จัดระบบไร่นาใหม่! นักวิชาการแนะปลูกพืชหลากหลาย เชื่อแก้หนี้นอกระบบได้
ปี 58 เกษตรกรกู้นอกระบบ 1.4 แสนคน มูลหนี้ 2.1 หมื่นล้าน ที่ดินหลุดมือ รองปลัดยธ. เผยรัฐต้องดูแล ทวงคืนจากนายทุนครอบครองผิด กม. ด้านนักวิชาการหนุนกระตุ้นคนรุ่นใหม่มีกำลังใจ รวมกลุ่มพัฒนาผลผลิต สร้างระบบจัดการไร่นา
วันที่ 12 มกราคม 2559 ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กลุ่มกสิกรรมธรรมชาติ โพธาราม จ.ราชบุรี, สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.), และมูลนิธิชีวิตไทย (โลโคลแอค) จัดสัมมนา ‘วิกฤติหนี้นอกระบบเกษตรกร กับทางออกที่ยั่งยืน’ ณ ห้อง 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงปัญหาของเกษตรกรไทย คือ ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่ได้รับเงินเยียวยาอย่างเป็นธรรม เจ้าหน้าที่รัฐไม่บริการอย่างเต็มที่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายผลักดันไทยเป็นครัวของโลก แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ มองว่ารัฐต้องดูแลที่ดินทำกินของเกษตรกรอย่างจริงจัง จะต้องทวงคืนที่ดินจากนายทุนที่ครอบครองผิดกฎหมายในพื้นที่ป่ากลับมาเป็นของรัฐ ซึ่งหลายกระทรวงพยายามดำเนินการอยู่ เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ให้แก่เกษตรกร เพราะในอดีตเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเอกสารสิทธิที่ดินบนยอดเขา
ส่วนหนี้สินที่เกิดขึ้นของเกษตรกรจำนวนมาก รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำนาทำสวนขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ บางปีน้ำท่วม บางปีน้ำแล้ง เงินช่วยเหลือเยียวยาไม่ถึงมือชาวบ้าน วันไหนได้พืชผลมาก็ต้องนำไปชดใช้หนี้นายทุน เมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศไทยจะเป็นครัวโลกได้อย่างไร ยกเว้นจะเป็นได้ต่อเมื่อที่ดินตกเป็นของบริษัทเอกชนดูแลครบวงจรเท่านั้น แล้วเกษตรกรต้องเป็นลูกจ้าง สำหรับใครอยู่ในวงจรนี้ไม่ได้ ผู้หญิงในหมู่บ้านขายตัว ผู้ชายขายแรงงาน ฉะนั้นหากไม่แก้ไขปัญหาเราต้องตกในภาวะจำยอมต่อนายทุนต่อไป
ด้านนางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรจำนวนมากอยู่ในสภาพผู้เช่าที่ดิน เพราะปัจจุบันต้องกู้ยืมเงินจากกลุ่มนายทุนนอกระบบ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เนื่องจากมีต้นทุนในการทำนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ย สารเคมี หากแต่ละปีขาดทุน 2 รอบ ก็ต้องกู้ยืมเพิ่มขึ้น เกิดเป็นปัญหาร้ายแรง หลายคนโดนยึดที่ดินทำกิน
ขณะที่พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า งานวิจัยของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยสำรวจคนไทยเป็นหนี้ ประมาณ 4,800 คน ทั่วประเทศ พบร้อยละ 51.5 เป็นหนี้นอกระบบอย่างเดียว มูลหนี้ 55,753 บาท ร้อยละ 48.4 เป็นหนี้ในระบบและนอกระบบ มูลหนี้ 357,669 บาท บ่งชี้ว่า หนี้ในระบบและนอกระบบมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเกษตรกรจะเป็นหนี้ในระบบก่อน แล้วค่อยเป็นหนี้นอกระบบ
ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาต้องเลิกมองเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา แต่ให้มองการจัดการระบบไร่นาแทน หมายถึง ต้องส่งเสริมให้ปลูกพืชหลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยง และเกษตรกรไม่จำเป็นต้องมีที่ดินทำกินขนาดใหญ่ ควรอยู่ในขนาดเหมาะสมกับแรงงานที่มี จะได้ไม่ต้องเช่าที่ดินทำกินเพิ่ม แต่ภาควิชาการควรช่วยเหลือ โดยการนำงานวิจัยเชื่อมโยงกับการปฏิบัติจริงด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรรุ่นใหม่มีศักยภาพสูงมาก ในการปรับปรุงไร่นาของตนเอง ดังนั้น ทำอย่างไรจะกระตุ้นให้เกษตรกรกลุ่มนี้มีกำลังใจและเกิดการรวมกลุ่ม เพื่อทำให้ที่ดินของพ่อแม่เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม ควรให้ความสำคัญกับการจัดการตลาด โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ และนำระบบสหกรณ์เข้ามาใช้ ที่สำคัญ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการผูกขาดในระบบ ดังเช่น กรณีพันธุ์ข้าว
“การประกันภัยพืชผลเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ที่ผ่านมายังมีข้อกำจัดอยู่มาก คิดว่าเป็นทางออกที่เหมาะสม แต่จะออกแบบอย่างไรให้ประกันภัยความเสี่ยงได้จริง อาจต้องมองจากหลายพืช” นักวิชาการ มธ. กล่าว
รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวอีกว่า สำหรับสถาบันการเงินชุมชนมองเป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ แต่เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรได้ เท่าที่เคยศึกษาวิจัยพบว่า บทบาทของสถาบันการเงินประเภทนี้ ทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสัจจะ กองทุนหมู่บ้าน แต่บางสถานการณ์ดอกเบี้ยอาจขยับขึ้นในระดับร้อยละ 24- 36 ต่อปี ซึ่งค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบนำไปลงทุนได้กลับคืนมา สะท้อนความต้องการเงิน ความเสี่ยงที่มีอยู่จริงในระบบ
“สถาบันการเงินชุมชนมีหลากหลาย ไม่ใช่เพียงกลุ่มสัจจะ กองทุนหมู่บ้าน เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มมุสลิมออมทรัพย์ เล่นแชร์ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นทางออกในการหมุนเงินของเกษตรกรทั้งสิ้น” นักวิชาการ มธ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2556 ได้สำรวจลักษณะการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร พบว่า ในพื้นที่ถือครองทำการเกษตร 149.24 ล้านไร่ มีพื้นที่เพียง 42 ล้านไร้ (ร้อยละ 28) ที่เป็นพื้นที่ของเกษตรกร อีก 107 ล้านไร่ (ร้อยละ 72) เป็นพื้นที่เกษตรกรไม่มีความมั่นคงในการทำกิน แบ่งเป็นพื้นที่เช่า 29 ล้านไร่ พื้นที่ติดจำนองและขายฝาก 30 ล้านไร่ และพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 48 ล้านไร่
ขณะที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานตัวเลขหนี้สินของเกษตรกร ปี 2558 พบว่าเกษตรกรมีหนี้สิน 1,637,562 ราย มูลหนี้ประมาณ 388,361 ล้านบาท เป็นหนี้นอกระบบ 149,437 ราย มูลหนี้ประมาณ 21,590 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วน อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดียึดที่ดิน 92,945 ราย มูลหนี้ประมาณ 13,428 ล้านบาท และกลุ่มหนี้ไม่เร่งด่วน 56,492 ราย มูลหนี้ประมาณ 8,162 ล้านบาท .
ภาพประกอบ:www.aecnews.co.th