ได้ระบายความก้าวร้าว! ล้วงทัศนะ‘เด็กติดเกม’ก่อน ป.ป.ช.ชง ‘บิ๊กตู่’แก้
“…อยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่าว่าจะมีพฤติกรรมยังไง เกมก็เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบความบันเทิง ที่มีทั้งเกมที่รุนแรงและไม่รุนแรง ไม่ต่างจากภาพยนตร์หรือละครที่มีเนื้อหา แตกต่างกันไป ตัวผมเองหรือคนที่ผมรู้จักก็เคยเล่นเกมที่มีเนื้อหาที่มีความรุนแรงมาก่อน แต่ก็ไม่ได้ส่งผลทำให้มีพฤติกรรมที่รุนแรงตามไปด้วย จึงน่าจะอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่า…”
หลายคนอาจจะทราบกันไปแล้วว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะถึงคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้แก้ไขปัญหา ‘ร้านเกม-ร้านอินเทอร์เน็ต’ ที่พบว่า เป็นแหล่งมั่วสุมของเด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันมีข้อครหาว่า เจ้าหน้าที่ในพื้นที่บางรายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยอมตรวจสอบปัญหาร้านเกมปล่อยให้เด็กเล่นเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย
ไม่ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นเช่นไร เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยจริงหรือไม่ ?
แต่ข้อเท็จจริงที่สำคัญจากการลงพื้นที่สุ่มตรวจร้านเกมของ ป.ป.ช. โดยสัมภาษณ์ ‘เด็ก’ และ ‘เจ้าของร้าน’ ที่ให้ข้อมูลตรงกันว่า เกมยอดฮิตส่วนใหญ่เน้น ‘ความรุนแรง’ !
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลดังกล่าว มาเปิดเผยดังนี้
ข้อมูลจากร้านเกมและอินเทอร์เน็ตบริเวณตลาดเทเวศร์
ร้านเกมและอินเทอร์เน็ตย่านตลาดเทเวศร์ เจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปศึกษาข้อมูลจำนวน 2 ร้าน คือเทเวศร์ 1 (นามสมมติ) และเทเวศร์ 2 (นามสมมติ) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557 ซึ่งสามารถสรุปข้อมูลได้ดังนี้
ร้านเทเวศร์ 1
ตั้งอยู่ในภายซอยย่านเทเวศร์เป็นร้านตึกแถวเปิดบริการเกมและอินเทอร์เน็ตบริเวณชั้น 1 ตัวร้านเป็นกระจกใส สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ ภายในร้านมีเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 20 เครื่อง มีป้ายติดกำหนดเวลาการใช้บริการของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ภายในร้าน และมีใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์และวีดีทัศน์ติดอยู่ภายในร้าน สามารถมองเห็นได้สะดวก ผู้ใช้บริการซึ่งกำลังเล่นเกมอยู่ในร้านเทเวศร์ 1 ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 5 – 15 ปี ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนจึงมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก และผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ คือผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงแถว ๆ นั้น ซึ่งหากเป็นช่วงที่เปิดภาคเรียนจะมีผู้มาใช้บริการในช่วงเวลา 13.00 น. ถึงเวลา 22.00 น. และส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนเพศชายเกือบทั้งหมด
เจ้าหน้าที่ได้สอบถามข้อมูลจากร้านเทเวศร์ 1 ตามประเด็นดังต่อไปนี้
(1) เกมที่ได้รับความนิยม : เกมประเภทต่อสู้ เช่น เกมฮอน (HoN) เกมเกี่ยวกับกีฬา เช่น เกมฟีฟ่า เกมต่อจิ๊กซอว์
(2) ช่วงอายุของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ : เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปจนถึงวัยทำงาน แต่ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมเด็กจะเข้ามาเล่นเยอะ นอกจากนี้ในช่วงเย็น ๆ จะมีผู้ใหญ่เข้ามาเล่นบ้าง
(3) วิธีตรวจสอบอายุเด็กที่เข้ามาเล่นเกม : ปกติลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการส่วนมากเป็นลูกค้าประจำ ซึ่งจะรู้อายุกันอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเด็กที่ไม่ใช่ลูกค้าประจำมาใช้บริการ ทางร้านก็จะขอตรวจบัตรประชาชน
(4) การควบคุมเด็กเพื่อให้เล่นเกมภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด : เป็นนโยบายของทางร้าน หากเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นในช่วงเวลาที่กฎหมายห้าม ทางร้านก็จะบอกให้หยุดเล่นทันที ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
(5) กรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาใช้บริการ : ถึงแม้จะมากับผู้ปกครอง ถ้าอายุต่ำกว่า 18 ปี ทางร้านก็จะให้หยุดเล่น
(6) เวลาปิด – เปิด : แล้วแต่ช่วงเวลา ว่าช่วงไหนที่มีลูกค้าเยอะ ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมจะเปิดเวลาประมาณ 10.00 น. ถึงเวลา 22.00 น. แต่ถ้าช่วงเปิดเทอมจะเปิดเวลาประมาณ 13.00 น. ถึง 22.00 น.
(7) การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ : มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจสอบร้านหลังเวลา 22.00 น. ว่ามีเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาเล่นหรือไม่
(8) เกมที่มีเนื้อหารุนแรง : เห็นว่าอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่าว่าจะมีพฤติกรรมยังไง เกมก็เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบความบันเทิง ที่มีทั้งเกมที่รุนแรงและไม่รุนแรง ไม่ต่างจากภาพยนตร์หรือละครที่มีเนื้อหา แตกต่างกันไป ตัวผมเองหรือคนที่ผมรู้จักก็เคยเล่นเกมที่มีเนื้อหาที่มีความรุนแรงมาก่อน แต่ก็ไม่ได้ส่งผลทำให้มีพฤติกรรมที่รุนแรงตามไปด้วย จึงน่าจะอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่า
ร้านเทเวศร์ 2
ตั้งอยู่ริมถนนย่านเทเวศร์เป็นร้านตึกแถวเปิดบริการเกมและอินเทอร์เน็ตบริเวณชั้น 1 ตัวร้านเป็นกระจกใส สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ ภายในร้านมีเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 17 เครื่อง มีป้ายติดกำหนดเวลาการใช้บริการของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี บริเวณหน้าร้าน และมีใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์และวีดีทัศน์ติดอยู่ภายในร้าน สามารถมองเห็นได้สะดวก กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มตัวอย่างซึ่งกำลังเล่นเกมอยู่ในร้านเทเวศร์ 2 ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนซึ่งมีอายุตั้งแต่ 12 ถึง 18 ปี และช่วงนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนจึงมีผู้ใช้บริการมากกว่าช่วงปิดภาคเรียนและผู้ใช้บริการส่วนใหญ่คือผู้ที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงแถว ๆ นั้น และผู้ที่สัญจรไปมา โดยจะมาใช้บริการตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึงเวลา 02.00 น. ของอีกวัน ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนเพศชายเกือบทั้งหมด
เจ้าหน้าที่ได้สอบถามข้อมูลจากร้านเทเวศร์ 2 ตามประเด็นดังต่อไปนี้
(1) เกมที่ได้รับความนิยม : เกมประเภทต่อสู้ เช่น เกมฮอน (HoN) ที่เป็นการวางแผนต่อสู้เป็นทีมแล้วฆ่ากัน หรือเกมเกี่ยวกับกีฬา เช่น เกมฟีฟ่า เกมสร้างบ้าน
(2) ช่วงอายุของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ : ส่วนมากเป็นเด็กวัย 13 ถึง 14 ปี อยู่ที่ช่วงเวลามากกว่า ตอนเย็นวัยผู้ใหญ่จะมาเล่นมากขึ้น
(3) กรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาใช้บริการ : หากเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เล่นในช่วงเวลาที่กฎหมายห้าม ทางร้านก็จะบอกให้หยุดเล่นทันที
(4) เวลาปิด – เปิด : เปิดเวลา 09.00 น. ถึงเวลาประมาณ 02.00 น.
(5) การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ : มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจภายในร้านอยู่บ้างเป็นครั้งคราว
(6) แนวทางการให้บริการเกมที่มีเนื้อสร้างสรรค์ : ทางร้านจะดูว่าในแต่ละช่วง หากเกมไหนเป็นที่นิยม ทางร้านก็จะติดตั้งเกมนั้น
(7) ทัศนคติเกี่ยวกับเกมกับที่มีเนื้อหารุนแรง : เกมที่เด็กติดมักจะเป็นเกมที่มีความสนุก ไม่ว่าจะเป็นเกมที่มีความรุนแรงอย่างเกม HoN DotA หรือเกม SF หรือเกมที่มีเนื้อหาไม่รุนแรงอย่างเกม Audition Mycalf หรือ Lego marvel หรือเกมสร้างบ้าน ถ้าเกมมีความสนุกก็จะทำให้เด็กติดเกมนั้น
ข้อมูลจากการสังเกตการณ์ร้านเกมและอินเทอร์เน็ตบริเวณเขตบางกะปิ
เจ้าหน้าที่เดินทางไปสำรวจ สังเกตการณ์ร้านเกมและอินเทอร์เน็ตย่านบางกะปิเมื่อวันที่ 3-4 เมษายน 2557 ซึ่งสามารถสรุปข้อมูลได้ดังนี้
1.1 ร้านเกมและอินเทอร์เน็ตภายในศูนย์การค้าย่านบางกะปิ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2557 เข้าไปสังเกตการณ์บริเวณร้านเกมภายในศูนย์การค้าฯ เวลาประมาณ 21.00 น. สังเกตเห็นมีเด็กชายอายุประมาณ 10 ปี กำลังเล่นเกมโดยมีผู้ปกครองคอยควบคุมดูแลอยู่ ซึ่งตามกฎหมายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีใช้บริการหลังเวลา 20.00 น.
1.2 ร้านเกมบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ไปสังเกตการณ์ในซอยรามคำแหง 29 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2557 โดยภายในซอยมีร้านเกมและอินเทอร์เน็ตประมาณ 4-5 ร้าน เจ้าหน้าที่ได้สังเกตการณ์ ร้านเกม 2 ร้าน คือ
1.2.1 ร้านรามคำแหง 1 (นามสมมติ) สังเกตการณ์โดยวิธีเข้าไปนั่งเล่นเกม ในเวลาประมาณ 4 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่กฎหมายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปใช้บริการและเลิกเล่นเวลาประมาณ 5 ทุ่ม ซึ่งตัวร้านดังกล่าวเป็นกระจกใสสามารถมองเห็นจากภายนอกร้านได้อย่างชัดเจน ภายในร้านมีระเบียบในการกำหนดอายุของผู้เล่นไว้แต่เป็นที่สังเกตเห็นได้ยากเพราะป้ายมีขนาดเล็ก หลังเวลา 22.00 น. พบเห็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาใช้บริการ มีอยู่ประมาณ 2 คน ซึ่งกำลังนั่งเล่นเกมฟีฟ่าออนไลน์
1.2.2 ร้านรามคำแหง 2 (นามสมมติ) โดยร้านดังกล่าวใช้วิธียืนสังเกตการณ์ดูหน้าร้านเนื่องจากตัวร้านเป็นกระจกใสสามารถมองเห็นจากข้างนอกร้านได้อย่างชัดเจน พบเห็นเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งกำลังเดินออก จากร้านในเวลาประมาณ 23.00 น.
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้สัมภาษณ์เด็กที่กำลังเล่นเกม ณ ร้านเทเวศร์ 1 และร้านเทเวศร์ 2 ซึ่งสามารถสรุป ประเด็นได้ดังต่อไปนี้
1) เวลาเล่นเกม : ในการเข้ามาใช้บริการร้านเกมนั้น ช่วงเปิดภาคเรียนจะเล่นเกมในช่วงเวลา 17.00 น. ถึง 20.00 น. โดยเฉลี่ยจะเล่นประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนช่วงปิดภาคเรียนจะใช้เวลาในการเล่นเกมมากกว่า คือเล่นประมาณ 5 ถึง 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยเริ่มเล่นตั้งแต่ 12.00 น.ถึง 18.00 น.
2) ประเภทของเกมที่เล่น : โดยประเภทเกมที่เล่นส่วนใหญ่ จะเป็นเกมต่อสู้ เกมฟุตบอล หรือเกมที่สามารถเล่นร่วมกันได้ครั้งละหลายๆ คน เพื่อจะได้คอยช่วยเหลือกัน
3) สาเหตุที่ชอบเล่นเกม
(1) ได้ระบายแรงขับหรือความก้าวร้าว
(2) รู้สึกสนุกสนานและประสบความสำเร็จจากการเล่นซ้ำๆ
(3) มักพึงพอใจความสามารถที่เอาชนะในเกมได้และได้เล่นในระดับที่สูงขึ้น
ทั้งหมดคือถ้อยคำเจ้าของร้านเกม-เด็ก บางส่วนที่เข้าไปเล่มเกม ที่แสดงให้เห็นวิธีคิดไม่ต่างกันว่า การเล่นเกม ก็เหมือนการผ่อนคลายทางอารมณ์อย่างหนึ่ง แม้ว่าบางเกมที่เล่นจะมีเนื้อหารุนแรงก็ตาม
แต่นัยหนึ่งที่สำคัญคือ ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร เพราะที่ผ่านมาสังคมมักโทษ ‘เกม’ ว่าผิดมาโดยตลอด โดยไม่เคยค้นหาให้ถึงแก่นว่า สาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไรกันแน่ โครงสร้างทางสังคม-ครอบครัว หรือเป็นรสนิยม ‘เฉพาะตัว’ ที่เด็กถูกปลูกฝังจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่พบเจอจนเคยชินหรือไม่
คงต้องหวังพึ่ง ‘กึ๋น’ ของรัฐบาลชุดนี้ว่าจะสามารถแก้ไขได้สำเร็จหรือปล่อยให้ปัญหายังคาราคาซังกันต่อไป ?
อ่านประกอบ : จนท.น้อย-ตร.ไม่พกบัตรไปจับ! เบื้องหลัง ป.ป.ช.ชง‘ครม.บิ๊กตู่’แก้ปัญหาร้านเกม
หมายเหตุ : ภาพประกอบเกม dota จาก youtube, เกม sf จาก mthai