เครือข่ายสลัม แรงงานนอกระบบ ชุมชน กทม. ร้องรัฐยกเลิกคำสั่งระงับโครงการที่ภาคประชาชนรับทุนจากสสส. เหตุกระทบคนทำงานสังคมนับหมื่น ประชาชนเสียโอกาส พร้อมขอให้ทบทวนการเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปี
13 มกราคม 2559 เวลา 10.00 น.ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ประกอบด้วย วินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง แท็กซี่ แม่ค้า กรรมกร เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กรุงเทพมหานคร รวมตัวกันยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(บอร์ดสสส.)เพื่อเรียกร้องให้เร่งปลดล๊อคโครงการที่ภาคประชาชนรับทุนจาก สสส.หลังจากติดขัดมานานหลายเดือน จนไม่สามารถทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ได้ พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางแก้ไขกรณีสรรพากรไล่เก็บภาษีโครงการย้อนหลัง5 ปีด้วย โดยมีนายพันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานงานมวลชนและองค์กรประชาชน(สปอ.)เป็นตัวแทนรับหนังสือ
นายชาญ รูปสม ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กทม. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการสั่งระงับการจ่ายเงินดำเนินงานและไม่อนุมัติโครงการที่มีงบประมาณเกิน 5 ล้านบาท รวมเกือบ 2,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อคนทำงานกว่า 10,000 คน ซึ่งส่งผลเสียทำให้ประชาชนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ของกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ นอกจากนี้กรมสรรพกรยังได้เก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปีจากมูลนิธิองค์กรต่างๆที่รับทุนจากสสส. รวมค่าปรับแล้วไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท จากปัญหาดังกล่าวเครือข่ายฯจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
1. ขอให้เร่งพิจารณายกเลิก การชะลอโครงการของภาคประชาชนที่ขอรับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อให้มีงบประมาณให้องค์กร กลุ่มและบุคลต่างๆได้ทำกิจกรรม รณรงค์ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพวะและความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยเร็ว
2. ขอให้พิจารณาแนวทางช่วยเหลือกรณีบุคคล กลุ่ม องค์กร รวมทั้งข้าราชการจำนวนหนึ่งที่ ทำโครงการโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. แต่กำลังถูกสรรพากรไล่เก็บภาษีย้อนหลังถึง 5 ปี โดยการตีความใหม่ว่า สัญญาโครงการเป็นลักษณะ "การจ้างทำของ" ซึ่งเป็นการตีความที่มองว่า ผู้ทำโครงการมีรายได้ ตีความจากเงินโครงการที่รับทั้งหมด ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วในแต่ละโครงการ มีเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโครงการเท่านั้นเป็นรายได้ และส่วนนี้เองได้มีการหักภาษีนำส่งสรรพากรทุกเดือนอยู่แล้ว
ส่วนการจัดกิจกรรม รณรงค์ หรือจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามที่ระบุในโครงการก็มีการเคลียร์ใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐานทั้งหมด ซึ่งในส่วนนี้มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว และหากเงินโครงการคงเหลือก็ต้องส่งคืน สสส. ทั้งหมด เงินส่วนนี้จึงไม่ใช่รายได้ของผู้รับทุน แต่อย่างใด
3. ภาคประชาชนจะติดตามการสรรหากรรมการกองทุนฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้กองทุนนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงจากกลุ่มธุรกิจหรือฝ่ายการเมือง และไม่เป็นเครื่องมือของผู้ที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ หรือมุ่งหวังทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาชน ทั้งนี้หากเกิดความไม่ชอบมาพากลใดๆเครือข่ายจะร่วมกับเครือข่ายอื่นๆเคลื่อนไหวต่อสู้ให้ถึงที่สุด
“หากจะตรวจสอบการทำงานสสส.ก็ไม่ควรเหมารวมว่า ทุกโครงการไม่โปร่งใส เพราะถือเป็นการกลั่นแกล้งคนทำงาน กระทบต่อการทำงานของภาคประชาชน นอกจากนี้การเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง หลายรายได้เตรียมเข้ายื่นขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองเพื่อให้คุ้มครองชั่วคราว เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ภาคประชาชนจะเข้าปรึกษากับสภาทนายความให้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องกฎหมาย และการประชุมบอร์ดสสส.ครั้งต่อไป ภาคประชาชนจะขอเข้าไปทวงถามความคืบหน้าต่อเรื่องนี้ด้วย”
ทั้งนี้นายพันศักดิ์ กล่าวถึงข้อร้องเรียนต่างๆจะมีการนำไปเสนอต่อพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี อย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กลุ่มเครือข่ายฯ ยังมีกิจกรรมชูป้ายพร้อมข้อความต่างๆ เช่น ดองโครงการสสส.ชาวบ้านเสียโอกาส เศร้าใจนายทุนได้ลดภาษี โครงการชาวบ้านถูกรีดภาษี และแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการแกว่งแขนแบบมีแรงและค่อยๆลดระดับความแรงของการแกว่ง ก่อนจะทิ้งตัวล้มลง เพื่ออธิบายว่า การทำงานของสสส.นั้นไม่เข้มแข็งเช่นเคย และทำให้มวลชนท้อแท้หมดพลังลงไป